25 ต.ค. 2019 เวลา 02:17 • การศึกษา
เปิดสภาพความเป็นอยู่ภพภูมิเบื้องสูงอันละเอียดและปราณีตของ
"พรหมโลก" ดินแดนแห่งผู้สร้างบุญด้วยสมาธิ
1
หลังจากที่ผมได้เคยนำเสนอบทความในเรื่องราว ที่อยู่อันเป็นทิพย์อย่าง "สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น" ไปแล้วในบทความก่อนๆที่เคยนำเสนอมา วันนี้ผมจะพาทุกท่านท่องไปในภูมิแห่งผู้สร้างบุญจากสมาธิ นั่นก็คือ "พรหมโลก" หรือพรหมภูมิ ภพที่สูงกว่าชั้นเทวดาทั้งหลายของสวรรค์ ที่สถิตของพรหมนั้นมีทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นไปติดตามอ่านกันได้เลยครับ
"บทความเกี่ยวกับ "สวรรค์ ๖ ชั้น สำหรับท่านใดที่ยังไม่เคยอ่าน
"เกริ่นนำ"
พรหมโลกหรือพรหมภูมิเป็นภูมิของพรหมที่มีรูปเป็นทิพย์ ซึ่งเสวยสุขอันเกิดจากฌานอยู่ในปราสาทแก้ว แตกต่างกันตามกำลังฌาน โดยรูปพรหมชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 11 เป็นผลจากสมถภาวนา ส่วนชั้นที่ 12 ถึงชั้นที่ 16 เป็นผลจากวิปัสสนาภาวนา ลักษณะของพรหมเป็นบุรุษเพศทั้งสิ้น หน้าตางดงาม รัศมีกายส่องสว่างยิ่งนัก อิ่มทิพย์ด้วยฌานสมาบัติ จึงไม่ต้องกินอาหาร
รูปพรหม หรือ รูปาวจรภูมิ คือ ชั้นที่พระพรหมผู้วิเศษมีรูป หากแต่เป็นรูปทิพย์ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถ มองเห็นได้ จักเห็นได้ก็โดยทิพยวิสัยเท่านั้น ประกอบด้วยวิมาน 16 ชั้น
ชั้นที่ 1 - ชั้นที่ 3 รวมเรียกว่า ปฐมฌานภูมิ ด้วยพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยปฐมฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น 3 เขต
ชั้นที่ 4 - ชั้นที่ 6 รวมเรียกว่า ทุติยฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยทุติยฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น 3 เขต
ชั้นที่ 7 - ชั้นที่ 9 รวมเรียกว่า ตติยฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยตติยฌาน ทั้งสามชั้นนี้ ความจริงตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่เป็น 3 เขต
ตั้งแต่ชั้นที่ 10 ขึ้นไป รวมเรียกว่า จตุตถฌานภูมิ ด้วยเหล่าพระพรหมในชั้นนี้บรรลุด้วยจตุตถฌาน
ชั้นที่ 10-11 ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ระดับเดียวกัน แต่แยกสถานที่กันอยู่ และมีระยะห่างไกลกันมาก
หากแต่เฉพาะเหล่าพระพรหมในชั้นที่ 12 – 16 เรียกว่า ปัญจสุทธาวาส หรือ สุทธาวาสภูมิ อันเป็นชั้นที่เหล่าพระพรหมในชั้นนี้ ต้องเป็นพระพรหมอริยบุคคลในพุทธศาสนา ระดับอนาคามีอริยบุคคล เท่านั้น ต่างจาก 11 ชั้นแรก แม้พระพรหมทั้งหลายจะได้สำเร็จฌานวิเศษเพียงใด ก็อุบัติในสุทธาวาสภูมิไม่ได้อย่างเด็ดขาด สุทธาวาสภูมินี้มีอยู่ 5 ชั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ และตั้งอยู่เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ตามลำดับภูมิไม่ตั้งในระดับเดียวกันเช่นชั้นแรกๆที่ผ่านมา
3
พรหมโลก3 ชั้นแรกนี้เป็นพรหมผู้เจริญสมถภาวนาระดับปฐมฌาน ตั้งอยู่ในระดับพื้นเดียวกัน แต่แยกอาณาเขตตามกำลังฌาน
1
"พรหมปาริสัชชา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 1 ใน 3 มหากัป พรหมโลกชั้นที่ 1 อยู่ห่างไกลจากโลกมนุษย์มากนัก เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้เป็นบริวารของท้าวมหาพรหม
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้เป็นบริวารแห่งท้าวมหาพรหม พรหมโลกชั้นที่ 1 พรหมปาริสัชชาภูมิ เป็นพรหมโลกชั้นแรก เป็นพรหมชั้นล่างสุด ตั้งอยู่เบื้องบนสูงกว่าปรนิมมิตวสวัตตีสวรรค์ขึ้นไปถึง 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ คือไกลจากมนุษยโลกจนไม่สามารถนับได้ ซึ่งหากเอาก้อนศิลาขนาดเท่าปราสาทเหล็ก (โลหปราสาท) ทิ้งลงมาจากชั้นนี้ ยังใช้เวลาถึง 4 เดือนจึงจะตกถึงแผ่นดิน พระพรหมในที่นี้มีคุณวิเศษ โดยเคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ปฐมฌาน ขั้นปริตตะ คือ ขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น เสวยปณีตสุขอยู่ มีความเป็นอยู่อย่างแสนจะสุขนักหนา ตราบจนหมด พรหมายุขัย มีอายุแห่งพรหมประมาณส่วนที่ 3 แห่งมหากัป (1 ใน 3 แห่งมหากัป)
1
"พรหมปุโรหิตา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุครึ่งมหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมซึ่งประเสริฐกว่า มีพรหมสมบัติ ปราสาทวิมาน และรูปร่างที่ใหญ่กว่าพรหมชั้นแรก
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้เป็นปุโรหิต (อาจารย์ใหญ่) ของท้าวมหาพรหม พรหมโลกชั้นที่ 2 พรหมปุโรหิตาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้ทรงฐานะประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม ความเป็นอยู่ทุกอย่างล้ำเลิศวิเศษกว่าพรหมโลกชั้นแรก รัศมีก็รุ่งเรืองกว่า รูปทรงร่างกายใหญ่กว่า สวยงามกว่า พรหมทุกท่านล้วนมีคุณวิเศษ ได้เคยเจริญสมถกรรมฐานจนได้ บรรลุ ปฐมฌาน ขั้นมัชฌิมะ คือขั้นปานกลาง มาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณครึ่งมหากัป
1
"มหาพรหมา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 1 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งท้าวมหาพรหม มีพรหมสมบัติและรูปสมบัติอันประณีตกว่าพรหมโลกสองชั้นแรก
3 ชั้นต่อไปนี้เป็นพรหมผู้เจริญสมถภาวนาระดับทุติยฌาน ตั้งอยู่ระดับพื้นเดียวกัน แต่แยกอาณาเขตตามกำลังฌาน
"ปริตตาภา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 2 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้มีรัศมีน้อยกว่าพรหมที่มีกำลังฌานสูงกว่าตน
1
"อัปปมาณาภา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 4 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้มีรัศมีประมาณมิได้
"อาภัสสรา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 8 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้มีรัศมีสุกปลั่ง
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีเป็นประกายรุ่งเรือง พรหมโลกชั้นที่ 6 อาภัสสราภูมิ เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญ สมถกรรมฐานจนได้บรรลุ ทุติยฌาน ขั้นปณีตะ คือ ประณีตสูงสุดมาแล้ว มีอายุแห่งพรหมประมาณ 8 มหากัป
1
"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังว่า เทวดาชั้นอาภัสสรา มีอายุยืน มีวรรณะมากด้วยความสุข เธอมีความ ปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เราเมื่อตายไปแล้วพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นอาภัสสรา เถิด เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้มรรค นี้ปฏิปทา เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น อาภัสสรา ฯ..." (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๗๖ ข้อที่ ๗๒๖)
พรหมโลก 3 ชั้นต่อไปนี้เป็นพรหมผู้เจริญสมถภาวนาระดับตติยฌาน อยู่ท่ามกลางอากาศ และแยกอาณาเขตตามกำลังฌาน
"ปริตตสุภา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 16 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้มีรัศมีงามน้อย
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีสง่างามน้อยกว่าชั้นพรหมที่สูงกว่าตน พรหมโลกชั้นที่ 7 ปริตตสุภาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย คือน้อยกว่าพระพรหมในพรหมโลกที่สูงกว่าตนนั่นเอง ได้เคยเจริญภาวนากรรม บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุตติยฌาน ขั้นปริตตะ คือขั้นสามัญมาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 16 มหากัป
"อัปปมาณสุภา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 32 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้มีรัศมีงามประมาณมิได้
"สุภกิณหา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 64 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้มีรัศมีงามกระจ่างจ้า
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีรัศมีสง่างามสุกปลั่งทั่วสรรพางค์กาย พรหมโลกชั้นที่ 9 สุภกิณหาภูมิ ที่อยู่ของพระพรหม ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมี ที่ออกสลับ ปะปนกันอยู่เสมอเป็นนิตย์ ทรงรัศมีนานาพรรณ เป็นที่น่าเพ่งพิศทัศนาได้เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุ ตติยฌาน ขั้นปณีตะ คือขั้นประณีตสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 64 มหากัป
"....ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่า หนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพสุภกิณหกะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔...." (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๑๗๘ ข้อที่ ๔๘๐)
พรหมโลก 3 ชั้นต่อไปนี้เป็นพรมผู้เจริญสมถภาวนาระดับจตุตถฌาน ตั้งอยู่ระดับเดียวกันท่ามกลางอากาศ เมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมโลกตั้งแต่ชั้นที่ 10 ขึ้นไปจะไม่ถูกทำลายลงไปเหมือนอย่างภูมิที่อยู่ต่ำกว่านี้
"เวหัปผลา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 500 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้เสวยผลแห่งกุศลกรรมที่ตนทำไว้ได้อย่างเต็มที่ ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้รับผลแห่งฌานอันไพบูลย์ พรหมโลกชั้นที่ 10 เวหัปผลาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหม ทั้งหลาย ผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 500 มหากัป
อนึ่งผลแห่งฌานกุศล ที่ส่งให้ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก 9 ชั้นแรกนั้น ไม่เรียกว่า มีผลไพบูลย์เต็มที่ ทั้งนี้ก็โดยมี เหตุผลตามสภาวธรรมที่เป็นจริง ดังต่อไปนี้
เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยไฟนั้น พรหมภูมิ 3 ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยน้ำนั้น พรหมภูมิ 6 ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปด้วย
เมื่อคราวโลกถูกทำลายด้วยลมนั้น พรหมภูมิทั้ง 9 ชั้นแรก ก็ถูกทำลายไปไม่มีเหลือเลย
"อสัญญีสัตตา"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 500 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งอสัญญีพรหม ซึ่งเป็นพรหมที่มีแต่รูปร่าง ไม่มีจิตและเจตสิก เรียกอีกอย่างว่า “พรหมลูกฟัก”
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้หาสัญญามิได้ (คือมีแต่รูป) พรหมโลกชั้นที่ 11 อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้อุบัติเกิดด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคภาวนา เสวยสุขอัน ประณีตนักหนา เคยเจริญภาวนากรรมบำเพ็ญสมถกรรมฐาน จนได้สำเร็จจตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดสถิตย์อยู่ในปราสาท แก้ววิมานอันมโหฬารกว้างขวาง มีบุปผชาติประดับประดาเรียบ ไม่รู้แห้งเหี่ยว มีหน้าตาสวยสง่าอุปมาดังรูปพระปฏิมากรพุทธรูปทองคำขัดสี แต่มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางองค์นั่ง บางองค์นอน บางองค์ยืน มีอิริยาบถใดก็ เป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่เคลื่อนไหว จักษุทั้งสองก็มิได้กะพริบเลย สถิตย์เสวยสุขเป็นประดุจรูปปั้น อยู่อย่างนั้นชั่วกาล มีอายุแห่งพรหมประมาณ 500 มหากัป
1
พรหมโลก 5 ชั้นสุดท้ายอยู่ท่ามกลางอากาศตามลำดับชั้นขึ้นไป และเป็นที่อยู่ของพรหมอริยบุคคลระดับ "อนาคามี" เท่านั้น
"อวิหาสุทธาวาส"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 1,000 มหากัป เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์ของพระอนาคามีผู้มีสัทธินทรีย์ (ศรัทธา) แก่กล้า
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติแห่งตน สูงขึ้นไปจากอสัญญีสัตตาภูมิประมาณ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลที่ไม่ละทิ้งสมบัติ เป็นผู้มีวาสนาบารมี กิเลสธุลีเหลือติดอยู่ในจิตสันดานน้อยมาก ด้วยได้เคยเป็นสาวกแห่งพระพุทธองค์ พบพระบวรพุทธศาสนาแล้วมีปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร อุตสาหะจำเริญ วิปัสสนากรรมฐาน จนยังตติยมรรคให้ เกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลจะสถิตย์อยู่จนอายุครบกำหนด ไม่จุติเสียก่อน ต่างจากพระพรหมในสุทธาวาสภูมิที่เหลืออยู่อีก 4 ภูมิ คือพระพรหมในอีก 4 สุทธาวาสภูมิที่เหลือ ซึ่งอาจมีการจุติหรือนิพพานเสียก่อนอายุครบกำหนด มีอายุแห่งพรหมประมาณ 1000 มหากัป
"อตัปปาสุทธาวาส"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 2,000 มหากัป เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์ของพระอนาคามีผู้มีวิริยินทรีย์ (วิริยะ) แก่กล้า เข้าฌานอยู่เสมอ จิตใจจึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น ไม่มีความเดือดร้อน
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร สูงขึ้นไปต่อจากอวิหาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้ละซึ่งเป็นกิเลสอันทำให้ จิตเดือดร้อน ทั้งทางกาย วาจาและใจเลย ย่อมเข้าฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมซึ่งเป็นกิเลสอันทำให้ จิตเดือดร้อนไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ฉะนั้นจิตใจของท่านเหล่านั้นจึงมีแต่สงบเยือกเย็นได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีวิริยินทรีย์ คือมี วิริยะแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 2000 มหากัป
"สุทัสสาสุทธาวาส"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 4,000 มหากัป เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์ของพระอนาคามีผู้มีสตินทรีย์ (สติ) แก่กล้า เห็นสภาวธรรมได้ชัดแจ้ง
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีความเห็น (สภาวธรรม) อย่างแจ่มแจ้ง สูงขึ้นไปต่อจากอตัปปาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้มีความแจ่มใส สามารถเห็นสภาวธรรมได้โดยแจ้งชัดเพราะบริบูรณ์ ด้วยประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ธัมมจักษุและปัญญาจักษุ จึงเห็นสภาวธรรมได้แจ่มใส ชัดเจน ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีสตินทรีย์ คือมี สติแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 4000 มหากัป
"สุทัสสีสุทธาวาส"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 8,000 มหากัป เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์ของพระอนาคามีผู้มีสมาธินทรีย์ (สมาธิ) แก่กล้า เห็นสภาวธรรมได้ชัดแจ้งยิ่งกว่าพรหมชั้นสุทัสสาภูมิ
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้มีความเห็น (สภาวธรรม) อย่างแจ่มแจ้งยิ่ง สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสาสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามี ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า มีประสาทจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้ง 3 นี้มีกำลังแก่ กล้ากว่าพระพรหมในสุทัสสาสุทธาวาสภูมิ ทำให้ท่านมีความเห็นในสภาวธรรมได้ชัดเจนแจ่มใสยิ่ง ท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยังตติยมรรค ให้บังเกิดในขันธสันดานได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล และในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มี สมาธินทรีย์ คือมีสมาธิแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น มีอายุแห่งพรหมประมาณ 8000 มหากัป
"อกนิฏฐาสุทธาวาส"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 16,000 มหากัป เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์ของพระอนาคามีผู้มีปัญญินทรีย์ (ปัญญา) ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อไป
ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ทรงคุณพิเศษไม่มีใครเป็นรอง สูงขึ้นไปต่อจากสุทัสสีสุทธาวาสภูมิขึ้นไปอีกประมาณ ได้ 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ เป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระพรหมอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีวาสนาบารมี มีกิเลสธุลีเหลือติดอยู่น้อยนักหนาโดยท่านเหล่านี้เคยเป็นพระสาวกแห่งพระพุทธองค์ อุตสาหะจำเริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถยัง ตติยมรรคให้บังเกิดในขันธสันดาน ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลและในขณะที่เจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญินทรีย์ คือมี ปัญญาแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น ฉะนั้น ท่านพระพรหมอนาคามีบุคคลที่อุบัติเกิดในอกนิฏฐพรหมโลกนี้ จึงมีคุณสมบัติวิเศษยิ่งกว่า บรรดาพระพรหมทั้งสิ้นในพรหมโลกทั้งหลายรวมทั้งสุทธาวาสพรหมทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว มีอายุแห่งพรหมประมาณ 16000 มหากัป
พรหมโลกนี้ มีพระเจดีย์เจ้าองค์สำคัญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นพรหมโลกที่เคารพนับถือพระบวรพุทธศาสนา องค์หนึ่งมีนามว่า ทุสสะเจดีย์ ซึ่งเป็นที่บรรจุผ้าขาวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จออกผนวช โดยพระพรหมทั้งหลายได้นำบริขารและไตรจีวรลงมาถวาย และพระองค์ได้ถอดผ้าขาวที่ทรงอยู่ยื่นให้ พระพรหมจึงรับเอาและนำมาบรรจุไว้ยังเจดีย์ที่นฤมิตขึ้นนี้ และเป็นที่สักการบูชาของพระพรหมทั้งหลายในปัจจุบัน
พระพรหมอนาคามีทั้งหลายในสุทธาวาสพรหมแรกทั้ง 4 หากยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน พอสิ้นพรหมายุขัย ก็ต้องจุติจากสุทธาวาสพรหมภูมิที่ตนสถิตอยู่มาอุบัติในชั้นที่ 16 นี้ เพื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานโดยทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมินี้ เป็นพรหมภูมิที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ อย่างประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพรหมโลกชั้นอื่นๆ ทั้งหมด
พรหมในชั้นอรูปพรหมทั้ง 4 มีอายุยาวนานมาก เป็นพรหมที่ไม่มีรูปร่าง มีแต่จิตและเจตสิก เพราะทำสมถภาวนาจนได้ฌานขั้นสูง ซึ่งอยู่ในภาวะที่ปรารถนาความไม่มีรูป เพราะเห็นโทษภัยของอายตนะทั้ว 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
"อากาสานัญจายตนะ"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 20,000 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้ยึดเอาภาวะมีอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์
"วิญญาณัญจายตนะ"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 40,000 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้ยึดเอาภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์
"อากิญจัญายตนะ"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 60,000 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้ยึดเอาภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
"เนวสัญญานาสัญญายตนะ"
พรหมโลกชั้นนี้มีอายุ 84,000 มหากัป เป็นที่อยู่แห่งพรหมผู้ไม่มีสัญญาอย่างหยาบ มีแต่สัญญาอย่างละเอียดเท่านั้น เรียกว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
"สมาธิระดับต่างๆ"
สมาธิระดับ (รูปสัญญา)
- "ปฐมฌาน"
เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.
- "ทุติยฌาน"
เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.
- "ตติยฌาน"
เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.
- "จตุตถฌาน"
เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
สมาธิระดับ (อรูปสัญญา)
สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุด มิได้ เพราะ
ล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆะสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง
นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
"วิญญาณัญจายตนะ" มีอารมณ์ว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการ
ทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ ท่านยังไม่เห็นอัตตาใด ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็นอัตตานั้น ท่านผู้เจริญ
เพราะกายแตก อัตตานั้นแล ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเลิกเกิด
อัตตานี้ จึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความ
เลิกเกิด ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ อย่างนี้.
"อากิญจัญญายตนะ" มีอารมณ์ ว่าไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง
ท่านยังไม่รู้ ท่านยังไม่เห็นอัตตาใด ข้าพเจ้ารู้ข้าพเจ้าเห็นอัตตานั้น ท่านผู้เจริญ เพราะกายแตก
อัตตานั้นแล ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเลิกเกิด อัตตานี้ จึงเป็น
อันขาดสูญอย่างเด็ดขาด พวกหนึ่ง ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิด
ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ อย่างนี้.
บุคคลย่อมเข้าถึงซึ่ง "เนวสัญญานาสัญญายตนะ"อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗
เพราะล่วงเสียซึ่ง"เนวสัญญานาสัญญายตนะ"โดยประการทั้งปวง บุคคลย่อมเข้าถึง
"สัญญาเวทยิตนิโรธ" (สมาธิระดับสุดท้ายของสมาธิทั้งหมด)อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่แปด ฯ
ขอบคุณข้อมูล : https://goodlifeupdate.com
ภาพประกอบ : Google
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
โฆษณา