27 ต.ค. 2019 เวลา 13:07 • ความคิดเห็น
2050 สหรัฐอยู่ไหน?
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
สมัยก่อนตอนที่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ผมชอบอ่านเรื่องยูนิคอร์นที่เป็นม้ามีเขาในนิยายปรัมปราของพวกฝรั่งมังค่า
ทว่าในปัจจุบันทุกวันนี้ ยูนิคอร์นไม่ได้หมายถึงม้ามีเขาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ‘ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ’ หรือ 3 หมื่นล้านบาท
เดี๋ยวนี้ยังมีคำว่า ‘เดเคคอร์น’ ท่านที่เก่ง prefix ก็คงนึกออกนะครับ deca- หมายถึง 10
‘เดเคคอร์น’ ก็คือ ‘ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ’ หรือ 3 แสนล้านบาท
1
การสำรวจของสถาบันวิจัยของจีนพบว่า ตอนนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นมากถึง 206 บริษัท สหรัฐอเมริกามี 203 บริษัท อินเดีย 21 บริษัท
ส่วนอังกฤษมีจำนวนสตาร์ทอัพยูนิคอร์นมากเป็นอันดับ 4
เยอรมนี อันดับ 5
อิสราเอล อันดับ 6
เกาหลีใต้ อันดับ 7
อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส และบราซิล อันดับ 8
ที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์ อันดับ 12 และฟิลิปปินส์ อันดับ 15
สตาร์ทอัพยูนิคอร์นมูลค่าสูงสุดคือ Ant Financial บริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ป (1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.5 ล้านล้านบาท)
รองลงมาคือ Bytedance บริษัทแม่ของ TikTok (7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.25 ล้านล้านบาท)
อันดับ 3 คือ Didi ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไรด์-แชริ่ง (5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.65 ล้านล้านบาท) ทั้ง 3 บริษัทนี้เป็นของจีน
แม้สตาร์ทอัพยูนิคอร์นของสหรัฐจะได้อันดับ 4 แต่มูลค่าบริษัทก็ห่างจากของจีนเยอะครับ บริษัทซอฟต์แวร์ Infor (5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท) และบริษัทผลิตบุหรี่ไฟฟ้า Juul Labs ได้อันดับ 5 (4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.44 ล้านล้านบาท)
1
นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ให้กับมนุษย์ที่เกิดขึ้นทุกวันในปัจจุบัน อยู่ที่จีนกับสหรัฐเกือบหมด
2
ผมไล่ดูลิสต์บริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์นของโลก มีแต่บริษัทจีนและแทรกด้วยบริษัทสหรัฐ นานๆ จะเจอบริษัทอินเดีย
ส่วนบริษัทเยอรมนีและญี่ปุ่นที่เคยเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมไม่ค่อยโผล่มาให้เห็น
ประเทศที่มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่ผมนั่งดูอยู่นี้ ยังมีสวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ สวีเดน บราซิล อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ลักเซมเบิร์ก เอสโตเนีย มอลตา อิสราเอล ไอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ โคลัมเบีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์
ต้องยอมรับว่า โลกใบที่เรากำลังใช้ชีวิตกันอยู่นี้ ไม่ใช่โลกของฝรั่งมังค่าอีกต่อไปแล้ว
แต่เป็นโลกของจีนและเอเชีย
แม้แต่รัสเซียที่แต่ก่อนง่อนชะไรเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี
วันนี้รัสเซียก็เหมือนกับบูร์กินาฟาโซ โตโก รวันดา บุรุนดี ฯลฯ ที่ไม่มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นโผล่มาให้เห็นสักบริษัท
สมัยก่อนตอนที่ผมยังหนุ่ม ศาสตราจารย์จง เผิงหรง เรียกเศรษฐกิจจีนในยุคของเติ้งเสี่ยวผิงว่า ‘เศรษฐกิจหมาน้อย’ ที่เน้นการใช้แรงงานและผลิตในปริมาณมาก
แต่ละแห่งผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียวเพื่อให้เกิดความชำนาญ อย่างพวกยาดม ยาอม ยาหม่อง มีดพก กระจกเงา กระเป๋าหิ้ว แว่นตา นาฬิกา ฟันปลอม ฯลฯ
ผลิตในปริมาณมากแล้วส่งออกไปขายทั่วโลกในราคาถูก
ทว่าในปัจจุบัน จีนไม่ได้ยึดเศรษฐกิจหมาน้อยแล้วครับ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จีนตั้งเป้ายุทธศาสตร์ 10 ปี Made in China 2025 ที่ต้องพ้นจากการเน้นใช้แรงงานและผลิตสินค้าราคาถูกเป็นผู้นำอุตสาหกรรมของโลกด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ก้าวหน้า
ที่อยู่ใต้สมองของผู้ผลิตชาวจีนในปัจจุบันทุกวันนี้คือ Smart Factory หรือโรงงานอัจฉริยะ
หลายปีที่ผ่านมา ผมไปเยือนโรงงานต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายแห่ง หลายมณฑล
ไปที่ไหนก็ต้องมีแผนกวิจัยและพัฒนา ทุกโรงงานจะโชว์หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยตัวเลข โรงงานจีนพูดกันแต่เรื่องการใช้พลังงานใหม่ วัตถุดิบใหม่ ฯลฯ
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจีนร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนจีนเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันในระดับที่สูงมาก
คอยดูเถิดครับ ‘ยุทธศาสตร์ AI 2030’ และ ‘ความฝันของจีน 2050’ ซึ่งเป็นความฝันในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนจะยิ่งใหญ่กว่านี้มาก
ถึงวันนั้น เราคงต้องใช้มือแหวกพงหญ้าเพื่อค้นดูว่า
“สหรัฐอยู่ไหน?”.
โฆษณา