Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MarketThink
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 ต.ค. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ใครคือผู้ผลิต แซนด์วิช 7-Fresh ใน 7-Eleven
หิวเมื่อไร ก็แวะมา 7-Eleven.. สโลแกนติดหูในอดีต
ซึ่งพอเวลาเราหิว ภาพของกินแรกๆ ที่นึกถึง คือ ข้าวกล่อง ซาลาเปา ฮอตดอก
และแซนด์วิชอบร้อน สารพัดเมนู เช่น แซนด์วิชแฮมชีส, ไส้กรอกชีส, หมูทงคัตสึ ,หมูหยองน้ำสลัด, แซนด์วิชครัวซองต์ทูน่า, แซนด์วิชเค้กคัสตาร์ด
โดยเฉพาะ แซนด์วิชแฮมชีส เมนูโปรดปรานของใครหลายๆ คน
ที่น่าสนใจคือ เมนูแซนด์วิชเหล่านี้ เราคงคิดว่า 7-Eleven ผลิตเอง
เพราะทุกเมนู จะมีตราโลโก้ 7-Fresh
ซึ่งดูยังไง เจ้าของและผู้ผลิตก็น่าจะเป็น 7-Eleven
แต่จริงๆ แล้ว ผู้คิดค้นและผลิตแซนด์วิช ภายใต้แบรนด์ 7-Fresh
เป็นบริษัทที่เริ่มต้นมาจากกิจการ SME เล็กๆ
บริษัทนั้นคือ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดย คุณสมชาย อัศวปิยานนท์
เรื่องราวการเดินทางบนโลกธุรกิจ ของคุณสมชาย น่าสนใจไม่แพ้ผู้ประกอบการชื่อดัง เลยทีเดียว
คุณสมชาย จบด้าน Food Science จาก ม.เกษตรศาสตร์
หลังเรียนจบ เขาก็ได้เข้าทำงานที่โรงงานผลิตอาหาร เป็นเวลาเกือบ 10 ปี
แต่ด้วยความอยากสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา และต้องการเจอความท้าทายใหม่ๆ
เขาจึงตัดสินใจลาออกในวัยสามสิบต้นๆ
โดยร่วมกับเพื่อน ตั้งธุรกิจอาหารกล่องแช่แข็ง ภายใต้แบรนด์ “สราญใจ”
และใช้คอนโดของเพื่อน เป็นที่ผลิตอาหาร
ซึ่งเงินลงทุนเริ่มแรกคือ 2 ล้านบาท
แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาคิดอยากจะทำ ก็ทำเลย
พวกเขาได้ศึกษาตลาดในต่างประเทศมาอย่างดีก่อนแล้ว ทั้งไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์
1
แล้วได้ข้อสรุปว่า ตลาดอาหารแช่แข็งนั้นเติบโตเร็วมากๆ
เนื่องจากวิถีชีวิตของคนจะเร่งรีบขึ้นเรื่อยๆ ตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง
ทำให้หลายคนไม่มีเวลาทำอาหารกินเอง
ดังนั้นอาหารแช่แข็ง/แช่เย็นตามร้านสะดวกซื้อ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ลูกค้า
พวกเขาจึงเชื่อว่า ยังไงเทรนด์นี้ก็ต้องเกิดขึ้นกับตลาดในประเทศไทยแน่ๆ
1
เมื่อส่วนผสมทั้งหมดรวมกัน ทั้งความรู้ ประสบการณ์ด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยและที่ทำงาน
เงินทุน ข้อมูลตลาดสนับสนุน และความเชื่อ ความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยม
ไม่ต้องดูเฉลย ก็พอเดาได้ว่า เส้นทางธุรกิจนี้ต้องไปได้สวย
1
อย่างไรก็ตาม เขายังลืมใส่อีกส่วนผสมลงไป นั่นคือ จังหวะเวลา..
ซึ่งธุรกิจอาหารกล่องแช่แข็งของคุณสมชายและเพื่อน ไม่รุ่งอย่างที่คิด
ในตอนนั้น สังคมไทยยังไม่พร้อมตอบรับอาหารกล่องแช่แข็ง
เพราะพวกเขาจับธุรกิจนี้เร็วเกินไป
ผู้บริโภคต่างมองว่า ไม่จำเป็น เนื่องจากการดำเนินชีวิตของคนสมัยก่อน ไม่ได้เร่งรีบเหมือนในทุกวันนี้
ไหนจะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่าง ไมโครเวฟ หรือร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ที่ยังไม่แพร่หลาย
เรื่องทั้งหมดเลยทำให้ ธุรกิจของคุณสมชาย ไม่สมหวังตามคาด
ระยะเวลา 10 ปีแรกของธุรกิจ ขาดทุนมาโดยตลอด
สุดท้าย เขาก็ต้องจำใจขายธุรกิจนี้ให้กลุ่มนายทุนคนอื่น..
แต่ที่น่าสนใจคือ ระหว่างที่ทำธุรกิจอาหารกล่องแช่แข็ง
คุณสมชาย เคยร่วมมือกับกลุ่มนารายณ์ ตั้งบริษัท นารายณ์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด
เพื่อผลิตข้าวกล่องแช่แข็งแบรนด์ Ezygo ส่งเข้า 7-Eleven ด้วย
หลังจากขายธุรกิจไปแล้ว คุณสมชายก็ทำสารพัดธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นขายปลาร้าผง ขายไก่ทอด และอีกสารพัดเมนู แต่ก็ล้มเหลวเช่นเคย
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเขาก็ได้มาพบกับความหวังใหม่ ในธุรกิจเบเกอรี
เนื่องจากเห็นว่า เบเกอรีทำง่ายกว่าอาหารแช่แข็ง และผู้บริโภคน่าจะเต็มใจซื้อมากกว่า
เขาจึงเริ่มใหม่อีกครั้ง ด้วยการก่อตั้งบริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด
ดำเนินธุรกิจผลิตเบเกอรีส่งเข้า 7-Eleven โดยเฉพาะ
เพราะมองว่า 7-Eleven มีช่องทางการจำหน่ายที่มีศักยภาพ และครอบคลุมทั่วประเทศ
บริษัทใช้เวลาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถึง 2 ปี
จนในที่สุด ก็คิดค้นนวัตกรรม “แซนด์วิชอบร้อน” ได้สำเร็จ
ซึ่งบริษัท ร่วมมือกับทาง 7-Eleven เพื่อผลิตเบเกอรีและแซนด์วิช ภายใต้แบรนด์ “7-Fresh”
ส่งขายผ่านร้าน 7-Eleven
แซนด์วิชกึ่งสำเร็จรูปบรรจุซอง ที่เราคุ้นเคยกันดี
เพียงแค่อุ่นด้วยไมโครเวฟเพื่อทาน
สะดวก สดใหม่ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน
1
ผลการดำเนินงานของ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด
ปี 2559 มีรายได้ 2,814 ล้านบาท กำไร 45 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 3,022 ล้านบาท กำไร 76 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 3,164 ล้านบาท กำไร 79 ล้านบาท
1
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตทั้งหมด 4 โรงงาน มีกำลังการผลิต 600,000 ชิ้นต่อวัน
โดยผลิตและส่งเบเกอรีเข้า 7-Eleven มากกว่า 50 รายการ
ซึ่งบริษัทผลิตแซนด์วิชให้ 7-Eleven เป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามลดการพึ่งพารายได้จากการผลิตสินค้าให้คนอื่น หรือที่เรียกว่า OEM
โดยแตกไลน์ธุรกิจ หันมาพัฒนาสินค้าตัวเอง
ซึ่งตอนนี้มีแบรนด์ “เคลเซ่” ขนมบัตเตอร์ฟิน
1
และจะขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ผ่านตัวแทนจำหน่ายในแต่ละประเทศ ก่อนจะต่อยอดไปยังตลาดยุโรป
รวมถึงวางเป้าหมายในอนาคต ว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
กรณีศึกษาทั้งหมดของคุณสมชาย ให้ข้อคิดที่ว่า
การจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ไม่ใช่เรื่องง่าย
ซึ่งทุกช่วงเวลาของชีวิต เราต้องพบเจอกับอุปสรรค และความผิดหวังนานา
ดังนั้น การมีใจที่มุ่งมั่น ไม่คิดยอมแพ้
แล้วนำความผิดพลาดในอดีต มาเป็นบทเรียน แก้ไขให้ดีขึ้น
1
ถ้าก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ไปได้ เราก็อาจถึงเส้นชัย และสมหวัง เหมือนอย่างคุณสมชาย..
และอีกข้อคิด ก็คือ ในโลกธุรกิจ จังหวะเวลาสำคัญมาก
ถึงแม้จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน จับถูกสินค้า ถูกตลาด และถูกที่
แต่ถ้าผิดเวลา ผลลัพธ์ที่ได้ ก็อาจกลายเป็นศูนย์..
References
-
http://kelsaythailand.com/product.php
-
https://www.thansettakij.com/content/101414
-
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_282236
-
https://www.dailynews.co.th/article/569081
-
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/719880
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
41 บันทึก
173
7
40
41
173
7
40
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย