19 ต.ค. 2019 เวลา 13:50 • ปรัชญา
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?
หรืออีกนัยหนึ่ง แก่นของพุทธศาสนาคืออะไร?
ประการที่ ๑ ปัญญาเห็นชอบ
คือมีปัญญารู้เห็น ๔ อย่างนี้
๑ เห็นความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายว่าทุกอย่างล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้อย่างถาวร และทุกสิ่งล้วนเกิดจากการประกอบกันของส่วนประกอบย่อยต่างๆไม่มีตัวตนแท้จริง (ไตรลักษณ์)
๒ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยความอยากในกามสุข ความอยากในความสุขเกิดขึ้นเพราะอาศัยความไม่เข้าใจความจริงของชีวิตต่อเนื่องกันมาและต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด (ปฏิจจสมุปบาท)
๓ รู้ขั้นตอนการดับทุกข์ ได้แก่ รู้สภาวะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ รู้เหตุให้ทุกข์เกิด รู้ความดับทุกข์ รู้ทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์ (อริยสัจ)
๔ รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุของกุศล สิ่งใดเป็นเหตุของอกุศล
ประการที่ ๒ ความคิดชอบ
คือมีความคิดที่จะห่างออกจากกามสุข มีความคิดที่จะไม่พยาบาท ทว่ามีเมตตาแทน มีความคิดที่จะไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่น ทว่ามีความกรุณาแทน รวมถึงการมองโลกในแง่ดี
ประการที่ ๓ เจรจาชอบ
คือเว้นจากการเจรจา ๔ อย่างนี้
๑ เว้นจากการพูดเท็จ พูดแต่ความสัตย์จริง
๒ เว้นจากการพูดส่อเสียดให้แตกร้าว พูดแต่คำที่ก่อให้เกิดสามัคคี
๓ เว้นจากการพูดคำหยาบ พูดแต่คำไพเราะคำสุภาพ
๔ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดแต่สิ่งมีประโยชน์
ประการที่ ๔ การกระทำชอบ
คือเว้นจากการกระทำ ๓ อย่างนี้
๑ เว้นจากการฆ่าและทรมานสิ่งมีชีวิต แล้วให้ช่วยเหลือเกื้อกูล
๒ เว้นจากการเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ให้ แล้วให้เสียสละ
๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม แล้วให้สำรวมในกาม
ประการที่ ๕ เลี้ยงชีวิตชอบ
คือเว้นจากการเลี้ยงชีพโดยทางที่ผิด รวมถึงไม่หมักหมม หรือจับจดในงาน
ประการที่ ๖ พยายามชอบ
คือพยายามระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น พยายามละความชั่ว พยายามสร้างความดีให้เกิดขึ้น พยายามรักษาความดีและส่งเสริมให้เจริญขึ้น
ประการที่ ๗ ระลึกชอบ
คือการรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร รู้สึกอย่างไรในแต่ละขณะ หรือการมีสติเพื่อพิจารณา ๔ อย่างนี้
๑ มีสติพิจารณากาย รู้ทันลมหายใจ รู้ทันอิริยาบถและความเคลื่อนไหวต่างๆของร่างกาย
๒ มีสติพิจารณาเวทนา รู้ทัน ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกสุขในแต่ละขณะ
๓ มีสติพิจารณาจิต รู้ทันว่าภาวะจิตมีความอยาก ความโกรธ ความหลง หดหู่ ฟุ้งซ่านหรือไม่
๔ มีสติพิจารณาธรรม รู้ทันธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล
ประการที่ ๘ จิตมั่นชอบ
คือการฝึกให้จิตมีความตั้งมั่น ๔ ระดับได้แก่
ระดับที่ ๑ จิตสงัดจากกามสุข มีปีติและสุขจากความสงบกายสงบใจ
ระดับที่ ๒ จิตมีความผ่องใสมีแต่ปิติและสุขอันเกิดจากสมาธิ
ระดับที่ ๓ จิตจางคลายจากความปิติ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
ระดับที่ ๔ จิตไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์พระอุเบกขา
สรุปเนื้อหาของข้อ ๑-๒: สองประการแรกคือการเข้าใจความจริงของชีวิตและทางออกจากทุกความเข้าใจนี้จะทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งก็คือ "ปัญญา"
สรุปเนื้อหาของข้อ ๓-๕: สามประการต่อมาคือวิธีในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นและสรรพสิ่งโดยไม่เบียดเบียน ก่อให้เกิดสังคมแห่งความสุข ซึ่งก็คือ "ศีล"
สรุปเนื้อหาของข้อ ๖-๗: สามประการสุดท้ายคือ การฝึกพิจารณาความคิดจิตใจให้มีชีวิตอย่างมีสติ และท้ายที่สุดคือการปล่อยวาง ซึ่งก็คือ "สมาธิ"
คำตอบคือ: ศีล สมาธิ ปัญญา
คัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นภาพปริศนาธรรม และมีคำแปลสามภาษา
ภายในเจดีย์พุทธคยาจำลอง
ณ.วัดญานสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี
โฆษณา