สรุปเหตุการณ์ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิ GSP แบบม้วนเดียวจบ
.
นับเป็นข่าวใหญ่ช่วงสุดสัปดาห์หลังจากที่ สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิภาษีศุลกากรสินค้า หรือ GSP โดยอ้างว่าประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องของสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล ทำให้เกิดกระแสข่าวมากมายตามมา และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐถึง 40,000 ล้านบาทด้วยกัน
.
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าจะมีสินค้าชนิดใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง แนวทางการรับมือของหน่วยงานต่างๆ จะเป็นอย่างไร และมันส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อประเทศไทยอย่างที่หลายคนวิตกหรือไม่ วันนี้ผมจะมาวิเคราะห์เป็นหมวดๆ ให้ได้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ และครอบคลุมที่สุดครับ
.
GSP คืออะไร และทำไมถึงสำคัญต่อการส่งออกของประเทศ?
GSP ซึ่งย่อมาจาก Generalized System Preference คือ สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ
.
เกณฑ์การให้สิทธิ GSP มีอะไรบ้าง?
สำหรับการให้สิทธิ GSP เป็นการให้แบบฝ่ายเดียว (unilateral) คือประเทศที่ให้สิทธิ GSP ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่เป็นการให้แบบมีเงื่อนไข คือ ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP นี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประเทศผู้ให้วางไว้ ยกตัวอย่างเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกา เช่น
- ประเทศผู้มีสิทธิได้รับ GSP จากสหรัฐ จะต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,476.00 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อ
- ต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
- ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร
- มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล
- มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก
- เงื่อนไขอื่น ๆ ในด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ
.
ในปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 125 ประเทศ ครอบคลุมสินค้าประมาณ 3,500 รายการ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป แต่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับน้อยที่สุด (least developed country : ซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่า 1,305 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี) สหรัฐจะเพิ่มรายการที่ได้รับสิทธิ GSP นี้อีกประมาณ 1,500 รายการ สหรัฐเริ่มให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศต่าง ๆ โดยออกเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แต่ไม่ได้เป็นการถาวร โดยเมื่อกฎหมายหมดอายุลงก็มีการต่ออายุออกไปเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบัน
.
ส่วนประเทศไทยยังคงเป็นประเทศหนึ่งที่ยังได้รับสิทธิทางภาษี GSP จากสหรัฐ โดยประเทศไทยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐเป็นมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านบาท (เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย) และ “ประเทศไทย” เคยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐมาแล้ว 11 รายการ จากสินค้าที่ครอบคลุมทั้งหมด 3,500 รายการ
.
ผลกระทบจากสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP แก่ไทยบางรายการ
- วันที่ 25 ต.ค. 62 สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย (Country Review) 573 รายการ (40% จากจำนวน สินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 61 รวม 1,485 รายการ) มีผลบังคับใช้ 25 เม.ย. 63 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ
- ปี 61 ไทยมีการใช้สิทธิ GSP เพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตรา การใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% เช่น อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา
- การถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะ ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 61)
.
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ประเมินว่า การถูกตัดสิทธิ GSP ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้ มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สำหรับสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิในปี 63 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8 – 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.01 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ทั้งนี้ การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต เช่น เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน จะ ช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ ต่อไปได้ แต่การถูกตัด GSP ทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุน ภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
.
กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีการพึ่งพาสิทธิ GSP มากกว่าร้อยละ 50 และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า ร้อยละ 10 ได้แก่
- คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่น ๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์
- รถจักรยานยนต์
- แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น
- หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์
- อ่างล้างหน้า
- เครื่องสูบของเหลว
- สารเคลือบผิว Epoxy Resin
- เครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ
- อาหาร ปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช
- ยางนอกชนิดอัดลม
หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูก ตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้ จะช่วยลดกระทบต่อการส่งออกไทยได้
.
ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 20 ของสหรัฐฯ ในปี 61 มีมูลค่าการค้ารวม 44,321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สหรัฐฯ นำเข้า 31,872.7 ล้านดอลลาร์เหรียญ
- สหรัฐฯ ส่งออก 12,448.3 ล้านดอลลาร์เหรียญ
- ขาดดุล 19,424.4 ล้านดอลลาร์เหรียญ
ขณะที่ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของการส่งออกรวมของไทยในปี 2561 ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 12.0) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.9) เวียดนาม (ร้อยละ 5.1)
.
