17 ต.ค. 2019 เวลา 18:05
ฮอร์โมนคืออะไรกันนะ?. มีความสำคัญอย่างไรกัน??
รูปที่ 1 มารู้จักฮอร์โมนกันเถอะ
ฮอร์โมน คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายของมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยฮอร์โมนจะหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อและซึมเข้าสู่เส้นเลือด จากนั้นจะอาศัยระบบการไหลเวียนของกระแสเลือด ส่งต่อไปยังเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ เมื่อฮอร์โมนไปถึงอวัยวะที่เป็นเป้าหมาย ก็จะทำหน้าที่เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ
หน้าที่ของฮอร์โมนสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
เร่งการเจริญเติบโต ตั้งแต่พัฒนาการเจริญเติบโตของเซลล์และเนื้อเยื่อ ไปจนถึงพัฒนาการทางเพศและการเจริญพันธุ์
ช่วยควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อมในร่างกายให้เป็นปกติ เช่น การใช้พลังงานของร่างกาย การเผาผลาญและดูดสารอาหาร รวมถึงการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย
ทำหน้าที่ควบคุมอาการกระหายน้ำ ควบคุมอารมณ์และความจำ และช่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน
ที่มาของฮอร์โมนแต่ละชนิด
ตัวอย่างต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย ได้แก่
ต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมอง เป็นต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญที่สุด มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตาอยู่ตรงบริเวณใต้ฐานสมอง โดยฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมนี้จะทำหน้าที่เป็น Master Gland คือ เป็นตัวควบคุมต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ให้ผลิตฮอร์โมนตามปกติ เช่น
โกรทฮอร์โมน (Growth hormone: GH) มีผลต่อการสร้างและพัฒนาเซลล์
โปรแลคติน (Prolactin) ช่วยกระตุ้นและสร้างน้ำนมของหญิงที่ให้นมบุตร รวมไปถึงการส่งผลต่อพฤติกรรม ภาวะการเจริญพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกันด้วย
ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone: FSH) ช่วยควบคุมการตกไข่ของรังไข่ในผู้หญิง และการผลิตอสุจิของอัณฑะในผู้ชาย
ลูทิไนซิงฮอร์โมน (luteinizing hormone: LH) ควบคุมรอบประจำเดือนของผู้หญิงให้ปกติ และทำงานร่วมกับ FSH ในการผลิตอสุจิของผู้ชาย
อัณฑะ (Testes) ถึงแม้ว่าอัณฑะจะผลิตฮอร์โมนหลายอย่าง แต่ที่รู้จักมากที่สุดคือ เทสโทสเทอโรน (testosterone) และเอสโทรเจน (estrogen)
ต่อมไพเนียล (Pineal gland) อยู่ตรงบริเวณฐานกะโหลก ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน เมลาโทนิน (Melatonin) โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลต่อการนอนหลับ ซึ่งจะถูกกระตุ้นออกมาจากความมืด
ตับอ่อน (Pancreas) ทำหน้าที่ผลิต อินซูลิน (Insulin) อะไมลิน (Amylin) และกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
รังไข่ (Ovaries) ผลิตเอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งช่วยควบคุมภาวะการเจริญพันธุ์ และควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของเพศหญิง เช่น การมีเต้านม การสะสมของไขมัน นอกจากนี้ รังไข่ยังผลิตโพรเจสเทอโรน เพื่อควบคุมรอบเดือนให้เป็นปกติ รวมไปถึงควบคุมภาวะตั้งครรภ์
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
การขาดความสมดุลของฮอร์โมน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุ ความผิดปกติทางพันธุกรรม การสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การรบกวนระบบวงจรปกติของร่างกาย (Circadian rhythm) ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดในปริมาณที่ไม่เหมาะสม
การที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนได้มากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมาได้ ในกรณีเช่นนี้ แพทย์อาจสั่งยาฮอร์โมน หรือยาชนิดอื่นๆ ให้รับประทาน เพื่อช่วยจัดการภาวะขาดสมดุลของฮอร์โมนเหล่านี้ และปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติ
ตัวอย่างของการรักษาอาการเกี่ยวกับความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น
การให้ฮอร์โมนทดแทนกับสตรีวัยหมดประจำเดือน (Hormone Replacement Therapy: HRT)
การรักษาภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ด้วยยาไทรอยด์ต่างๆ
การฉีดเทสโทสเทอโรนให้ผู้ชายที่มีความต้องการทางเพศน้อยกว่าปกติ หรือในผู้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการคลายน์เฟลเตอร์
การให้เมลาโทนินเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในการเดินทางไปยังต่างประเทศที่มีเขตเวลาต่างกัน
การรักษาภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperparathyroidism) ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะไตวาย
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและติดตามนะคะ
โฆษณา