26 ต.ค. 2019 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
จากความตาย..สู่กษัตริย์นักปฏิรูป (รัชกาลที่ 5)
ทุกคนรู้หรือไม่ว่า "รัชกาลที่ 5 เกือบสวรรคตในเมื่อยังทรงพระเยาว์?"
ควันหลงวันปิยมหาราช.. อันที่จริงแล้วผู้เขียนตั้งใจจะจับปากกาเขียนบทความนี้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม โดยมิได้หวังว่าจะให้เป็นควันหลงเสียเท่าไรนัก..แต่ด้วยตารางเวลาที่ไม่ลงตัวจึงจำต้องเขียนบทความที่เป็น "ควันหลง" อีกครา..
ทุกคนรู้ความหมายของคำว่า "พระปิยมหาราช" กันหรือไม่ ?
ความหมายของคำดังกล่าวคือ "พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์" โดยในวโรกาสที่รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ครบ 40 พรรษา ในปีพ.ศ. 2451 ประชาชนชาวสยาม (ในขณะนั้น) ได้ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายในขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ และถวายพระราชสมัญญานามว่า "พระปิยมหาราช" นั่นเอง..
แต่การนำเสนอถึงความหมายของคำว่า "พระปิยมหาราช" ไม่ได้เป็นเป้าหมายของไม้ขีดไฟในวันนี้..
โดยในวันนี้ไม้ขีดไฟจะพาทุกคนไปพบกับเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของรัชกาลที่ 5 ในหัวข้อ "จากความตาย..สู่กษัตริย์นักปฏิรูป"
_(1)_"รัชกาลที่ 5" หรือ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 และเสด็จสวรรคต 23 ตุลาคม พ.ศ.2453
_(2)_พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงคาดหวังว่าจะมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 4 (ซ้าย) และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 5 (ขวา) ภาพจาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_38920
_(3)_แต่ทว่า ! ครั้นเมื่อทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงทางภาคใต้ ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (18 สิงหาคม พ.ศ.2411) ทั้งสองพระองค์กลับทรงพระประชวรด้วยโรคมาลาเรีย ..
_(4)_ภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังพระนครไม่นาน รัชกาลที่ 4 ก็ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 นับเป็นเวลาเพียงแค่เดือนกว่า ๆ
_(5)_ในส่วนของรัชกาลที่ 5 (รัชทายาทในขณะนั้น) มีเพียงพระชนม์ 15 พรรษา ซึ่งพระพลานามัยก็ทรงอ่อนแอมากจนถึงขั้นที่ว่า "น่าเป็นห่วง"..
การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ณ ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาพจาก: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1610
_(6)_แต่สุดท้ายรัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงขึ้นและรอดพ้นจากพิษไข้มาลาเรียได้ในที่สุด ในด้านการปกครองหลังจากที่รัชกาลที่ 4 ทรงเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ก็ทรงเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะในปีพ.ศ.2416..
_(7)_รัชกาลที่ 5 ได้ทรงกล่าวถึงความเศร้าโศกในช่วงที่พระองค์ท่านกำลังประชวรเอาไว้ว่า "ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ไม่มีมารดา... ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือ ทูลกระหม่อม (พระราชบิดา) เสด็จสวรรคตในขณะนั้น เปรียบเหมือนคนศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์" จากพระบรมราชาโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ภาพจาก: th.wikisource.org
_(8)_เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว พระองค์ท่านก็ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ นานัปการ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทรงยกเลิกระบบไพร่และทาส, ทรงยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย (การหมอบกราบ), ทรงปฏิรูปการปกครองโดยหันมาใช้การบริหารราชการรูปแบบใหม่ ที่มีการแบ่งงานด้านต่าง ๆ ออกเป็นกระทรวง อีกทั้งยังทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเกษตร การอนามัย การสาธารณูปโภค มีการสร้างถนน ทางรถไฟ การใช้โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
_(9)_ความทุ่มเท ความเก่ง ความฉลาด และความกล้าของรัชกาลที่ 5 ตลอดรัชสมัยนั้น ได้ส่งผลทำให้ประเทศและประชาชน อยู่ดีกินดีและปราศจากภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ ..
1
_(10)_พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย หรือ สยาม (ในขณะนั้น) ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนอย่างยิ่งของคนไทยมาจวบทุกวันนี้ ..
1
กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_35971
** จากที่ได้กล่าวไปทั้งหมดคงทำให้ทุกคนเห็นถึงความยากลำบากตั้งแต่พระองค์ท่านทรงพระเยาว์ จนกระทั่งกลับมาเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ดังหัวเรื่องของบทความนี้ที่ว่า "จากความตาย..สู่กษัตริย์นักปฏิรูป" นั่นเอง ..
*** หากชอบอย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้เพจไม้ขีดไฟด้วยนะครับ ...ผู้เขียนจะพยายามหาเวลาเพื่อกลั้นกรองบทความดี ๆ แบบนี้มาให้ผู้อ่านทุกคนอ่านกันอีกเรื่อย ๆ ครับ .. ขอบคุณครับ
___รายการอ้างอิง___
- ศิลปวัฒนธรรม. (2562). ๒๓ ตุลาคม “วันปิยมหาราช” พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์. จาก: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_12345
- David K. Wyatt. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป แปลจาก Thailand: A short history โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, กาญจนี ละออกศรี, ชนิดา เผือกผสม, ภาวรรณ เรืองศิลป์, วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, อภิราดี จันทร์แสง, กัณฐิกา ศรีอุดม, พีรศรี โพวาทอง, วิลลา วิลัยทอง, มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ และ โสภา ชานะมูล โคล. กรุงเทพฯ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- ชัยธวัช ตุลาธน (บรรณาธิการ). (2557). พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน. หน้า 5.
โฆษณา