12 ต.ค. 2019 เวลา 09:05 • การศึกษา
🇹🇭คุณค่าของปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย 🇹🇭
ภาพ ปลากัดลายธงชาติ เจ้าไตรรงค์.
ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งยังมีหลักฐานการปรากฎตัวของปลากัดในเอกสารสำคัญ เช่นกฎหมายตราสามดวง สมัยร.1 และในบทละครเรื่องอิเหนา สมัยรัชกาลที่ 2 อีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นปลาคู่บ้านคู่เมืองกับประเทศไทยมานั่นเอง
ภาพ ปลากัดที่พบได้ตามภาคต่างๆของประเทศไทย.
แต่เดิมปลากัดของไทยแท้ๆสามารถหาพบได้ทั่วไปตามหนองน้ำของทุกภาคในประเทศ สามารถแบ่งได้ชัดเจนมีเพียง 5 ชนิดคือ ปลากัดป่ามหาชัย ปลากัดป่าภาคกลางแก้งแดง ปลากัดป่าตะวันออก ปลากัดป่าภาคใต้และ ปลากัดป่าภาคอีสาน โดยปลากัดป่าแต่ละภาคนั้นจะมีลักษณะเด่นแตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันได้มีนักพัฒนาปลากัดหลายท่านได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปลากัดแต่ละสายพันธุ์ให้หลากหลายและสวยงามมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 10 ชนิด เช่น ปลากัดสีทอง ปลากัดลายธงชาติ, ปลากัดโพนี, ปลากัดกาแล็กซี่สตาร์, ปลากัดมังกร, ปลากัดอสูร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะพัฒนาให้มากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพ ปลากัดสีทอง และปลากัดมังกร
ภาพ ปลากัดพันธุ์โค่ย และปลากัดอสูร
ภาพ ปลากัดคราวเทลลายธงชาติ
สำหรับในปัจจุบันหลายคนที่ชอบและหลงใหลในสัตว์น้ำ มักจะมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลากัดสวยงามเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำตัวแรก ซึ่งแน่นอนว่า การเลี้ยงปลากัดในประเทศไทยนั้นมีความนิยมในการเลี้ยงมากพอๆกับการเลี้ยงปลาทอง เนื่องด้วยการเลี้ยงปลากัดนั้นเลี้ยงค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือพื้นที่ในการเลี้ยงมากนัก เราจึงเห็นภาพจนชินตา ว่าปลากัดเหล่านี้มักจะอาศัยอยู่ในขวดโหลเล็กๆ บางท่านที่เห็นอาจรู้สึกไม่สบายใจ เกรงว่าปลากัดนั้นจะรู้สึกคับแคบและเหมือนการทรมานปลา
แต่แท้จริงนั้น ปลากัดสามารถอยู่ในที่แคบหรือบริเวณน้ำที่ไม่ค่อยสะอาดนักได้ เนื่องจากมีอวัยวะหายใจพิเศษ อยู่ที่โพรงเหงือกทั้งสองข้าง ทำให้สามารถใช้ออกซิเจนได้โดยตรงจากอากาศ จึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างทนทาน ในที่ที่มีออกซิเจนต่ำ โดยการขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ ในฤดูแล้ง โดยธรรมชาติของปลากัด ถ้าน้ำในแหล่งน้ำแห้งลง ปลากัดอาจจะเข้าไปอาศัยอยู่ในรูปูนา ตามขอบหนอง ชายบึง ริมคู พอต้นฤดูฝน ปลาจะกลับออกมาแพร่พันธุ์ใหม่ และกระจายออกไปหากินตามที่มีหญ้ารกๆ ในเขตน้ำตื้น ปลากัดเป็นปลาที่ชอบน้ำตื้น จึงไม่พบตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึงที่มีน้ำลึก ดังนั้นการเลี้ยงปลากัดในโหลหรือที่แคบอย่างขวดพลาสติกจึงไม่เป็นการทรมานปลากัดแต่อย่างใด ขอเพียงแค่อาจจะต้องดูแลเรื่องความสะอาดสักเล็กน้อย หากอยู่ในภาชนะที่แคบ ก็ควรเปลี่ยนน้ำทุกๆ 3-5 วัน เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีพวกจุลินทรีย์ พืชน้ำ ควรพัดพาเชื้อโรคให้ไม่สามารถสะสมได้ แต่หากเป็นอ่างเลี้ยงพลาสติกนั้นแหล่งน้ำจะนิ่ง และอาจจะมีเชื้อโรคสะสมอยู่กับตะกอนหรือเศษอาหารที่ปลากินไม่หมดได้
ภาพ การเลี้ยงปลากัดในขวดโหลต่างๆ
ปัจจุบันปลากัดได้ถูกประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทยเรียบร้อย โดยการจับมือร่วมกันหลายฝ่าย อาทิ ไอคอนสยาม ร่วมกับ กรมประมง กระทวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), Optimum Betta, ไปรษณีย์ไทย, ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และฟาร์มเพาะและพัฒนาพันธุ์ปลากัดสวยงาม Glodenbetta เพื่อเชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่าของปลากัดไทยในฐานะสัตว์น้ำประจำชาติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
โดยคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ 3 มิติ
1.ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เนื่องจากคนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ
2.ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปลากัดไทย ที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ มีชื่อว่า Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และได้รับการยอมรับในระดับสากลมากกว่า 100 ประเทศ
3.ด้านประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนําไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”
ทำให้ในปัจจุบันมีอัตราการผลิตและการซื้อขายส่งออกของปลากัดเพิ่มมากขึ้นทั้งในและนอกประเทศ โดยประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย โคลัมเบีย จีน และเวียดนาม เป็นต้น
ทั้งนี้สำหรับการจัดส่งในประเทศก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ทางไปรษณีย์ไทยได้มีการอนุญาตให้ส่งสัตว์น้ำสวยงามได้แล้ว โดยนำร่อง รับส่งปลากัดให้กับสมาชิกกรมประมง กระทรวงเกษตร เปิดให้บริการแล้วที่ทำการไปรษณีย์ 202 แห่ง
ภาพ จุดบริการ และสติกเกอร์ปลากัดสำหรับติดกล่อง
หากใครสนใจจะประกอบธุรกิจปลากัดออนไลน์ สามารถติดต่อสอบถามและลงทะเบียนขึ้นเป็นเกษตกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ที่กรมประมง ของจังหวัดได้เลยครับ
ภาพ ขั้นตอนการส่งปลากัดทางไปรษณีย์
หากชอบเกร็ดความรู้ ต้องการสอบถามเรื่องปลากัดเพิ่มเติม หรือต้องการให้กำลังใจสามารถกดคอมเม้นได้เลยนะครับ ขอบคุณครับ👇❤
โฆษณา