Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ร้อยเรื่อง
•
ติดตาม
17 ต.ค. 2019 เวลา 00:59 • ข่าว
"แสงแดด" มีทั้ง คุณ และ โทษ...!!!
แสงแดดในประเทศไทยค่อนข้างแรง หลายคนจึงพยายามหลบแดด กางร่ม หรือเลือกใช้ครีมกันแดดป้องกันรังสี UV อยู่เสมอ เพื่อป้องกันอาการแสบร้อนผิว ไม่ให้สีผิวคล้ำขึ้น หรือเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การได้รับแสงแดดในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม จะได้รับวิตามินดีที่เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง หากผิวหนังไม่ได้รับการสัมผัสแดดเลย หรือโดนแดดน้อยเกินไปกระดูกอาจเปราะบางลงและเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้
คุณประโยชน์จาก "แดด"
แดดอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย เช่น
เสริมวิตามินดี วิตามินดีเป็นสารอาหารสำคัญที่ได้รับจากการรับประทานอาหารบางชนิด และการสัมผัสกับแสงแดดซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่ผิวหนัง หากร่างกายขาดวิตามินดี กระดูกอาจเปราะบางจนเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกอ่อนในเด็กได้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรรับวิตามินดีจากแดดอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพราะเป็นแหล่งวิตามินดีที่หาง่าย และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกด้วยการดูดซึมสารจากอาหารต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกาย เช่น แคลเซียม และฟอสเฟต อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับแสงแดดในปริมาณที่เพียงพอต่อการสร้างวิตามินดี เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีแดดน้อย ผู้ที่ต้องทำงานหรือกิจกรรมที่ไม่ค่อยได้สัมผัสแสงแดด และผู้สูงอายุ ควรลดความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ จากการขาดวิตามินดี เช่น กระดูกหัก โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด หรือหัวใจวาย ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง หรือรับประทานอาหารเสริมวิตามินดีภายใต้คำแนะนำของแพทย์เสมอ
รักษาสุขภาพจิต แดดอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น อารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน อาการเครียดขณะตั้งครรภ์ และภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สัมผัสแสงแดดน้อยเกินไป ทำให้ปริมาณสารเซโรโทนินในร่างกายลดต่ำลง จนเสี่ยงเผชิญภาวะดังกล่าว แต่การสัมผัสแสงแดดอาจช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นด้านอารมณ์ ช่วยให้มีสมาธิ และใจเย็นขึ้นได้ด้วย
รักษาอาการทางผิวหนัง แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยแสง โดยให้ผู้ป่วยสัมผัสแดดเพื่อให้รังสี UV ช่วยรักษาโรคทางผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน ผื่นผิวหนังอักเสบ ดีซ่าน และสิว แต่การรักษาอาการทางผิวหนังด้วยการรับแดดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพราะการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปตามภาวะของแต่ละบุคคลด้วย
ป้องกันมะเร็ง แม้การสัมผัสแดดนานเกินไปอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่แดดอาจมีประโยชน์ต่อการป้องกันมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้ หากสัมผัสแสงแดดอย่างเหมาะสม เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
โทษของ "แดด"
แม้จะอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย แต่แดดก็ประกอบไปด้วยรังสี UVA, UVB และ UVC ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้ตาเป็นต้อกระจก ผิวหนังเสียหาย กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์จนทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้
นอกจากนี้ หากสัมผัสแดดนานเกินไป หรือสัมผัสแดดร้อนจ้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้แดด ผิวแห้ง เหี่ยวย่น หยาบกร้าน ดำคล้ำ เกิดรอยช้ำ หรืออาจเป็นลมแดดได้
รับแดดอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ?
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การสัมผัสแดดโดยไม่ทาครีมกันแดดป้องกันเพียง 2-3 วัน/สัปดาห์ วันละประมาณ 5-15 นาที ก็ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแดดในปริมาณเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณการรับแดดของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะผิวหนัง และปริมาณรังสี UV ที่อยู่ในแดด โดยผู้ที่มีผิวหนังสีอ่อนอาจเกิดผิวไหม้แดดได้เร็วกว่าผู้ที่มีผิวหนังสีเข้ม ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุขไทยเผยว่า แดดในประเทศไทยช่วงเวลา 09:00-15:00 นาฬิกา จะมีปริมาณรังสี UV อยู่มาก ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อผิวหนังและสุขภาพ
ป้องกันอันตรายจากแดดได้อย่างไรบ้าง ?
