13 ต.ค. 2019 เวลา 08:01 • ไลฟ์สไตล์
มนุษย์ทำลายขีดจำกัด...ไม่ใช่ความบังเอิญ
การจัดแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกในปีค.ศ. 1908 ได้ผู้ชนะที่ชื่อว่า จอห์นนี่ เฮย์ส (Johny Hayes) นักวิ่งชาวอเมริกาเชื้อสายไอริชใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 55 นาที 18 วินาที หากคำนวณความเร็วของจอห์นนี่ เฮย์ส เฉลี่ยอยู่ที่เพซ (pace) 6.41 นาทีต่อไมล์ หรือ 4.09 นาทีต่อกิโลเมตร
จากวันแรกที่สถิติโลกมาราธอนเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 111 ปีแล้วที่นักวิ่งมาราธอนระดับอาชีพทำลายสถิติกันอย่างต่อเนื่อง
งาน INEOSChallenge159 เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยไนกี้ ถูกจัดขึ้นเพื่อท้าทายความสามารถของมนุษย์ให้ทำลายขีดจำกัดการวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ในระยะเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เพราะโลกนี้ยังไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
แต่ชายที่ชื่อว่า เอเลียด คิปโชเก้ (Eliud Kipchoge) กล้าตอบรับคำ ทั้งที่เขาเองก็ทำได้เพียงใกล้เคียง เมื่อครั้งเข้าร่วมโครงการ Breaking2 ทำเวลาเกินไป 26 วินาที เขาจึงต้องการแข่งขันกับตัวเองอีกครั้งโดยไม่มีใครอื่น
ก่อนวันงานเริ่มขึ้นเอเลียด คิปโชเก้ได้ให้สัมภาษณ์ประโยคหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า
"65 ปีก่อนไม่มีใครคิดหรอกว่าจะมีมนุษย์คนไหนวิ่ง 1 ไมล์ต่ำกว่า 4 นาที ... แต่เซอร์โรเจอร์ แบนิสเตอร์ ทำได้ ผู้คนมากมายก็พากันทำได้ ปีก่อนที่เบอร์ลิน ผมวิ่ง 2:01 ปีนี้เบเคเล่ก็ทำได้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ไร้ขีดจำกัด นี่คือ เหตุผลว่าทำไม ผมถึงยังวิ่ง"
ตามบทสัมภาษณ์เอเลียด คิปโชเก้ให้เกียรติกล่าวถึงนักวิ่งในอดีตชื่อเซอร์โรเจอร์ แบนิสเตอร์ หากย้อนกลับไปปี 1952 เบนนิสเตอร์ทำให้ผู้คนต้องตกตะลึง เพราะเขาเป็นคนแรกที่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วต่ำกว่า 4 นาทีต่อไมล์ หรือ 03.59 นาทีต่อกิโลเมตร
จากนั้นมาอีก 500 กว่าการแข่งขันก็มีคนสามารถทลายข้อจำกัดนี้ไปได้มากมาย ถือเป็นแรงผลักดันให้กับคนในยุคต่อมา จึงไม่แปลกเลยที่คิปโชเก้จะพูดถึง เพราะเขากำลังจะทำสิ่งเดียวกันนี้ที่คนทั้งโลกกำลังจับจ้อง
เมื่อการถ่ายทอดสดมาถึงในช่วงท้ายคิปโชเก้แสดงความมั่นใจออกมา พร้อมกับก้าวขาวิ่งอย่างเชื่อมั่นเข้าเส้นชัยไปด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที เขากลายเป็น The First Man Landing On The Moon ของโลกอีกคน เท้าของเขาแตะพื้นผิวดาวที่ยังไม่เคยมีใครไปถึง
เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีส่วนช่วยพัฒนาให้มนุษย์แข็งแกร่งขึ้น มีพละกำลังมากขึ้น แต่เบื้องหลังของความสำเร็จไม่ใช่ความบังเอิญหรอก เพราะคุณสมบัติบางประการที่ทั้งแบนิสเตอร์และคิปโชเก้มีเหมือนกันคือ วินัยในการฝึกซ้อม การวางแผน และความกล้าหาญ
กว่าที่แบนิสเตอร์จะสร้างประวัติศาสตร์เมื่อ 65 ปีก่อนนั้น เขาต้องทดสอบลองวัดความยาวของก้าวแต่ละก้าว ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนรู้ว่าจะต้องใช้จำนวนกี่ก้าวในหนึ่งไมล์ ไม่ต่างอะไรกับคิปโชเก้ที่เก็บตัวฝึกซ้อมตามตารางตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
เชื่อเหลือเกินว่าต่อให้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากเพียงใด
หากนักบินไม่มีการฝึกฝนมาอย่างดี ก็คงไม่มีทางไปได้ถึงจุดหมาย
อิงค์กาย (เขียน)
ภาพ : INEOS159
โฆษณา