16 ต.ค. 2019 เวลา 10:07
Self-esteem กับการย้อนหาอดีตที่เจ็บปวด
Charles เป็นวาณิชธนกรวัย 50 ที่ประสบความสำเร็จสูง เขารู้วิธีทำเงิน เขาทำธุรกิจประสบความสำเร็จครั้งแรกตอนอายุ 14 การทำธุรกิจเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา
แต่พอพูดถึงชีวิตครอบครัว เขาต้องหย่าร้างกับภรรยาหลังจากแต่งงานมาได้ 15 ปี จากนั้นเขาก็อยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งแต่ก็วนเวียนอยู่ในวัฏจักรคบๆเลิกๆ เธออยากอยู่กับเขาตลอดเวลา แต่เขาไม่อยากแต่งงาน ทั้งคู่จึงทะเลาะกันบ่อย
ในเรื่องการใช้ชีวิต เขาใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์ขนาดสองห้องนอน ไม่สนใจที่จะสรรหาสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ซื้อเสื้อผ้าแพงๆ แต่เหตุผลที่เขาใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่เพราะเขามีนิสัยประหยัดแต่อย่างใด
Charles อยู่ในภาวะที่ขัดแย้งกับตัวเอง เขาคิดว่าเขาสมควรที่จะมีเงินมากมายเพราะเขามีความสามารถ แต่เขากลับคิดว่าเขาไม่สามารถที่จะมีครอบครัวที่ดีได้ อีกทั้งไม่คิดจะสวมเสื้อผ้าดีๆและย้ายไปอยู่บ้านหรูๆ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้รับสิ่งเหล่านั้น
รูปลักษณ์ภายนอกอาจจะดูมีความมั่นใจ แต่ความจริงแล้ว Charles มีความนับถือตัวเองต่ำ
แล้วความนับถือตัวเอง (Self-esteem) คืออะไร
“มันคือผลรวมของความเชื่อมั่นในตัวเองและการเคารพตัวเอง มันสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ที่คุณมีต่อความสามารถในการจัดการกับสิ่งท้าทายในชีวิตของคุณเอง รวมถึงสิทธิที่จะมีความสุขของคุณ” Dr.Nathaiel Branden กล่าว
ความนับถือตัวเองที่ต่ำเกินไปสามารถทำให้คนเรารู้สึกพ่ายแพ้หรือซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจแย่ๆขัดขวางตัวเองไม่ให้ทำอะไรที่ประสบความสำเร็จ
.
ส่วนความนับถือตัวเองที่สูงเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี มันทำให้เราหลงตัวเอง ไม่คิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น จนสุดท้ายก็ทำลายความสัมพันธ์
แล้วอะไรเป็นตัวทำให้ความนับถือตัวเองมีระดับที่ต่างกัน โดยปกติพันธุกรรมก็มีส่วนทำให้คนเรามีความนับถือตัวเองที่สูงหรือต่ำ แต่ส่วนใหญ่แล้วประสบการณ์ที่คนเราได้รับมีอิทธิพลมากที่สุดที่จะส่งเสริมหรือทำลายความนับถือตัวเอง
แล้ว Charles ได้รับประสบการณ์อะไรมา
Dr.Branden เป็นคนที่บำบัดจิตใจของ Charles เขาบอกว่าตอนที่เขาเห็น Charles ครั้งแรก เขาไม่ได้เห็นชายวัยกลางคนผมบาง แต่เขาเห็นเด็กน้อยผู้หวาดกลัว สับสน และรวดร้าว
Charles เป็นลูกชายคนเดียวของผู้อพยพชาวรัสเซียที่ยากจน เขาถูกเลี้ยงดูโดยปราศจากความรัก ไม่เคยรู้สึกถึงความอบอุ่นหรือความรักใคร่ ทั้งยังถูกทารุณกรรมทางกายอย่างน่าอับอาย แต่เขามีความปรารถนาแรงกล้าที่จะอยู่รอดและทะเยอทะยานไขว่คว้าความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามประสบการณ์ในวัยเด็กก็ได้ทำให้เขาสร้างความคิดเชิงลบกับตัวเอง เขาทำให้ความรู้สึกด้านชาเพื่อความอยู่รอด และมันก็ส่งผลมาถึงชีวิตผู้ใหญ่
