สสารมืดนั้น ได้รับการกล่าวถึงเมื่อร้อยกว่าปีก่อนโดยท่าน Lord Kelvin ในปี 1884 จากการคำนวณมวลของกาแล็กซีทางช้างเผือก แล้วพบว่ามวลของกาแล็กซีมีค่ามากกว่ามวลที่มองเห็นอยู่มาก ท่าน Lord Kelvin จึงสรุปว่า ดาวจำนวนมากในกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้น อยู่ในรูปของ “วัตถุมืด” หรือ “dark bodies“
จนกระทั้งในปี 1933 นักดาราศาสตร์ชาวสวิส Fritz Zwicky จาก California Institute of Technology ได้พิสูจน์การมีอยู่จริงของสสารมืดในธรรมชาติ ด้วยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีบท virial เพื่ออธิบายมวลที่มองไม่เห็นของ Coma cluster of galaxies แล้วพบว่ามวลที่หาได้มีค่ามากกว่ามวลที่ประมาณค่าจากวัตถุที่มองเห็นได้ถึง 400 เท่า ทำให้เขาพบปัญหาที่สำคัญคือ การหายไปของมวลในจักรวาล เขาจึงคาดว่าต้องมีวัตถุที่มองไม่เห็น ซึ่งมีขนาดมากพอ จนมีผลต่อแรงโน้มถ่วงของกระจุกดาราจักร
เป็นเวลานานมาแล้ว ที่นักดาราศาสตร์เชื่อกันว่า สสารมืดเป็นสสารที่หลงเหลือจากการระเบิดของ Big Bang โดยนักวิจัยได้ค้นหาและศึกษาอนุภาคเหล่านี้มาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือ นี้จะบอกเราเป็นนัยว่าเรากำลังเดินมาถูกทางหรือไม่
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีงานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับสสารมืด จาก Johns Hopkins University ที่ชี้ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว สสารมืด อาจมีอยู่ก่อน Big Bang ก็เป็นได้ โดยทางนักวิจัยได้ตีพิมพ์บทความวิจัยลงในวารสาร Physical Review Letters ที่ได้นำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับจุดกำเนิดของสสารมืดและวิธีการสำรวจทางดาราศาสตร์
Tommi Tenkanen นักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctora) สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์จาก Johns Hopkins University ผู้ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้กล่าวว่า "การศึกษาเผยให้เห็นถึงการเชื่อมโยงใหม่ระหว่างฟิสิกส์อนุภาคกับดาราศาสตร์ โดยระบุว่า ถ้าสสารมืดมีอยู่ก่อนหน้าที่จะเกิด Big Bang มันจะมีผลกระทบต่อการกระจายตัวของกาแล็กซีที่เป็นเอกลักษณ์ และการเชื่อมโยงใหม่นี้ ยังเผยให้เห็นถึงตัวตนของสสารมืดและข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีอยู่ก่อน Big Bang ด้วย"
ซึ่งเชื่อมโยงใหม่นี้ ได้ใช้กรอบของคณิตศาสตร์แบบใหม่ในการแสดงให้เห็นว่าสสารมืดถูกสร้างขึ้นก่อน Big Bang ในช่วงที่เรารู้จักกันในชื่อ cosmic inflation หรือ การพองตัวของจักรวาล เมื่ออวกาศขยายตัวออกอย่างรวดเร็วนั่นเอง ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ จะนำไปสู่การผลิตอนุภาคที่ถูกเรียกว่า scalars จนถึงตอนนี้มีเพียงอนุภาค scalars ชนิดเดียวที่ถูกค้นพบนั่นคือ อนุภาค Higgs boson