13 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
WeWork บทเรียนจาก Tech Startup ระดับ Unicorn สู่กิจการที่อาจล้มละลาย
Reuter.com
WeWork เป็น Start up ที่ให้บริการ Co-working space ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด บริษัทเคยมีมูลค่าทางการตลาดกว่า 4.7 หมื่นล้านดอลล่าร์ แต่ปัจจุบันมูลค่ากลับลดลงกว่า 80% และล่าสุดเพิ่งถอนตัวจากการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น (IPO) เกิดอะไรขึ้นกับ WeWork กันแน่
ปัญหาหลักอย่างแรก คือ โมเดลธุรกิจของ WeWork เป็นโมเดลที่จ่ายเงินค่าเช่าตึกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูกค้าก็ตาม WeWork จึงไม่มีอะไรการันตีเรื่องรายได้ในอนาคตเลย ขณะที่ตัวเองมีรายจ่ายที่ไม่สามารถการันตีกำไรได้ในระยะยาว เพราะ WeWork เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องไปเช่าตึกเพื่อทำออฟฟิส แล้วปล่อยเช่าอีกต่อ สัญญาเช่าตึกจึงเป็นสัญญาระยะยาว 10-15 ปีขึ้นไป ในขณะที่ลูกค้าของ WeWork ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพหรือฟรีแลนซ์ ซึ่งมักจะทำสัญญาเช่าแค่รายเดือน อย่างเก่งก็รายปี แต่ WeWork เอง กลับต้องจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้ว
Wework.com
ปัญหาอีกส่วนคือ เรื่องของธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่กระทบความน่าเชื่อถือของบริษัท โดยเฉพาะผู้ก่อตั้ง Adam Nuemann ที่ถูกเปิดโปง ความไม่โปรงใสออกมาหลายกรณี เช่น การแต่งตั้งคนในครอบครัวตัวเองให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในบริษัท การนำเงินบริษัทไปซื้อตึกในชื่อตัวเอง แล้วให้ WeWork มาเช่าอีกต่อหนึ่งเพื่อขยายสาขา ที่หนักที่สุดคือ Neumann จดทะเบียนชื่อบริษัท WE ผ่านบริษัทโฮลดิ้งของตัวเอง เท่ากับว่า WeWork ต้องจ่ายเงินให้ Neumann มหาศาลเพื่อนำเครื่องหมายการค้า WE มาใช้งาน โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกเปิดเผยต่อสายตาประชาชน เนื่องจากการพยายามเข้าตลาดหุ้น จึงต้องมีการแสดงเอกสารต่างๆรวมไปถึงงบการเงิน ซึ่ง WeWork นั้นขาดทุนมาตลอดหลายปีติดต่อกัน และดูท่าว่าจะไม่มีกำไรใดๆในเวลาอันใกล้
ปัจจุบัน Neumann ได้ถูกขับออกจากตำแหน่งแล้ว และดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลก็อาจยังไม่เพียงพอ ตราบใดที่โมเดลทางธุรกิจยังไม่สามารถทำกำไรได้ แต่คนที่ได้รับผลกระทบแน่ๆอีกคนคือ SoftBank ผู้เป็นแหล่งเงินทุนหลักของ WeWork มารอติดตามกันว่าทั้ง SoftBank และ WeWork จะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร เพราะตัว SoftBank เองก็ลงทุนกับโปรเจคนี้ไปมหาศาลเช่นกัน
ขอบคุณที่มา ny.com, cubed.com, forbes.com, allwork.space
โฆษณา