Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Maman Thailand
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2019 เวลา 12:59 • ครอบครัว & เด็ก
ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์เมื่อคุณแม่อายุเกิน 35 ปี
วันนี้มาม็องมีอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณหมอแนะนำให้ตรวจคัดกรองเนื่องจากอายุคุณแม่เกิน 35 ปีค่ะ
ปัจจุบันคนทั่วโลกมีการตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมาพร้อมความเสี่ยงในการแท้งลูก และยังมีความเสี่ยงที่ลูกจะมีความพิการตั้งแต่กำเนิดได้ค่ะ
บทความนี้ คุณแม่มาม็องจะเล่าเฉพาะความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นกลุ่มอาการดาวน์นะคะ
ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมแต่กำเนิด ซึ่งทำให้เด็กมีปัญหาด้านร่างกาย พัฒนาการ และสติปัญญา
โดยปกติคนเราจะมีโครโมโซมจำนวน 23 คู่ หรือ 46 แท่ง แต่ในกรณีที่เป็นดาวน์ซินโดรม มักเกิดความผิดปกติที่เรียกว่า Trisomy 21 คือการที่มีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาแท่งหนึ่ง กลายเป็น 3 แท่ง ซึ่งพบได้บ่อยเกิน 90%
นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากความผิดปกติรูปแบบอื่นได้ เช่น การเกิด Translocation หรือการย้ายตำแหน่งของโครโมโซม
โดยในประเทศไทยมีการคลอดปีละประมาณ 800,000 ราย หากไม่มีการตรวจหาความผิดปกติของกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ คาดว่าจะมีเด็กกลุ่มอาการดาวน์เกิดปีละประมาณ 800 – 1,000 ราย
แม้ความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการดาวน์จะสัมพันธ์กับอายุหญิงตั้งครรภ์แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่าเด็กกลุ่มอาการดาวน์ร้อยละ 75-80 เกิดจากมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
ผู้ที่มีความผิดปกติด้วยกลุ่มอาการดาวน์มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายประการ โดยเฉพาะภาวะปัญญาอ่อน และความพิการแต่กำเนิดของหัวใจ
การตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ สามารถทำได้หลายวิธี
1. การเจาะน้ำคร่ำ
เป็นการใช้เข็มเจาะน้ำคร่ำออกมา เพื่อนำเซลล์ของทารกที่หลุดลอยอยู่ในน้ำคร่ำมาเพาะเลี้ยงและศึกษาลักษณะโครโมโซม ซึ่งจะทำได้ในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ข้อดีของวิธีนี้คือให้ผลที่แม่นยำมาก แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เช่น อาจทำให้ถุงน้ำคร่ำรั่ว หรือเข็มเจาะไปโดนทารกจนทำให้แท้งบุตรได้ ซึ่งก็มีโอกาสเกิดได้น้อยมากๆ นอกจากนี้ การเจาะน้ำคร่ำอาจใช้เวลาตรวจนาน 3-4 สัปดาห์
2. การเจาะเลือดแม่เพื่อหาสารบ่งชี้
ขณะตั้งครรภ์ จะมีสารหลายตัวถูกสร้างขึ้นและตรวจพบได้ในเลือดแม่ เช่น อัลฟ่า ฟีโตโปรตีน (alpha feto-protein) เอสตริออล (estriol) เอชซีจี (hCG) อินฮิบิน เอ (Inhibin A) และ แพบเอ (PAPP-A) หากแม่ตั้งครรภ์ทารกดาวน์ซินโดรม ระดับสารดังกล่าวในเลือดก็จะผิดปกติ เช่น มี alpha feto-protein ต่ำ แต่มี hCG สูง ซึ่งเราสามารถนำมาคำนวณเพื่อคัดกรองดาวน์ซินโดรมได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลค่อนข้างไว อีกทั้งแทบไม่มีความเสี่ยง แต่ข้อเสียคือผลอาจไม่แม่นยำนัก
3. การอัลตราซาวน์ร่วมกับการเจาะเลือด
เป็นวิธีตรวจคัดกรองยอดนิยมซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10-14 สัปดาห์ การอัลตราซาวน์จะดูลักษณะของทารกในครรภ์ และวัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอ ส่วนการเจาะเลือดแม่ก็จะตรวจสารบ่งชี้ต่างๆ ดังที่กล่าวมา วิธีนี้ทำได้ง่าย รู้ผลไว แต่ยังมีความแม่นยำต่ำ
4. การตรวจด้วยเทคนิค Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT)
เป็นการใช้เทคนิคขั้นสูงคือ Single Nucleotide Polymorphism (SNP) เพื่อแยก DNA ของลูกออกจากของแม่ และนำมาวิเคราะห์หาความผิดปกติ ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลแม่นยำมาก ไม่ต้องทำการเจาะซึ่งเสี่ยงต่อการกระทบทารกในครรภ์ อีกทั้งทราบผลตรวจได้รวดเร็ว แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายสูงมาก คือประมาณ 20,000-30,000 บาท
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ มาม็องแนะนำให้ปรึกษาคุณหมอนะคะ จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด มาม็องขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ขอให้มีลูกที่น่ารักและแข็งแรงทุกคนนะคะ
บันทึก
3
8
1
3
8
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย