12 ต.ค. 2019 เวลา 01:00 • ปรัชญา
"ด้วยพลังแห่งจินตนาการ"
“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” คือประโยคยอดนิยมที่คนจำนวนมากอ้างถึงเมื่อต้องเอ่ยคำหรือต่อล้อต่อเถียงเรื่องผลงานทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์
แต่ในทางกลับกันประโยคดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาเอ่ยอ้างก็เพราะสังคมของมนุษย์มักปฏิเสธพลังของจินตนาการ ภายใต้อิทธิพล​ของวิทยาศาสตร์ หลักการ และเหตุผล จินตนาการกลายเป็นความเพ้อฝัน ความหลงตน กระทั่งความไร้สติ
Photo by Clever Visuals on Unsplash
เนิ่นนานมาแล้วครั้งที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติคือเวทีแห่งจินตนาการ
ธรรมชาติไม่หวงแหนพื้นที่หรือพยายามสกัดกั้นมนุษย์ไม่ให้คิด เพราะมนุษย์แม้มีร่างกายแต่ก็มีขีดจำกัดของพลัง หากแต่ความคิดสามารถพามนุษย์โลดแล่นไปสู่สรวงสวรรค์หรือตกหล่นสู่เหวนรกเบื้องล่าง
มนุษย์สร้างจินตนภาพถึงท้องฟ้าอันกว้างไกล ดวงดาวแทนเหล่าทวยเทพ เงยหน้ามองเมฆหรือเขาสูง และคิดถึงใครสักคนบนนั้น แล้วมนุษย์ก็ปั้นเทพเจ้าหรือจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขึ้น
ต่อมาความศักดิ์สิทธิ์ก็แฝงเร้นไปอยู่ทุกหนแห่ง
ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าทุกแห่งหนล้วนมีวิญญาณสถิตอยู่ ขณะที่ชาวไทยก็เชื่อในเรื่องเจ้าที่เจ้าทาง เทพยดาองค์น้อยองค์ใหญ่ที่เฝ้าเรือนบ้าง เฝ้าที่บ้าง ส่วนชาวอินเดียก็มองสรรพสัตว์หลายชนิดเป็นพาหนะของเทพเจ้ากระทั่งหนู
จินตนาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความไม่รู้ มนุษย์จึงเติมเต็มความไม่รู้นั้นด้วยความคิดอันเพริศแพร้วของตนเอง
Photo by Neil Rosenstech on Unsplash
หากสมัยปัจจุบันนี้มีหลายคนเกิดอาการหลอนคิดไปต่าง ๆ นานาได้แล้วไซร้ การคิดจินตนาการของมนุษย์ในครั้งอดีตย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผิดแผกไปก็อาจเป็นได้ว่าคนสมัยก่อนไม่ต้องใช้ยาพิเศษหรือป่วยไข้ก็สามารถมองโลกนี้กลับหัวกลับหางอย่างวิเศษได้แล้ว
การมาถึงของวิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นการสลายความไม่รู้จนถึงขนาดบางกลุ่มบางคนโอดครวญว่าวิทยาศาสตร์ทำลายจินตนาการของมนุษย์เสียแล้ว
แต่เราอาจต้องคิดกันต่อไปว่าวิทยาศาสตร์ทำลายจินตนาการของมนุษย์แน่หรือ
ความจริงวิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์มองโลกนี้บนพื้นฐานของความจริงมากขึ้น มนุษย์จำนวนมากเลิกเชื่อสิ่งที่งมงาย สิ่งที่หลอกตาแลหลอกลวง มนุษย์เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลยิ่งกว่ายุคสมัยใด แล้วพลันความเจริญของบ้านเมืองก็ก่อกำเนิดขึ้น
สิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง วิทยาการใหม่ ๆ ที่คนสมัยกรีก อียิปต์ หรือยุคก่อสร้างกำแพงเมืองจีนไม่อาจคิดฝันไปถึง ก็แล้วมนุษย์เราสร้างสิ่งประดิษฐ์อัศจรรย์เหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไรหากไม่ใช่เพราะพลังของจินตนาการที่ผสานเข้ากับวิทยาศาสตร์
Photo by Alain Pham on Unsplash
อย่างเรื่องของเครื่องบินหรือรถไฟนั่นอย่างไร มนุษย์ต้องอาศัยการวาดภาพในหัวว่าจะทำให้วัตถุเคลื่อนที่อย่างไร ต้องจินตนาการถึงพลังงาน หลับตาคิดถึงสูตรทางคณิตศาสตร์ เรื่องของแรง กลไก และกลศาสตร์สารพัด เสร็จแล้วมนุษย์ก็มะงุมมะงาหราไปบนจินตนาการ ค่อย ๆ ประกอบสร้างสิ่งต่าง ๆ เหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่ต่อของเล่น แล้วก็ใส่พลังงานที่มองไม่เห็นแต่ทรงอำนาจยิ่งลงไป
หากคนสมัยโบราณราวพันปีที่แล้วได้มาเห็นรถไฟของยุคนี้คงไม่แคล้วเชื่อว่ามนุษย์สมัยปัจจุบันมีเวทย์มนต์วิเศษที่ขับเคลื่อนวัตถุขนาดมหึมาได้
แล้วต่อเนื่องจากยานพาหนะบนพื้นไปสู่ท้องฟ้า ต่อเนื่องไปสุดขอบโลกและพ้นไปจากโลก สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความคิดนึกถึงวัตถุที่มนุษย์ไม่เคยประดิษฐ์ขึ้นมาก่อน แล้วก็ต้องจินตนาการถึงพลังงานอันสุดหยั่งของจักรวาล ดวงอาทิตย์ ดวงดาว เศษฝุ่นในพื้นที่กาลอวกาศอันว่างเปล่า การขับเคลื่อนของเทหวัตถุ แรงโน้มถ่วง และสิ่งลี้ลับที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า
ในที่สุดจินตนาการก็คือสิ่งที่เติมเต็มภาพในหัวสมองของมนุษย์ เราไม่ได้อาศัยเพียงสูตรทางคณิตศาสตร์หรือการทดลองทางฟิกส์เพียงอย่างเดียว แต่เรายังต้องใช้จินตภาพเต็มเต็มส่วนที่ขาดหายไป
Photo by Greg Rakozy on Unsplash
ถ้าเราลองติดตามโลกวิทยาศาสตร์ เราจะพบว่ามีนักวิทยาศาสตร์มากมายหลายคนเขียนหนังสือสำหรับผู้อ่านทั่วไปด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่สวยงามอย่างยิ่ง คนเหล่านี้มักเป็นนักฟิสิกส์ ถ้าคลาสสิคหน่อยก็ต้อง Carl Sagan หรือ Richard Feynman พอมายุคนี้ก็ให้นึกถึง Neil deGrasse Tyson หรือ Stephen Hawking ผู้ล่วงลับ ถ้าไปสายชีววิทยาก็เป็น Richard Dawkins แล้วยังมีอีกหลายท่านที่อ่านไม่หวาดไม่ไหว
วิทยาศาสตร์ทำให้เราเห็นจินตนาการที่แตกต่างออกไป เราจินตนาการถึงดวงดาว ถึงอะตอม จักรวาล หลุมดำ หรือเซลล์ในร่างกายของเรา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า และเครื่องมือที่เรามีในปัจจุบันก็ยังไม่อาจทำให้เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องจินตนาการ ไอน์สไตน์จะคิดถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปและสัมพัทธภาพพิเศษไม่ได้หากปราศจากจินตนาการที่ช่วยเติมเต็มสูตรคณิตศาสตร์ที่เขาเขียนลงบนกระดานดำหรือกระดาษฉีก และนักวิทยาศาสตร์ในรุ่นเดียวกับไอน์สไตน์ก็ต้องใช้วิธีเดียวกันแทบทั้งนั้นก่อนจะมาถึงยุคห้องทดลองอันทันสมัย
แล้วอนาคตกาลต่อไปล่ะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และโลกดิจิตอลจะให้อะไรแก่เรา มันจะทำลายจินตนาการของเราลงอย่างนั้นหรือ
หามิได้ มนุษย์ยังคงเฝ้าฝันและจินตนาการต่อไป เราฝันถึงอาณานิคมระหว่างดวงดาว การตั้งรกรากบนดาวอันไกลโพ้น การเดินทางข้ามจักรวาล ยารักษาโรคที่วิเศษที่สุด การถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตประดิษฐ์ และอีกสารพัด
จินตนาการของเรายังนำเราไปสู่ความกลัวด้วย กลัวการสูญเสียความเป็นมนุษย์ กลัวการถูกหุ่นยนต์ยึดครอง กลัวการสูญเสียคุณค่า กลัวการเผชิญหน้ากับอันตรายแบบใหม่ ๆ
กล่าวได้ว่ามนุษย์ไม่เคยว่างเว้นจากจินตนาการแม้ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ เราแค่เปลี่ยนทิศทางของจินตนาการเท่านั้นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ จินตนาการคือสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเราต่อไป คอยเติมเต็ม สร้างความหวัง สุมเชื้อไฟ หรืออาจสร้างความร้อนรุ่ม ครุ่นคิดกังวล หวาดระแวง หรือจิตตกไปตามกัน
จินตนาการคือพลังทั้งบวกและลบในจิตใจของมนุษย์ หากเมื่อใดที่เราหยุดจินตนาการ เมื่อนั้นเราอาจหยุดนิ่ง เราอาจมีชีวิตแต่ไร้ซึ่งพลังและการเดินหน้า อาจกลายเป็นเพียงชีวิตที่อับเฉา หยุดนิ่งไม่ไหวติงเหมือนพืชพันธุ์ที่ไร้สมอง
แล้วพวกเราปราถนาจะเป็นสิ่งใดกันหากมิใช่ชีวิตที่เต็มไปด้วยชีวาที่มุ่งสู่อนาคตอันไร้ขีดจำกัดและความเป็นไปได้ไม่รู้จบ
Photo by Greg Rakozy on Unsplash
โฆษณา