ถ้าเทียบชีวิตวัยเด็กของ Charles กับทฤษฎีลำดับความต้องการของ Maslow (Maslow’s Hierarchy of Needs) เราจะเห็นว่าหลายส่วนเลยทีเดียวที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม ทฤษฎีนี้บอกว่าเราต้องเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานก่อนจากนั้นถึงจะมีความต้องการในขั้นที่สูงขึ้นและซับซ้อนขึ้น
Maslow’s hierarchy of needs
ชีวิตในวัยเด็กของ Charles ไม่ได้รับความปลอดภัย ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ เมื่อส่วนนี้ไม่ได้รับการเติมเต็ม เขาจึงรู้สึกเว้าแหว่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ Charles ต้องการที่จะมีความนับถือตัวเอง
Dr.Branden บอกว่าตัวตนวัยเด็กที่อยู่ในร่างผู้ใหญ่ถือกุญแจดอกสำคัญสู่การกอบกู้ความนับถือตัวเองของ Charles กลับคืนมา ถ้าเรามีปัญหาเรื่องความนับถือตัวเองแบบ Charles ก็เป็นไปได้ว่าวัยเด็กของเราคงได้รับความเจ็บปวดบางอย่าง
เราทุกคนต่างเป็นเด็กมาก่อนและเราก็แบกเด็กนั้นเอาไว้ บางครั้งเราก็เข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของเด็กคนนั้นและตอบสนองต่อสถานการณ์ในชีวิตผู้ใหญ่ของเราเหมือนกับยังเป็นเด็ก
ดังนั้นทางที่ดีเราควรเรียนรู้ที่จะรับรู้ถึงเด็กคนนั้น รับฟังสิ่งที่เด็กต้องการจะบอกเราด้วยความใส่ใจ แม้บางครั้งมันจะเจ็บปวดแต่เราสามารถให้เด็กคนนั้นรู้สึกว่าเรายินดีที่มีเขาอยู่ในตัวเราเพื่อให้ตัวตนวัยเด็กหลอมรวมกับตัวตนวัยผู้ใหญ่ของเรา
Dr.Branden หาทางให้ Charles กอบกู้ตัวตนในวัยเด็ก เขาอยากให้นึกย้อนไปในวัยเด็ก ให้ดำดิ่งจนสัมผัสความรู้สึกอัปยศ อับอาย อันตราย ปั่นป่วน สับสน
วิธีการที่จะไปถึงขั้นนั้นคือการเติมประโยคให้สมบูรณ์ เขาจะให้ประโยคที่ไม่สมบูรณ์มา Charles จะต้องทวนประโยคนั้นและต่อประโยคจนจบให้แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง
ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเว้าแหว่ง คุณอาจจะลองทำตามด้วยก็ได้ การเติมประโยคแต่ละครั้งไม่ต้องกังวลว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่ หรือกังวลว่าการจบประโยคแบบหนึ่งจะดูขัดแย้งกับอีกแบบ
นี่คือตัวอย่าง
“ถ้าเด็กที่อยุ่ในตัวฉันพูดได้ เขาจะพูดว่า……………” -- Charles จบประโยคว่า
.
ผมกลัว
ผมไม่เข้าใจ
ทำไมแม่ถึงตะคอกผมอยู่เรื่อย
ทำไมพ่อต้องตีผมด้วย
เวลาที่ผมอาบน้ำ ทำไมพ่อต้องเข้ามาและล้อเลียนผมด้วย
“สิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อการอยู่รอดคือ…………..”
.
ต้องระมัดระวัง
ต้องไม่รู้สึก
คอยลืมตาทุกนาที
ไม่ไว้ใจใคร
เรียนรู้ที่จะไม่พึ่งใคร
“หนึ่งสิ่งที่ตัวตนวัยเด็กของฉันต้องการคือ………….”
.
โอบกอดเขา
ปล่อยให้เขาได้ร้องไห้
ไม่ทำโทษเขาเหมือนที่พ่อทำ
รับฟังความเจ็บปวดของเขา
ไม่วิ่งหนีเขา
“ถ้าฉันมีความเห็นใจและให้ความรักแก่ตัวตนวัยเด็กของฉันมากขึ้น…………..”
.
เขาจะรู้สึกอ้างว้างน้อยลง
ผมคงเป็นพ่ออย่างที่เขาไม่เคยมี
เขาคงรู้สึกปลอดภัย
เราทั้งสองคงรู้สึกปลอดภัย
ผมคงสามารถเยียวยาเขาและเยียวยาตัวเองได้
เมื่อได้รายละเอียดที่สำคัญ Dr.Branden ขอให้คนไข้ของเขาหลับตา
“จินตนาการว่า Charles ตัวน้อยกำลังยืนต่อหน้าคุณ เขากำลังมองคุณอย่างไร การแสดงออกทางดวงตาของเขาเป็นยังไง และผมอยากรู้ว่าถึงตอนนี้คุณจะรู้สึกยังไง ถ้าคุณได้เอื้อมมือออกไปและยกเขาขึ้นมาไว้บนตัก แค่โอบเขาไว้เฉยๆ ปล่อยให้แขนขาของคุณได้บอกเขาว่าเขาปลอดภัยแล้ว คุณอยู่เคียงข้างเขาแล้ว และคุณจะไม่ทิ้งเขา ว่าในที่สุดเขาสามารถพึ่งพาและไว้ใจใครบางคนได้”
Charles เริ่มร้องไห้เบาๆ
.
“เขาดูเจ็บปวด โกรธ ดูไม่ไว้ใจและอยากจะไว้ใจมากๆ ...มันทำให้รู้สึกดีมากเลย” เขากระซิบ
“ใช่แล้ว” Dr.Branden ว่า “ปล่อยให้เขาร้องไห้กับคุณด้วย… คุณสองคนร้องไห้ด้วยกัน… เข้าใจสิ่งต่างๆอย่างแท้จริงแล้วตอนนี้… มากเกินกว่าจะบอกเป็นคำพูดได้… คำพูดไม่จำเป็นหรอก… และคุณรู้สึกได้…”
Charles ได้ย้อนเวลากลับไปช่วยตัวตนในวัยเด็ก ไปสลายความเจ็บปวด ปลอบโยน ให้ความผ่อนคลาย ความมั่นคงที่เด็กคนนั้นไม่เคยได้รู้จักมาก่อน
ตอนแรกเขาอาจจะโกรธเด็กคนนั้นที่ปล่อยให้เกิดชีวิตแย่ๆ แต่เขาก็เริ่ม “ให้อภัย”ตัวตนในวัยเด็กของเขา แต่เมื่อคิดอีกทีเขาก็เริ่มเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องให้อภัยแต่อย่างใด เพราะเด็กน้อยไม่รู้ว่าจะจัดการเรื่องต่างๆได้ดีกว่าเขาอย่างไร เด็กน้อยพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยหนทางเดียวที่เขารู้จัก
ตอนนี้ Charles ได้กอบกู้และหลอมรวมตัวตนส่วนที่ถูกปฎิเสธ ความนับถือตัวเองจึงเพิ่มขึ้น และเมื่อความนับถือตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิม ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
Healthy self-esteem คือคำที่ใช้เรียกความนับถือตัวเองในระดับที่เหมาะสม มันคือภาวะที่คนๆหนึ่งไม่มีความขัดแย้งทั้งกับตัวเองหรือกับผู้อื่น ถ้าเราเริ่มมีความขัดแย้ง ก็เป็นไปได้ว่าความนับถือตัวเองของเรากำลังมีปัญหา
ความนับถือตัวเองในระดับที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลชีวิตของเรามีปัญหาแบบที่ Charles เป็น คุณอาจจะบรรลุสิ่งที่คุณเรียกว่าความสำเร็จ แต่ลึกๆคุณก็ยังรู้สึกถึงความเว้าแหว่งภายในใจ
Dr.Branden เรียกว่าเหมือนคนถูกสาปให้รู้สึกเหมือนคนลวงโลกที่รอวันถูกเปิดโปง
วิธีที่จะเติมเต็มส่วนที่เว้าแหว่งก็คือดำดิ่งเพื่อค้นหาตัวตนที่เจ็บปวด ปลอบโยนเขา อย่าทิ้งเขา และหลอมรวมเข้าด้วยกัน
ด้วยวิธีนี้เราคงจะสัมผัสกับความเจ็บปวดที่กินเวลานาน แต่มันก็คงไม่มีทางลัดที่เร็วกว่านี้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง :
หนังสือ How to raise your self-esteem
โฆษณา