19 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • การศึกษา
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
บทความนี้อาจจะมาแปลกสักหน่อย เพราะจะกล่าวถึงเรื่องอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับ NBA เลยแม้แต่น้อย
แต่เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และคิดว่ามีความสำคัญเช่นกัน จึงอยากจะนำมาบอกกล่าวและร่วมรณรงค์อีกเสียงครับ
บทความนี้จะมาพูดถึงเรื่อง การสะกดคำให้ถูกต้อง นั่นเอง
Cr. สยามรัฐวาไรตี้
ในปัจจุบัน เราจะเห็นคนรุ่นใหม่หลายๆ คน ไม่เน้นการสะกดคำมากนัก หรือการตั้งใจปรับการสะกดคำบางอย่าง ด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป ในการพิมพ์สิ่งที่เรียกว่า "ภาษาพูด" ลงในช่องทาง Social Media ต่างๆ
โดยจะเน้นแค่ให้เป็นที่เข้าใจก็เพียงพอ ไม่ต้องสะกดถูกแต่อย่างใด เอาความสะดวกรวดเร็วเป็นหลักไว้ก่อน
ผลที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเกิดความเคยชินจากการใช้ภาษาพูดในชีวิตประจำวันมากเกินไป ทำให้บางส่วนเกิดความเข้าใจผิด จนลามไปถึงการใช้ "ภาษาเขียน" ในการทำบทความด้วย
อย่างเช่น การทำรายงาน การทำข้อสอบ การทำบทความตามช่องทางต่างๆ และบางครั้งยังลามไปถึงการทำสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วย
การใช้ภาษาพูดจนเกิดความเคยชิน แทนที่จะทำให้เกิดการใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น แต่เกิดการหลงลืมกันเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะทำการเผลอใส่ภาษาพูดลงไป โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสะกดผิด
และกรณีนี้จะรวมถึงการสะกดผิดที่ไม่รู้ว่าคำดังกล่าวนั้นควรจะต้องสะกดอย่างไรถึงจะถูกด้วย
สำหรับผู้เขียนแล้ว การสะกดคำให้ถูกในการทำบทความต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นภาษาหลักของเราเอง ความถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ
และยิ่งถ้าเป็นภาษาต่างประเทศ การสะกดผิดอาจทำให้ความหมายของคำนั้นผิดไปจากสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารกับผู้อ่านเลยก็เป็นได้ (แต่ในบทความนี้จะเน้นไปที่ภาษาไทยเป็นหลัก)
ส่วนตัวแล้ว บางครั้งจะเจอกับคำพูดที่ว่า "ภาษาที่ดีจะต้องไม่อยู่กับที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา" นั้น ในบางกรณีอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะการสะกดคำผิด จนอาจเกิดเป็น "ภาษาวิบัติ" ในที่สุด
ผู้เขียนจึงขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการรณรงค์ให้ใช้ภาษาเขียนให้สะกดคำได้ถูกต้องครับ
ผู้เขียนขอแบ่งการสะกดคำผิดออกเป็น 3 หมวด
1. การสะกดคำแบบการใช้ภาษาพูดแทนการใช้ภาษาเขียน (คำที่สะกดถูก >>> คำที่มักจะสะกดผิด)
ตัวอย่างเช่น
-ฟาร์ม >>> ฟาม
-ไง >>> งัย
-ใจ >>> จัย
-เพชร >>> เพรช
-เปล่า >>> ป่าว/ปล่าว
-น่า >>> หน้า (ใช้สลับบริบทกันบ่อยมาก เช่น น่าจะ >>> หน้าจะ หรือ หน้าตา >>> น่าตา)
-เศร้า >>> เส้า (ซึ่งมักจะสลับกับ รักสามเส้า >>> รักสามเศร้า)
-รสชาติ >>> รสชาด
-โอกาส >>> โอกาด, โอกาศ
-นะคะ >>> นะค่ะ (พบเจอบ่อยมาก ซึ่งมักจะสลับกันกับ สวัสดีค่ะ >>> สวัสดีคะ)
2. คำที่ชอบเติม ร เรือ เข้าไปในการสะกดคำ (คำที่สะกดถูก >>> คำที่มักจะสะกดผิด)
ตัวอย่างเช่น
-กะเพรา >>> กระเพรา (บางคนเรียกเป็น กระเพราะ)
-แกงกะหรี่ >>> แกงกระหรี่
-กะเทย >>> กระเทย
-กะพริบ >>> กระพริบ
-กะล่อน >>> กระล่อน
-กะโหลก >>> กระโหลก
3. คำที่สะกดผิด เพราะไม่ทราบว่าการสะกดที่ถูกคืออะไร (คำที่สะกดถูก >>> คำที่มักจะสะกดผิด)
ตัวอย่างเช่น
-วิจารณ์ >>> วิจารย์
-สัญชาตญาณ >>> สัญชาติญาน (มักจะจำสลับกับ สัญชาติ >>> สัญชาต
-อนุญาต >>> อนุญาติ
-ผัดไทย >>> ผัดไท
-ทะนุถนอม >>> ทะนุทะนอม
-สัมมนา >>> สัมนา
-ศีรษะ >>> ศรีษะ
จริงๆ แล้ว นอกจากตัวอย่าง ยังมีคำอีกมากมายที่มักจะสะกดผิดกันจนเคยชิน เพียงแต่จะขอยกแค่คำง่ายๆ ที่มีโอกาสพบเจอได้บ่อยในโลก Social Media เป็นหลัก
ส่วนตัวผู้เขียนจะไม่จริงจังมากนัก ถ้าเป็นการใช้ภาษาพูดในสื่อหรือช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เช่นการ Comment ของผู้อื่น (ที่ไม่ใช่เจ้าของบทความ) หรือการ Chat ผ่าน Social Media หรือ Application ต่างๆ เป็นต้น
แต่ถ้าจะทำเป็นบทความที่ต้องใช้ภาษาเขียนแล้ว ควรจะสะกดคำให้ถูกต้องนะครับ ไม่อย่างนั้นในบางกรณี อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของบทความลดลงก็เป็นได้
บทความนี้ ส่วนหนึ่งเป็นมุมมองของผู้เขียนนะครับ
สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เลยนะครับ
อย่างที่เคยได้บอกเอาไว้ตอนกระทู้แนะนำ Page ว่านานๆ ที อาจจะเขียนอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง NBA บ้างครับ
ถ้าชอบบทความ รบกวนฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
-Facebook Page คำไทย
-doisaengdham.org
-kapook.com
-siamrathvariety.com
โฆษณา