28 ต.ค. 2019 เวลา 14:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กักโรคปลา
ความรู้ที่คนรักปลาต้องเข้าใจ
เรื่องของการ "กักโรคปลา" เราทุกคนเวลาซื้อปลาสวยงามมาใหม่ เราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องกักโรคก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก สำหรับปลาที่ต้องเลี้ยงรวมกันในบ่อปลาหรือตู้ปลา ย้ำนะครับ! จะสำคัญมากถ้าเราเลี้ยงรวมกัน การกักโรค คือ การแยกปลาใหม่กับปลาเก่าออกจากกันช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราต้องทำให้ปลาใหม่ปรับสภาพ ความเป็นอยู่ต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะอยู่บ้านหลังใหม่ แล้วหลังจากกักโรคเสร็จเราก็สามารถนำมาเลี้ยงรวมกันได้เลย การกักโรคจึงเน้นย้ำไปในปลาจำพวกเลี้ยงรวมกันซะมากกว่าเป็นส่วนใหญ่
ประโยชน์ของการกักโรค :
การกักโรคจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างปลาเก่าที่เลี้ยงไว้อยู่แล้วกับปลาใหม่ที่พึ่งซื้อมาล่าสุด การกักโรคปลายังช่วยป้องกันความเสียหายต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดขึ้นตามมาภายหลัง ไม่ว่าจะเกิดโรคต่าง ๆ ,ปลามีแผลตามตัว ,มีแบคทีเรียหรือเชื้อปรสิตติดตามตัวปลาและยังส่งผลให้ปลาตัวอื่นติดโรคตามกันไปอีก สุดท้ายกรณีที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นก็ คือ "ปลาตายยกบ่อหรือยกตู้" ส่วนความเสียหายรองลงมาคือ "เงินที่ไปซื้อปลาตัวนั้นมา"
สิ่งสุดท้ายที่ตามมาหลังจากเสียทั้ง 2 อย่างไปแล้วและเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนเลี้ยงปลาสวยงามหรือคนที่เคยเลี้ยงปลาสวยงามมาก่อน นั่นก็คือ "อาการหมดกำลังใจในการเลี้ยงปลาต่อ" การกักโรคเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากและโคตรสำคัญ!!! การกักโรคยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเราว่า "ปลามีชีวิตรอดแน่นอนหลังจากปล่อยเลี้ยงรวม" แถมยังเพิ่มทักษะและความชำนาญในการรักษาปลาของเราให้มากยิ่งขึ้นอีก เพราะปลาเป็นสิ่งมีชีวิต ปลาก็เปรียบเหมือนมนุษย์เรานี่แหละ ก็มีช่วงปกติและช่วงเจ็บ ไข้ได้ป่วยไม่สบายเหมือน ๆ กัน
อุปกรณ์สำหรับการกักโรค :
• เกลือทะเลเม็ด
• อุปกรณ์ในการวัดความเค็ม (เครื่องวัดเกลือแบบต่าง ๆ)
• ยาฆ่าปรสิต เช่น ตัวยาพราซี่ควอนเทล (PRAZI , PARACIDE)
• ยาฆ่าแบคทีเรีย เช่น ตัวยาอ๊อกซี่เตดตร้าซัยคลิน หรือ ควิโนโลน (KOI-BACT , BAC-STOP)
• บ่อหรือภาชนะกักโรค(เลี้ยงชั่วคราว) ต้องมีพื้นที่ระดับหนึ่ง
• ปั้มลม-ปั้มน้ำกับสายออกซิเจน
• ระบบกรองน้ำ (ถ้ามีจะดีมาก ๆๆๆๆๆๆ แต่ไม่มีไม่เป็นไร)
• Chiller รักษาอุณภูมิน้ำ (ถ้ามีจะดีมาก ๆๆๆๆๆๆ แต่ไม่มีไม่เป็นไร)
3 ขั้นตอนการกักโรค :
เราต้องคำนึงถึงสุขภาพของปลาเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด ถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง และไม่ใส่ยาพร่ำเพรื่อจนเกินไป เปลืองยาไม่พอ ยังส่งผลเสียต่อตัวปลาเองอีกด้วย แทนที่ปลาจะหายจากโรคดันกลับเป็นหนักกว่าเดิม เพราะปลาได้รับยาที่ไม่ตรงกับโรคที่เป็น ท้ายสุดปลาอาจจะตายได้ในที่สุด ตายตัวเดียวไม่เท่าไหร่ มีสิทธิที่จะทำให้ตัวอื่นตายด้วยหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ "ตายยกบ่อปลาหรือตู้ปลา"
• ขั้นตอนแรก คือ "ดูอาการหรือเช็คสภาพปลาใหม่"
• ขั้นตอนสอง คือ "ปรับสภาพปลาที่ซื้อมาใหม่"
• ขั้นตอนสาม คือ "รักษาปลาที่ติดเชื้อ"
ขั้นตอนแรก : ดูอาการหรือเช็คสภาพปลาใหม่
ดูและตรวจสอบให้แน่ชัดว่าไม่มีเชื้อโรคหรือปรสิตต่าง ๆ มาเกาะตามบริเวณรอบตัวปลา และต้องดูแม้กระทั่งร่องรอย บาดแผล รอยฝกช้ำดำเขียวต่าง ๆ ให้ทั่วบริเวณร่างกายให้หมด ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด! ถ้าปลามีแผลตามตัวมีโอกาสเสี่ยงมากที่ปลาจะติดเชื้อได้ง่าย ควรแยกออกทันทีเพื่อทำการรักษา วิธีการนี้จะกักปลาที่ซื้อมาใหม่แยกไว้ในบ่อกักโรคหรือภาชนะสำหรับเลี้ยงชั่วคราว แล้วรอดูอาการประมาณ 7-14 วัน หลังครบวันเวลาที่กำหนดถ้าตัวปลาใหม่ที่ซื้อมามีโรคร้ายแรงแอบแฝงมาอาการจะแสดงออกมาภายใน 7 วัน
ขั้นตอนที่สอง : ปรับสภาพปลาที่ซื้อมาใหม่
ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำปลาใหม่มาปล่อยลงในบ่อกักโรคก่อนที่จะนำไปลงเลี้ยงรวมกับบ่อจริง เป็นเวลาทั้งหมด 7-14 วันเพื่อเช็คอาการสำหรับตัวปลา โดยจะใส่เกลือทะเลผสมลงในน้ำ 0.3% (เกลือ 3 กรัม/น้ำ 10 ลิตร) และใส่ยาฆ่าปรสิต (ไม่จำเป็นต้องใส่ยาฆ่าปรสิตก็ได้ ต้องสังเกตสภาพปลาจากขั้นตอนแรกมาก่อน) เพราะเกลือจะเป็นตัวช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าปรสิตบางชนิด และลดการ Osmosis หรือการซึมผ่านของน้ำเข้าไตปลา ทำให้ปลาสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น
ปลาส่วนใหญ่จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหลังจากแช่เกลือและยาฆ่าปรสิตครบตามกำหนด จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน ถ้าอาการของปลาผิดแปลกไป มักจะแสดงอาการออกมาภายในระยะเวลา 48-72 ชั่วโมงหรือ 2-3 วัน เราต้องสังเกตให้ดีในช่วง 2-3 วันแรก ถ้าผ่านในช่วง 2-3 วันแรกไปได้ ก็ให้แช่เกลือและยาฆ่าปรสิตจนครบ 7-14 วัน ก็สามารถนำปลาไปปล่อยลงบ่อเลี้ยงตามปกติได้เลย
แต่ถ้าหลังจากภายใน 2-3 วันแรก ปลามีอาการทรุดตัวลง มีอาการติดเชื้อตัวแดงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีจ้ำแดงตามตัวเพิ่มขึ้น หรือหัวดิ่ง หรือหุบครีบ และอาการต่าง ๆ ให้ไปสู่ขั้นตอนที่ 3 ได้เลย
ขั้นตอนที่สาม : รักษาปลาที่ติดเชื้อ
ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการรักษาปลาที่ติดเชื้อโดยเฉพาะ ขั้นตอนนี้จะเน้นรักษาตามอาการของตัวปลา ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เพราะปรสิตจะหมดไปแล้วตั้งแต่ขั้นตอนที่สองนั้นก็คือ "การแช่เกลือ" เชื้อแบคทีเรียตัวที่ทำให้เกิดโรคได้นั้น มีความทนความเค็ม มากกว่าระดับที่เราใส่เกลือลงไปในขั้นตอนที่สอง วิธีการรักษาก็ คือ "ให้เพิ่มปริมาณเกลือลงไปจากเดิม 0.3% เป็น 0.5%-0.7% (เกลือ 5-7 กรัม /น้ำ 10 ลิตร)"
การรักษาปลาด้วยเกลือถ้าจะให้ผลออกมาดีที่สุดนั้น เราต้องควบคุมระดับเกลือให้ดี การคุมระดับเกลือให้คงระดับไว้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ ในส่วนนี้เราอาจจะนำเครื่องวัดความเค็มมาใช้วัดค่าทิ้งไว้ก็ได้ จะทำให้เราสามารถควบคุมความเค็มไว้อย่างคงที่ โดยทั่วไปในปกติมาถึงขั้นตอนนี้แล้วปลาจะต้องกลับมาอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 5-15 วัน แต่ถ้าปลายังไม่ดีขึ้น ถึงคราวที่เราจำเป็นจะต้องใช้ยาในการรักษา และการเลือกยาให้ถูกกับโรคที่ปลาเป็นอยู่นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่าง
ถ้าแนะนำการให้ยาผมแนะนำว่า "ควรนำยาผสมกับอาหาร แล้วป้อนให้ปลากิน จะทำให้ตัวยาตรงเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง และตัวยาจะไม่เสื่อมสภาพจากน้ำ" ในสภาวะแบบนี้อาจต้องดูแลปลาที่เป็นโรคเป็นกรณีพิเศษ รอจนกว่าอาการปลาจะหายแล้วค่อยปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยง
*****ลดการให้อาหารระหว่างการกักโรค*****
ในช่วงกักโรคนั้น ให้อาหารให้น้อยที่สุด ย้ำนะครับ! "ลด ไม่ใช่งด" ลดคือการลดปริมาณอาหารลง ส่วนงดคือการไม่ให้อาหารเลย เพราะการที่เราให้อาหารปลาเป็นจำนวนมากจะส่งผลทำให้น้ำเน่าเสียได้เร็ว บ่อกักโรคถึงแม้จะมีระบบกรอง แต่เราใส่ยาและเกลือลงไป ทำให้ไม่มีแบคทีเรียที่ดีในการบำบัดน้ำ
ปลาที่ถูกแช่อยู่ในยาหรือเกลือนั้น ระบบย่อยอาหารมักจะทำงานได้ไม่ดี ถ้าการกักโรคกินระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ไม่จำเป็นต้องให้อาหารปลาเลยจะดีกว่า แต่ถ้าเกินนั้นอาจจะให้เพียงเล็กน้อยเพียงวันละมื้อก็เพียงพอ เพื่อไม่ให้ปลาทรุดโทรมจนเกินไปเนื่องจากขาดสารอาหาร
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา