18 ต.ค. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา “จั๊บจั๊บ” ก๋วยจั๊บสำเร็จรูป ของชาวอุบลราชธานี
“จั๊บจั๊บ” เป็นแบรนด์ก๋วยจั๊บญวนกึ่งสำเร็จรูปสูตรต้นตำรับจากอุบล
เกิดจากแนวคิดที่อยากให้ พี่น้องชาวอุบล ที่อยู่ไกลบ้าน
มีโอกาสได้สัมผัสก๋วยจั๊บญวนที่รสชาติเหมือนที่บ้าน
ปกติ อาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบเส้นตามท้องตลาด
ส่วนใหญ่จะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น มาม่า ยำยำ ไวไว
แต่ทุกวันนี้ มีอาหารเส้นอีกประเภท คือ ก๋วยจั๊บญวน
อย่างเช่นแบรนด์ จั๊บจั๊บ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ลิ้มลอง
ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เบื่อความจำเจ
ซึ่งเป็นการสร้างสีสัน และความแปลกใหม่ให้กับตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูป
จั๊บจั๊บ เป็นของบริษัท ดีไลท์ 88 จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดย 4 พี่น้อง “อู่สมบัติชัย”
ที่มีความฝันอยากจะมีธุรกิจร่วมกัน
คุณมนัสชญาณ์ อู่สมบัติชัย หรือ คุณยุ้ย ที่เป็นพี่สาวคนโต เล่าว่า
เริ่มแรกครอบครัวประกอบธุรกิจร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า
แต่ต่อมา น้องๆ ได้ช่วยกันเริ่มธุรกิจใหม่
คือ เปิดร้านขายก๋วยจั๊บญวน “ดีไลท์ 88” ซึ่งอยู่ในตลาดใจกลางเมืองอุบลราชธานี
ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามา
เพราะสไตล์ร้านถูกใจวัยรุ่น และรสชาติอาหารถูกปากคนท้องถิ่นอย่างมาก
แต่จุดพลิกผัน ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
ในตอนนั้น อาจารย์จิตรา สิงห์ทอง อาจารย์ประจำ ม.อุบลราชธานี
ได้คิดค้นนวัตกรรมแปรรูปเส้นก๋วยจั๊บ ให้เป็นกึ่งสำเร็จรูป
1
แต่ลักษณะเส้นก๋วยจั๊บ ยังคงรักษาความเหนียวนุ่ม
และใช้เวลาต้มเพื่อทาน เพียงแค่ 5 นาที
พอพวกเขาได้ยินถึงงานวิจัยชิ้นนี้ จึงไม่รอช้า
เข้าขอความอนุเคราะห์จาก อาจารย์จิตรา เพื่อนำนวัตกรรมนี้ มาต่อยอดธุรกิจครอบครัว
และทำเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
เนื่องจากคุณยุ้ย มักได้ยินจากปากเพื่อน และคนรู้จัก ที่มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ
ว่า ก๋วยจั๊บญวนที่ขายอยู่ในกรุงเทพฯ มีรสชาติไม่เหมือนต้นตำรับอย่างที่อุบล
ดังนั้น การพัฒนาก๋วยจั๊บญวนกึ่งสำเร็จรูป ที่มีรสชาติแบบต้นตำรับอุบลแท้ๆ
น่าจะช่วยให้ชาวอุบลที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวง มีโอกาสได้กินก๋วยจั๊บญวนเหมือนอยู่ที่บ้านเกิด
อีกทั้งยังเป็นการโปรโมท ให้คนจังหวัดอื่นๆ ได้ลิ้มลองและรู้จักก๋วยจั๊บอุบลมากขึ้น
นอกจากนี้ ในตอนนั้นเอง
SME Bank ก็มีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ให้บรรดา SMEs-Startup ได้เข้าอบรมขึ้นที่ ม.อุบลราชธานี
ซึ่งพี่น้องอู่สมบัติชัย ก็ได้เข้าร่วมโครงการ
ทำให้พวกเขามีความรู้ และความสามารถในการทำธุรกิจมากขึ้น
สุดท้าย เมื่อส่วนประกอบจิ๊กซอว์ครบ ก็เกิดเป็นแบรนด์ “จั๊บจั๊บ” ในที่สุด
จั๊บจั๊บ จะมีทั้งแบบถ้วย ราคาละ 40 บาท และแบบซอง ราคา 28 บาท
ภายในบรรจุด้วยเส้นก๋วยจั๊บญวนอบแห้ง ผงน้ำซุป
และเครื่องเคียงอบแห้ง ประกอบด้วยหมูยอ กระเทียมเจียว ต้นหอมซอย และพริกคั่ว
จุดเด่นของสินค้าก็คือ เส้นเหนียวนุ่ม น้ำซุปยึดสูตรต้นตำรับจากอุบลแท้
และการนำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์ให้สดใส เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น
ซึ่งวิธีการทำตลาด โปรโมตสินค้าของบริษัท คือทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook และ Line ควบคู่กับออกงานแสดงสินค้าต่างๆ
1
บริษัทมีช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งใน 7-Eleven บางสาขา, ช่องทางออนไลน์, งานแสดงสินค้า, ร้านขายของฝากในอุบลราชธานี และจังหวัดใหญ่ๆ ในภาคอีสาน เช่น อุดรธานี นครราชสีมา
โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่ประมาณ 30,000 ซองและถ้วยต่อเดือน
แต่อนาคตจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 50,000 ซองและถ้วยต่อเดือน
พร้อมขยายช่องทางตลาด โดยส่งเข้าร้านอาหารต่างๆ, ซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำ
และส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว
1
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ใครจะไปคิดว่า ร้านก๋วยจั๊บที่ขายตามตลาด
จะสามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นแบบถ้วยหรือซอยกึ่งสำเร็จรูป
ที่สามารถวางขายทั่วประเทศและส่งออกได้
มันเป็นการผสมผสานระหว่างความดั้งเดิมของท้องถิ่น กับนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่
หากเราลองมองหาสินค้าเด่นๆ ประจำท้องถิ่นของเรา
แล้วเอามาปรับแต่ง พัฒนาต่อยอด ให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้เหมือนจั๊บจั๊บ
ไม่แน่ เราก็อาจช่วยทำให้สินค้าประจำท้องถิ่น โด่งดังไปไกลเกินกว่าท้องถิ่นเสียอีก..
โฆษณา