23 ต.ค. 2019 เวลา 11:00
Modern China History 10
"ข้อเรียกร้อง 21 ข้อ ของญี่ปุ่นและเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม"
ในช่วงการปกครองของ ประธานาธิบดี หยวน ซือ ไข เป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ประทุขึ้น ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรศูนย์กลางอยู่ที่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย และฝ่ายมหาอำนาจกลางศูนย์กลางอยู่ที่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมันและบัลแกเรียล ช่วงปี ค.ศ. 1914 - 1918 ขณะนั้นประเทศจีนได้ถูกชาติตะวันตกและจักรวรรดิญี่ปุ่นบีบบังคับให้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศสงครามกับเยอรมนี
ในขณะนั้นญี่ปุ่นได้ใช้กำลังเข้ายึดครองมณฑลซานตงซึ่งตอนนั้นโดนยึดครองโดยเยอรมนีและอาศัยโอกาสขณะที่ชาวตะวันตกกำลังทำสงครามกันอย่างติดพันนั้น อ้างอิทธิพลเหนือประเทศจีนโดยทำข้อเรียกร้อง 21 ข้อ เสนอให้กับ หยวน ซือ ไข ในปี ค.ศ. 1915 โดยสาระสำคัญในข้อเรียกร้องนั่นคือ ต้องการให้ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลประโยชน์จากจีนมากที่สุด ได้แก่ มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรในมองโกเลียเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต สิทธิในการเข้าถึงแร่และโลหะในจีนตอนกลาง จีนต้องไม่ให้สัมประทานชายฝั่งหรือเกาะใดๆเพิ่มเติมแก่ประเทศมหาอำนาจอื่น ให้จีนจ้างชาวญี่ปุ่นมาเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการเงินและตำรวจของจีน และให้ยอมรับสิทธิในการปกครองของญี่ปุ่นเหนือมณฑลซานตง
หยวน ซือ ไข จำเป็นต้องรับข้อเสนอทั้งหมดเว้นแต่การให้ญี่ปุ่นเข้าควบคุมกิจการตำรวจจีน เพราะเกรงกลัวอำนาจของญี่ปุ่นในขณะนั้น
1
ข้อเรียกร้อง 21 ประการของญี่ปุ่น
ในปี ค.ศ.1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยุติลง ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม และเกิดการประชุมสันติภาพขึ้นที่กรุงปารีส พระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศจีนซึ่งอยู่ฝ่ายที่ชนะสงครามจึงมีความหวังว่าจะได้รับเอกราชรวมทั้งความเคารพจากต่างชาติและได้มณฑลซานตงกลับคืน แต่ก็ต้องผิดหวังเนื่องจากสนธิสัญญาแวร์ซายที่ทำขึ้นกลับไม่ได้มีวาระที่จีนคาดหวังดังกล่าวอยู่เลยนั่นคือในสนธิสัญญายังคงระบุให้มณฑลซานตงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่นต่อไป
การประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายส์
เมื่อประชาชนประเทศจีนได้ทราบข่าวดังกล่าวก็ต่างผิดหวังโดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชนสมัยใหม่ที่ได้รับความรู้ แนวคิดการปกครองมาจากตะวันตก จึงเกิดการรวมตัวกันของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในเดือน พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1919 เพื่อประท้วงผลของการประชุมสันติภาพที่ราชวังแวร์ซายส์และประณามข้าราชการจีนที่ยอมรับข้อตกลงในสนธิสัญญาดังกล่าว ขบวนการนี้เรียกว่า "ขบวนการ 4 พฤษภาคม" ผลของการประท้วงสุดท้ายทำให้ตัวแทนของจีนในที่ประชุมสันติภาพตัดสินใจปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญาในที่สุด
1
เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 ที่ปักกิ่ง
เหตุการณ์ 4 พฤษภาคมนี้ แสดงให้เห็นถึงความคิดของประชาชนที่เริ่มเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้มาจากการที่คนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาและแนวคิดจากต่างชาติมากขึ้น และเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการปลุกกระแสชาตินิยมของประเทศจีนขึ้นมาอีกด้วย
ตอนถัดไปผมจะตัดฉากกลับมาที่เหตุการณ์ในปี 1915 อีกครั้ง เพื่อเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญของประเทศจีนในช่วงเวลานั้นครับ โปรดรอติดตามตอนต่อไปได้เลยครับผม
ขอบคุณที่รับชมครับ/\

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา