24 ต.ค. 2019 เวลา 10:00
Brexit ที่ยังไร้ทางออก และความพยายามที่ยังไปไม่ถึงของ บอริส จอห์นสัน
นับตั้งแต่ บอริส จอห์นสัน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา เขาได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะผลักดันให้เกิดการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ให้ทันภายในกำหนดเวลาเดิมคือ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ถึงขนาดที่จะยอมตายหากที่จะต้องมีการเลื่อนกำหนดเวลาออกไป (“do or die.”) และเขาก็ได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เกิดการถอนตัว
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าความพยายามของเขาประสบแต่อุปสรรคและความพ่ายแพ้ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการแพ้คะแนนเสียงในการลงมติหลายเรื่องในสภาผู้แทนราษฎร และการที่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าการถวายคำแนะนำแก่สมเด็จพระราชินีนาถให้ปิดสมัยการประชุมสภาที่ยาวนานกว่าปกตินั้นเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการปิดโอกาสไม่ให้สภาได้ทำหน้าที่ตรวจสอบตามหลักการทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษ รวมไปถึงความพยายามในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา
 
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าบอริส จอห์นสันจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับ EU ในข้อตกลงถอนตัว (Brexit Deal) ฉบับใหม่ได้ แต่ทว่ารัฐบาลก็ต้องประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในสภาอีกครั้ง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาให้เลื่อนการลงมติให้ความเห็นชอบในข้อตกลงดังกล่าวออกไป
จากการประชุมสภาครั้งประวัติศาสตร์ในวันนั้น อันเป็นการประชุมที่พิเศษกว่าปกติ เพราะโดยทั่วไปแล้วจะไม่มีการประชุมสภาในวันหยุด และครั้งสุดท้ายที่มีการประชุมในวันเสาร์คือเมื่อ 37 ปีก่อนที่เกิดวิกฤตการณ์หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ โดย บอริส จอห์นสัน คาดหวังว่าข้อตกลงที่เขาเสนอนั้นจะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะสามารถทำให้เกิด Brexit ได้ทันภายในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้
 
สำหรับ Brexit Deal ฉบับใหม่นั้นมีสาระสำคัญคือ จะไม่มีการกำหนดจุดผ่านแดนบริเวณชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่เรียกว่าจุด Backstop อันเป็นแนวทางของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงและเศรษฐกิจในไอร์แลนด์เหนือ
 
โดยบอริส จอห์นสันได้เสนอแนวทางใหม่คือ กำหนดให้บริเวณทะเลไอริช (ทะเลระหว่างเกาะอังกฤษกับเกาะไอร์แลนด์) เป็นพรมแดนระหว่าง EU กับอังกฤษแทน โดยเกาะอังกฤษจะไม่ได้อยู่ในระบบการค้าของ EU อีกต่อไป และสินค้าที่จะเข้าออกจะต้องมีการตรวจตราหรือเสียภาษีบริเวณจุดผ่านแดนที่ทะเลไอริช ส่วนไอร์แลนด์เหนือยังสามารถติดต่อกับ EU ได้ภายใต้ข้อตกลงตามปกติ และไม่มีจุดผ่านแดนตามที่หลายฝ่ายกังวล
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านได้เสนอญัตติให้เลื่อนหรือชะลอการลงมติรับ Brexit Deal นี้เอาไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit ให้เรียบร้อยก่อนที่การถอนตัวจะมีผล เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาหากยังไม่มีกฎหมายที่พร้อมจะรองรับ และสภาก็ได้ลงมติยอมรับญัตติดังกล่าวด้วยคะแนน 322 ต่อ 306 เสียง ทำให้ความหวังของ บอริส จอห์นสัน ที่จะผลักดัน Brexit Deal ดังกล่าวต้องสูญสลายไปอีกครั้ง
 
จากผลการเลื่อนลงมติดังกล่าวออกไป ทำให้รัฐบาลต้องมีจดหมายไปยัง EU เพื่อขอเลื่อนกำหนดเวลาในการถอนตัวออกไป เนื่องจากตามกฎหมายป้องกันการถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) หรือที่เรียกว่า Benn Act ตามชื่อของ ฮิลารี เบนน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นผู้เสนอและได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้บอริส จอห์นสันกระทำการต่างๆ ให้เกิด No-deal Brexit ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลและไม่ประสงค์ให้เกิด
2
สาระสำคัญของ Benn Act นั้นกำหนดให้บอริส จอห์นสันในฐานะนายกรัฐมนตรีอังกฤษจะต้องมีจดหมายไปขอเลื่อนกำหนดเวลาถอนตัวจาก EU หากไม่สามารถทำให้สภาเห็นชอบ Brexit Deal ได้ภายในวันที่ 19 ตุลาคม ซึ่งบอริส จอห์นสันก็มีจดหมายไปถึงผู้นำของ EU เพื่อขอเลื่อนกำหนดเวลา แต่เขาก็ได้แสดงการคัดค้านการขอเลื่อนโดยการไม่ลงนามในจดหมายฉบับดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า “ความประสงค์ในการขอเลื่อนนั้นเป็นของสภา ไม่ใช่ของเขา!” พร้อมกันนั้น เขาได้แนบจดหมายอีกฉบับไปยัง EU ซึ่งในเนื้อหาระบุว่า เขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเลื่อนกำหนดเวลาดังกล่าวออกไป พร้อมกับลงนามในจดหมายฉบับนี้ เพื่อเป็นการแสดงว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นเจตจำนงของเขา
 
ในขณะเดียวกันบอริส จอห์นสันได้ประกาศต่อสมาชิกสภาว่า เขาจะไม่ย่อท้อต่อความพ่ายแพ้ในการลงมติดังกล่าว แต่จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการให้เกิด Brexit ได้ทันภายในกำหนดวันที่ 31 ตุลาคมให้ได้ พร้อมกับการมีข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับอังกฤษ
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 ตุลาคม) บอริส จอห์นสันได้พยายามที่จะทำให้เกิด Brexit อีกครั้ง โดยการเสนอร่างกฎหมายการถอนตัวจาก EU (the Withdrawal Agreement Bill) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับกำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในสภาเพียง 3 วัน ก่อนจะต้องส่งต่อให้สภาขุนนางพิจารณาและมีขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยสมเด็จพระราชินีนาถ เพื่อที่จะทำให้เกิด Brexit ได้ทันภายในกำหนดเวลาเดิม
 
อย่างไรก็ตาม การที่สภาผู้แทนราษฎรมีระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวที่สั้นมากเพียง 3 วันเท่านั้นในการอภิปรายและลงมติ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว โดย เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้กล่าวว่า การกระทำของบอริส จอห์นสันนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องในระบบรัฐสภา เป็นการกระทำที่ไม่มีเกียรติและไม่เคารพการถ่วงดุลและตรวจสอบใดๆ
นอกจากนั้นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า โดยปกติแล้วจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการพิจารณาร่างกฎหมายสักฉบับอย่างถี่ถ้วน และยิ่งในเรื่อง Brexit ที่มีความสำคัญมาก ยิ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณามากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
 
ในขณะเดียวกันบอริส จอห์นสันได้ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะทำให้เกิด Brexit ภายในกำหนดเวลาเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายรอคอยและจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ สภาผู้แทนราษฎรไม่ควรทำให้เรื่องนี้ต้องช้าหรือเลื่อนอีกต่อไปพร้อมกันนั้น เขาได้ประกาศกร้าวว่า หากแผนการในการเสนอร่างกฎหมายของเขาในครั้งนี้ต้องล้มเหลว และ EU ยินยอมให้มีการเลื่อนกำหนดเวลาออกไป เขาจะผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปให้ได้
1
เมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันอังคารที่ผ่านมา (22 ตุลาคม) สถานการณ์กลับพลิกผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ แม้ว่าในการลงมติขั้นตอนแรก ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับเสียงสนับสนุนด้วยคะแนน 329 ต่อ 299 อันแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาในร่างกฎหมาย Brexit ของบอริส จอห์นสันนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา แต่ในขั้นตอนต่อมาซึ่งเป็นการลงมติในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินการ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการกำหนดเวลาเพียง 3 วันในการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความสำคัญยิ่งนี้ (Timetable Rejected) ทำให้ขณะนี้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงและไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป (“in limbo”)
การพ่ายแพ้ในการลงมติครั้งนี้ของบอริส จอห์นสัน ทำให้เขาต้องประสบความยากลำบากมากขึ้นในการผลักดัน Brexit ให้เกิดขึ้นทันเวลา เพราะหากไม่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ภายใน 3 วันก็จะดำเนินการอื่นไม่ทันวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่บอริส จอห์นสันยืนยันมาตลอดว่าจะต้องออกจาก EU ให้ได้
 
แหล่งข่าวในรัฐบาลแจ้งว่า หาก EU ตกลงขยายกำหนดเวลา Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 ตามที่สภาผู้แทนราษฎรต้องการ บอริส จอห์นสันจะหาหนทางให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น เพื่อจะได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ที่จะขับเคลื่อน Brexit ต่อไปได้ ตามที่เขาประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้บรรดาผู้นำของ EU กำลังพิจารณาเรื่องการขยายกำหนดเวลาอยู่
 
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่บอริส จอห์นสันจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะตามกฎหมาย Fixed-term Parliaments Act การยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็พยายามจะใช้วิธีการนี้ในการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสมาชิกสภาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
สำหรับวิธีการอื่นที่จะมีการเลือกตั้งใหม่คือ การลงมติไม่ไว้วางใจ (a motion of no confidence) ไม่ว่าจะเป็นการยื่นโดยฝ่ายค้านหรือยื่นโดยฝ่ายรัฐบาลเอง ก็จะต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่บอริส จอห์นสันต้องการ เพราะอาจจะทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับ Brexit และสิ่งที่เขาต้องการคือ การเลือกตั้งใหม่ที่จะทำให้พรรครัฐบาลสามารถครองเสียงข้างมากในสภา เพื่อที่เขาจะสามารถผลักดัน Brexit ให้เกิดขึ้นได้
 
นอกจากนั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 ตุลาคม) แม้ว่าบอริส จอห์นสันจะได้นัดพบปะหารือกับ เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เพื่อหาหนทางที่จะไปต่อในเรื่อง Brexit แต่ความพยายามดังกล่าวของบอริส จอห์นสันก็ล้มเหลวอีกครั้ง เมื่อการเจรจาดังกล่าวไม่สามารถตกลงเรื่องใดๆ ได้
ดังนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในตอนนี้ของบอริส จอห์นสันนั้นอยู่ในภาวะคับขันและหาหนทางไปต่อได้ยาก หลายเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาในสภาผู้แทนราษฎร หรือเรื่องที่เขาอยากทำคือการจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด ต่างก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเขาเลย ทำให้สิ่งที่น่าติดตามหลังจากนี้คือ บอริส จอห์นสันจะแก้เกมทางการเมืองอย่างไรให้เขาสามารถทำให้เกิด Brexit ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ตามที่เขาได้เคยประกาศกร้าวไว้ว่า เขายอมตายดีกว่าที่จะขอเลื่อนกำหนดเวลาออกไป
เรื่อง: กันต์ มูลสาร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
-edition.cnn.com/2019/10/22/uk/boris-johnson-still-has-a-mountain-to-climb-intl-gbr/index.html
-www.bbc.com/news/uk-politics-50146182
-www.bbc.com/news/uk-politics-50112924
-www.bbc.com/news/uk-politics-50153910
-www.bbc.com/news/uk-politics-49004486
-www.theguardian.com/politics/2019/oct/23/johnson-and-corbyn-fail-to-agree-timetable-for-paused-brexit-bill
โฆษณา