14 ต.ค. 2019 เวลา 06:03 • ข่าว
#เหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค
#การเรียกร้องประชาธิปไตย
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ วันมหาวิปโยคเป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เป็นเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร
นำไปสู่คำสั่งของรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่สะสมก่อนหน้านี้หลายประการทั้ง ข่าวการทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร
การถ่ายโอนอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจรต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศนานเกือบ 15 ปี
รวมถึงการรัฐประหารตัวเอง พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบเผด็จการทหารและต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น
การประท้วงเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อมีการตีพิมพ์ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ออกเผยแพร่ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน สู่การเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาในสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ
จนถูกทหารควบคุมตัว ภายหลังเป็นที่รู้จักกันในฐานะ "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" ทำให้เกิดความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนเป็นอย่างมาก
เกิดการประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลได้ทำการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
ในเวลาต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจรก็ได้ประกาศลาออกและได้เดินทางออกต่างประเทศรวมถึง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร กลุ่มบุคคลที่ประชาชนในสมัยนั้นเรียกว่า "3 ทรราช"
เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการลุกฮือของประชาชนครั้งแรกที่เรียกร้องประชาธิปไตยไทยสำเร็จ และยังถือเป็นการรวมตัวของประชาชนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
โฆษณา