16 ต.ค. 2019 เวลา 06:00 • ปรัชญา
#เศรษฐีวัยเก๋า
ชายผู้ขี้เบื่อคนนี้อาจทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเรื่องราวในชีวิตของเขา
เริ่มการเดินทาง
เกล บอร์เดน จูเนียร์ เป็นคนที่ไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรเลยมา กว่า 50 ปีแล้ว แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะขาดความพยายาม
บอร์เดนเกิดปี 1801 ในนิวยอร์ก ณ เมืองอินเดียนา และเติบโตที่มิสซิสซิปปี เขามีโอกาสเรียนน้อยมากเพียง 2 ปีตอนวัยรุ่นเท่านั้น
บอร์เดนเรียนเกี่ยวกับการสำรวจ และได้เริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สำรวจประจำเมืองเอมิต รัฐมิสซิสซิปปี แต่เขาก็ทำได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้นก็เบื่อก่อน
ชีวิตคลุกฝุ่น
พออายุ 28 เขาย้ายตามพ่อและพี่ชายไปอยู่รัฐเท็กซัส ที่บ้านใหม่เขาได้ทำฟาร์มและเลี้ยงสัตว์อยู่ระยะหนึ่ง ก็ค้นพบว่านี่ไม่ใช่อาชีพที่เขาอยากจะทำ จึงไปทำงานแทนพี่ชายของเขา เป็นเจ้าหน้าที่สำรวจในอาณานิคมของ สตีเฟน เอฟ. ออสติน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซานเฟลิเป แต่ทำได้ไม่นานเขาก็เบื่ออีก
จนอายุ 30 ปี บอร์เดนก็ร่วมลงทุนกับพี่ชายและเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพื่อทำธุรกิจโรงพิมพ์ แม้ว่าจะไม่มีใครที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อนเลย แต่หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของพวกเขาก็ออกมาได้หลังจากการปฏิวัติในเท็กซัสได้ไม่กี่วัน
หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของพวกเขาได้พิมพ์รายชื่อผู้เสียชีวิตที่ป้อมอลาโม และให้วลีปลุกใจที่เป็นคำนิยมใหม่ด้วยว่า "จำศึกอลาโมเอาไว้"
ผจญปัญหา
ระหว่างการปฏิวัติในเท็กซัส พวกเขาต้องหลบหนีกองทัพเม็กซิกันด้วยความที่แท่นพิมพ์แพงมาก บอร์เดนจึงนำพกติดตัวไปด้วย แต่ก็ถูกจับได้หลังจากหลบหนีได้ไม่นาน เหล่าทหารที่จับตัวพวกเขามา จึงโยนแท่นพิมพ์ที่บอร์เดนพกมาทิ้งในลำธารบัฟฟาโลบายู ทันที
ต่อจากนั้นไม่นานการปฏิวัติก็จบลง บอร์เดนจึงนำโฉนดที่ดินไปจำนอง เพื่อซื้อแท่นพิมพ์ใหม่ แต่ปัญหาทางการเงินก็หนักขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เขาต้องขายกิจการโรงพิมพ์ที่เขารักไป
หลังจากนั้น บอร์เดน ก็ได้ใช้เส้นสายเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล โดยมี แซม ฮุสตัน ผลักดันให้เขาเป็นถึงหัวหน้าศุลกากรที่เมืองกัลเวสตัน แม้จะประสบความสำเร็จในงานนี้อยู่บ้างแต่ไม่นานเขาก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่มาแทนเขานั้นก็เป็นคนของ แซม ฮุสตัน ใช้เส้นสายพามานั่งตำแหน่งนี้เช่นกัน
จุดเริ่มต้นครั้งใหม่
ต่อจากนั้นเขาก็ลองทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ทำได้ไม่นานเขาก็เบื่ออีก ทำให้เกิดคำวิจารณ์ที่รุนแรงกับเขามาก ว่า "บอร์เดนนายเป็นคนขี้เบื่อ ชอบเปลี่ยนใจทำเรื่องใหม่เร็วเกินไป ราวกับว่าเป็นเด็กเลย"
พออายุย่างเข้า 50 ปี บอร์เดนจึงพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนในช่วงทศวรรษ 1840 เขาก็ได้เริ่มประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ และยิ่งรู้เรื่องการตื่นทองในรัฐคาริฟอร์เนีย บอร์เดนก็ยิ่งตั้งใจเต็มที่ในการเตรียมอาหารไว้กินได้นาน ๆ เพื่อออกไปหาทอง
บอร์เดนเล่าว่า "ผมตั้งใจจะอัดมันฝรั่งใส่ในกล่องยาเม็ด ฟักทองทำเป็นช้อนโต๊ะ และเปลี่ยนแตงโมเป็นแผ่นจานรองเพื่อให้พกพาง่ายและสามารถกินได้หมด"
การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้น
ซึ่งความพยายามครั้งแรกของบอร์เดนเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ขนมปังกรอบรสเนื้อ เป็นขนมปังที่ทำจากการสกัดสารสำคัญของเนื้อออกมาแล้วนำไปควบแน่นให้เป็นน้ำเชื่อม หลังจากนั้นก็นำไปผสมกับแป้ง แล้วอบออกมาเป็นขนมปังกรอบแห้ง
ซึ่งผลงานชิ้นนี้ของเขาได้จดสิทธิบัตรกระบวนการทำไว้ด้วย และเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จพอสมควร จนได้ทำสัญญาเป็นผู้ผลิตขนมปังกรอบนี้ให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา แถมบอร์เดนยังได้รับเหรียญรางวัล เคาน์ซิล จากหอเกรตเอ็กซิบิชัน ในกรุงลอนดอนปี 1851 อีกด้วย
ระหว่างการเดินทางกลับจากอังกฤษ บอร์เดนบังเอิญได้เห็นเด็กเสียชีวิตจากการดื่มนมที่มีความปนเปื้อนสูงจำนวนมาก เขาจึงสาบานว่าจะหาวิธีถนอมอาหารและคิดค้นนมข้นหวานขึ้นมาเพื่อให้ทานได้อย่างปลอดภัยและสามารถบริโภคได้นานขึ้น
ประสบการณ์ที่ผ่านมา
เมื่อถึงบ้านเขาก็รีบลงมือทำการทดลองทันที ตอนแรกเขาใช้วิธีเดียวกับการทำขนมปังกรอบรสเนื้อของเขา แต่ปรากฏว่าล้มเหลว จนเหลือบไปเห็นน้ำตาลเมเปิลข้น ๆ ในกระทะที่ปิดฝาสุญญากาศ
ทำให้บอร์เดน ค้นพบกระบวนการที่ได้ผลดีและทำสำเร็จได้ในที่สุด เขาจึงเริ่มคิดที่จะเปิดโรงงานเพื่อผลิตออกมาจำหน่ายให้กับผู้คน
แต่ในตอนนั้นบอร์เดน กำลังจะล้มละลายจึงต้องหาหุ้นส่วนมาเพื่อเปิดโรงงานให้ได้ในรัฐคอนเนกติกัต ซึ่งปี 1856 ก็สามารถเปิดได้สำเร็จแต่กิจการก็ไม่ได้สร้างผลกำไรได้ทันที ทำให้เหล่าผู้ลงทุนถอนตัวออกไป และเป็นเหตุให้ต้องปิดโรงงานในที่สุด
บั้นปลายชีวิต
ไม่นานก็มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามา ทำให้บอร์เดนสามารถเปิดโรงงานได้อีกครั้ง แต่ก็ต้องปิดตัวลงอีก เพราะเกิดวิกฤตทางการเงินทั่วประเทศ บอร์เดนคิดในใจว่า "ถ้าเป็นอดีต เขาคงเบื่อและเลิกทำไปแล้ว"
จนเขาได้มีโอกาสพบกับ เจเรอไมอาห์ มิลแบงก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน โดยบังเอิญบนรถไฟบอร์เดนได้พูดคุยกันจนถูกคอ เขาจึงได้พูดโน้มน้าวให้ มิลแบงก์ มาเป็นหุ้นส่วนในบริษัทของเขาจนได้
ด้วยเหตุนี้เองบริษัทนิวยอร์กคอนเดนส์มิลล์ จึงเกิดขึ้นมาในปี 1857 และประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทบอร์เดน มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 8 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
โลกจะจดจำคุณแบบไหน
ก่อนบอร์เดนเสียชีวิตในปี 1884 เขาเล่าว่าชีวิตในบั้นปลายของเขา มีนมข้นหวานที่ทำให้เขามั่งคั่ง นอกจากนั้นก็ยังได้พัฒนากระบวนการถนอมอาหารอีกมากมายหลายอย่างเช่น การทำน้ำผลไม้เข้มข้น การทำขนมปังกรอบรสเนื้อ แต่นมข้นหวานของเขาเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้คนจดจำบอร์เดนได้ไปตลอดกาล
จากการเรียนรู้ในชีวิตของบอร์เดนมาอย่างมากมายเขาจึงขอให้จารึกป้ายหินหน้าหลุมศพของตัวเองว่า "ผมลองแล้วล้มเหลว ผมจึงลองอีกครั้งแล้วประสบความสำเร็จ"
แล้วคุณล่ะอยากให้โลกจดจำคุณในแบบไหน
หากชื่นชอบก็อย่าลืมกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ สามารถแชร์แนวคิด มุมมองดีๆได้ใน Comments นี้เลย 😄
โฆษณา