หากผิวหนังสัมผัสแดดโดยไม่ได้รับการป้องกันรังสี UV อาจทำให้ผิวไหม้แดด และสูญเสียเส้นใยอีลาสติน จนทำให้ผิวหนังหย่อนยาน ช้ำ หรือฉีกขาดได้ง่าย ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานในการรักษา ดังนั้น จึงควรรับแสงแดดในปริมาณที่พอดีและในช่วงเวลาที่เหมาะสม หากจำเป็นต้องสัมผัสแดดร้อนหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน จึงควรป้องกันตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
สวมเครื่องแต่งกายให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว โดยอาจเลือกเนื้อผ้าเป็นผ้าทอหนา และมีคุณสมบัติป้องกันแสงแดด (UPF: UV Protection Factor) รวมถึงสวมหมวกปีกกว้าง และแว่นตากัน UV เป็นต้น
ทาครีมกันแดดที่ป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB โดยมีค่า SPF 30 เป็นอย่างน้อย และควรทาซ้ำทุก ๆ 80 นาที หรือบ่อยกว่านั้น โดยเฉพาะหากมีเหงื่อออกมากหรือต้องว่ายน้ำ
ใช้คอนแทคเลนส์และเครื่องสำอางที่ป้องกันแสงแดดได้ เช่น ลิปสติก หรือลิปบาล์มที่มีค่า SPF 15 เป็นอย่างน้อย
อ่านฉลากยาที่ใช้อยู่อย่างละเอียดรอบคอบ เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไวต่อแดดและรับรังสี UV ได้มากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ผิวไหม้หลังสัมผัสแดดเพียงไม่กี่นาที
หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หิมะ หรือทราย เพราะแดดอาจสะท้อนจากพื้นผิวดังกล่าว แล้วตกกระทบสร้างความเสียหายแก่ผิวหนังได้
ไม่ใช้เตียงอาบแดด เพราะรังสี UV จากแดดและเตียงอาบแดดอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ และหากสีผิวเริ่มคล้ำขึ้นเป็นสีน้ำตาล ควรทาครีมกันแดดเพิ่ม
ส่วนเด็กก็ต้องปกป้องร่างกายจากแดดเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือมากกว่านั้นในบริเวณที่เสื้อผ้าปิดไม่มิดชิด หรือบริเวณที่คาดว่าจะสัมผัสแดด โดยเฉพาะช่วงไหล่ หลัง หรือคอ และควรเลือกครีมกันแดดชนิดกันน้ำ หากเด็กต้องว่ายน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมและทำจากฝ้าย รวมถึงสวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันแดดสัมผัสใบหน้าและลำคอ
สวมแว่นตากันแดดที่ได้มาตรฐาน
หากเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดโดยตรง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แดดจ้า
ทั้งนี้ หากต้องสัมผัสแดดเป็นเวลานาน ควรสำรวจร่างกายตนเองและเด็กอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลง บวม หรือมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เคล็ดลับรักษาผิวไหม้แดด
หากเกิดอาการผิวไหม้แดดแบบไม่รุนแรง อาจรักษาดูแลอาการด้วยตนเองได้ ดังนี้
ดื่มน้ำปริมาณมาก
บรรเทาอาการไหม้ด้วยการนำผ้าชุ่มน้ำมาประคบบริเวณที่มีอาการ
ใช้ยาแอสไพริน พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน หากมีอาการปวดหัว หรือมีไข้
ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น หรือทาเจลว่านหางจระเข้
ห้ามสัมผัสแสงแดดจนกว่าแผลจะหายดี
หากผิวหนังเป็นตุ่มพอง ควรนำผ้าพันแผลมาปิดไว้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากตุ่มพองแตก ควรใช้ขี้ผึ้งฆ่าเชื้อทาบริเวณดังกล่าว โดยห้ามเจาะหรือบีบเพื่อเร่งตุ่มพองให้แตกเด็ดขาด
แต่หากปรากฏอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น มีแผลไหม้แดดทั่วร่างกายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมด รู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลนานเกิน 2 วัน มีภาวะขาดน้ำ หรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
Cr ข้ออมูลดีๆ :
poppad.com
บันทึก
5
6
1
5
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย