15 ต.ค. 2019 เวลา 00:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มนุษย์สรรสร้าง - ผีเสื้อไหม
Artificial selection – Silk worm [Bombyx mori]
ผีเสื้อไหม [Bombyx mori] ที่ออกมาจากดักแด้
ผีเสื้อไหมเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งของมนุษย์ที่เลี้ยงเพื่อสร้างเส้นไหมเพื่อสร้างเป็นเสื้อผ้าเป็นหลัก
ผีเสื้อไหมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Bombyx mori] เป็นชนิดพันธุ์ที่ไม่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากผีเสื้อไหมจะมีชีวิตรอดได้ถ้าไม่มีการดูแลจากมนุษย์
ถึงแม้ผีเสื้อไหมจะไม่พบในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ก็ได้จำแนกผีเสื้อไหมออกเป็นชนิดพันธุ์ของตัวเองแยกออกจากชนิดพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดที่สุด คือ ผีเสื้อไหมป่า [Bombyx mandarina]
โดยผีเสื้อไหมที่เลี้ยงมีความแตกต่างจากผีเสื้อไหมป่าคือ ขนาดของดักแด้ที่เป็นแหล่งของเส้นไหมนั้นใหญ่กว่าดักแด้ของผีเสื้อในธรรมชาติ ทำให้สามารถสร้างเส้นไหมได้มาก รวมไปถึงขนาดของร่างกาย อัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพในการย่อยอาหารก็สูงกว่าผีเสื้อไหมป่า มีความทนต่อการดูแลและการรบกวนของมนุษย์ได้ และหนอนสามารถอยู่เบียดเสียดเป็นกลุ่มใหญ่และหนาแน่นได้
นอกจากนั้นผีเสื้อหนอนไหมตัวผู้ยังไม่สามารถบินได้เหมือนผีเสื้อไหมป่า ทำให้ไม่สามารถหาตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ได้เอง แต่จะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์ เม็ดสีที่มีเพื่อใช้ในการพรางตัวในผีเสื้อไหมป่าก็หายไปเช่นเดียวกัน โดยลักษณะทั้งหมดที่แตกต่างไปจากผีเสื้อไหมป่านี้เกิดจากการคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์นั่นเอง
ผีเสื้อไหมตัวผู้และตัวเมียที่ผสมพันธุ์กัน
อย่างไรก็ตามเมื่อนำผีเสื้อไหมกลับมาผสมพันธุ์กับผีเสื้อไหมป่าก็ยังสามารถผสมพันธุ์กันได้สำเร็จ แต่การผสมพันธุ์นั้นไม่สามารถเกิดได้จริงในธรรมชาติ เพราะผีเสื้อหนอนไหมตัวผู้ไม่สามารถบินได้ ทำให้ไม่สามารถไปหาผีเสื้อไหมป่าตัวเมียได้ ทำให้เกิดการแยกในการผสมพันธุ์ระหว่างผีเสื้อไหมและผีเสื้อไหมป่าขึ้นมา ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้
ผีเสื้อไหมป่า [Bombyx mandarina] (https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bombyx_mandarina_formosana_(35848743764).jpg By LiCheng Shih)
ในปี 2009 มีการศึกษาพันธุกรรมในระดับจีโนม (Genome) ของผีเสื้อไหมหลายๆ กลุ่มที่เลี้ยงกันในปัจจุบันและผีเสื้อไหมป่ารวมกันถึง 40 ตัว ทำให้พบว่า การนำผีเสื้อไหมมาเลี้ยงเกิดขึ้นโดยการเก็บผีเสื้อไหมป่าจากธรรมชาติพร้อมกันจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ ในประเทศจีน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน (ยุคหินใหม่) ที่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า และสร้างเครื่องปั้นดินเผา และนำมาคัดเลือกพันธุ์จนได้ลักษณะที่ต้องการทำให้เกิดเป็นผีเสื้อไหมที่เลี้ยงกันในปัจจุบัน
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหนอนไหมนี้ทำให้เห็นว่า การคัดเลือกโดยมนุษย์อาจจะทำให้เกิดชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นนานพอ และมีการเกิดการแยกทางการสืบพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่นำมาเลี้ยงกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ อย่างผีเสื้อไหมและผีเสื้อไหมป่านี้ได้
เอกสารอ้างอิง
3.Qingyou Xia; Yiran Guo; Ze Zhang; et al. (2009). "Complete resequencing of 40 genomes reveals domestication events and genes in silkworm (Bombyx)". Science. 326 (5951): 433–436.
4.K. P. Arunkumar; Muralidhar Metta; J. Nagaraju (2006). "Molecular phylogeny of silkmoths reveals the origin of domesticated silkmoth, Bombyx mori from Chinese Bombyx mandarina and paternal inheritance of Antheraea proylei mitochondrial DNA". Molecular Phylogenetics and Evolution. 40 (2): 419–427. doi:10.1016/j.ympev.2006.02.023.
โฆษณา