13 ต.ค. 2019 เวลา 08:20 • ท่องเที่ยว
เรื่องเล่า ในมุมเล็ก.......จากเด็ก จนถึงปัจจุบัน
บ้านสารจิตร ชุมชนเล็ก ๆ ของอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ชุมชนที่จารึกเรื่องเล่า ตำนาน วัฒนวิถี และนวัตวิถีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ตำนานพระร่วง พระลือและน่งคำ ต้นกำเนิดว่าวพระร่วง-พระลือ การเทศน์มหาชาติ ข้าวเม่า-ข้าวตอกตัด-ข้าวตอกปั้นพระร่วง ประเพณีแห่ตาชูชก ของชาวโบราณหลวง-บ้านแก่ง
มรดกอันล้ำค่าเหล่านี้ ก่อเกิด และฝังรากลึกที่นี่ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
ประเพณีบุญวันออกพรรษา
ประเพณีที่สืบทอดกันมามากกว่า 100 ปี ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในทุก ๆ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษาของพุทธศาสนิกชน
ประเพณีบุญวันออกพรรษาของชาวสารจิตรถูกฝังลึกเข้าไปในรากเหง้าแห่งวัฒนวิถี ส่งต่อจากอตีดจนมาถึงปัจจุบัน
ในวันออกพรรษาชาวบ้านสารจิตรนิยมไปตักบาตรทำบุญที่วัด โดยมีเอกลักษณ์ของการตักบาตรด้วยข้าวต้มลูกโยน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ข้าวต้มตาชูชก" เพราะเชื่อว่าจะได้เอาร้อยแขวนตาชูชก ในการแห่ "ตาชูชก" เพื่อเชิญพระไตรปิฎกในการเทศน์มหาชาติ กัณฑ์ชูชก
เทศน์มหาชาติ "ศาสนวิถี" ที่สืบทอดกันมายาวนานด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าฟังเทศน์มหาชาติจบในวันเดียวจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในยุคพระศรีอริยเมตไตย
โดยเริ่มเทศน์กัณฑ์แรกด้วย "กัณฑ์ทศพร" เทศน์ตั้งแต่ก่อนไก่โห่ จนปิดด้วยกัณฑ์สุดท้าย "นครกัณฑ์" ในรุ่งเช้าของอีกวัน
ประเพณีการแห่ตาชูชก "วัฒนวิถี" ที่เชื่อมโยงระหว่างการละเล่น และพุทธวิถีเข้าไว้ด้วยกัน
"ชูชโก เฒ่าชราตาชูชก" ถูกแต่งตัวขึ้นตามความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า "ชูชก" มีความน่าเกลียด น่ากลัว อัปลักษณ์ ไปที่ไหนมีแต่ผู้คนขับไล่ ถูกแห่ไปพร้อมกับเครื่องกัณฑ์เทศน์ ประกอบกับเสียงปี่ เสียงกลองจากมังคละ จากบ้านที่เป็นจุดตั้งกัณฑ์เทศน์ไปวัด
มรดกอันทรงคุณค่าที่บอกเล่าถึงความเป็นมา และแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
.....จากอดีตสู่ปัจจุบัน นับแต่รอวันที่จะเลือนหาย หากไม่มีคนรุ่นหลังสานต่อ.....
____________________ // ____________________
"คนก่อนเก่าเขาสร้างมา หวังเพียงว่า คนรุ่นหลังจะสานต่อ"
____________________ // ____________________
โฆษณา