โดยประเทศกำลังพัฒนาที่มีมูลค่าส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย ไทย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี
.
สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณการตัดสิทธิ GSP มาแล้ว
มีนาคม - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะตัดยุติสถานะ GSP กับอินเดีย และในเดือนมิถุนายนจึงประกาศตัดสิทธิในที่สุด โดยอ้างว่าสหรัฐถูกกันไม่ให้เข้าถึงตลาดอินเดียได้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล นอกจากนี้อินเดียยังเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จาก GSP มากที่สุดในปี 2017 ทว่า การตัดสิทธิ GSP ก่อให้เกิดข้อกังขาอย่างมาก เพราะแม้แต่พันธมิตรของสหรัฐอย่างอินเดีย ก็ยังไม่หนีไม่พ้นจากนโยบายชาตินิยมของทรัมป์
.
พฤษภาคม - สัญญาณอันตรายเริ่มชัดขึ้น เมื่อรัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิ GSP ของตุรกีไปอีกราย โดยอ้างว่าตุรกีมีเศรษฐกิจที่พัฒนาเพียงพอแล้ว
.
มิถุนายน - ต้นเดือนมิถุนายน มีรายงานข่าวว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กำลังพิจารณาถอดถอนสิทธิ์ GSP ของไทยกับอินโดนีเซีย เนื่องจากการละเมิดสิทธิแรงงาน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการไม่เปิดตลาดให้เสรีมากพอสหรัฐธุรกิจสหรัฐได้เข้าไปดำเนินการ
.
กันยายน - ลิวอิส คาเรช ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เดินทางมายังประเทศไทย และเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายแรงงาน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตามหลักปฏิบัติสากลด้านการคุ้มครองงแรงงาน และเขายังเสนอให้ไทยแก้กฎหมายปกป้องแรงงานต่างด้าวจากการถูกนายจ้างไทยลงโทษเพราะจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ทางการไทยกังวลกับคำขู่ของสหรัฐ เพราะการต่ออายุ GSP ขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐ
.
ตุลาคม - สัญญาณที่ USTR ส่งมาถึงไทยในเดือนกันยายนกลายเป็นจริงในที่สุด เมื่อสหรัฐประกาศตัดสิทธิ GSP ของไทยในเดือนถัดมา โดยในจดหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งไปถึงประธานสภาพผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เขาได้ระงับการสิทธิ GSP ของผลิตภัณฑ์ไทยบางประเภท เนื่องจากไทยไม่ได้ดำเนินการปกป้องแรงงานตามาตรฐานสากลเรื่องสิทธิแรงงาน
.
กระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน ตัดสิทธิ GSP ไม่เกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีสหรัฐตัดจีเอสพีสินค้าไทยไปยังสหรัฐจะทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม 4-5 % หรือมีภาระต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น 1,500-1,800 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสหรัฐให้จีเอสพีไทยทั้งหมด 1,800 ล้านดอลลาร์ แต่ที่ผ่านมาไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มจำนวน โดยใช้สิทธิเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์
.
ส่วนประเด็นที่สหรัฐใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดจีเอสพีไทยนั้น คือเรื่องสิทธิแรงงาน ซึ่งสหรัฐต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงาน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ส่วนประเด็นอื่นนั้นขอให้ทางทรวงแรงงานเป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง
.
นายจุรินทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามไทยสามารถที่จะอุทธรณ์ หรือขอให้สหรัฐทบทวนการตัดจีเอสพีได้ ซึ่งหลายครั้งไทยก็ได้ยื่นเรื่องขอทบทวน เช่น ปี 2561 สหรัฐทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และครั้งนี้ก็เช่นกันก็จะมีการยื่นทบทวน แต่อำนาจการคืนสิทธิจีเอสพีเป็นอำนาจของสหรัฐ เพราะสิทธิจีเอสพีเป็นสิทธิ์ที่ให้ฝ่ายเดียวที่จะให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ตาม หากทบทวนแล้วไม่ได้สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐก็ต้องเสียภาษีตามที่กำหนด
.
ส่วนการตัดจีเอสพีเป็นการตอบโต้ไทยหลังจากที่ไทยแบน 3 สารเกษตร หรือไม่นั้น เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของครั้งนี้สิ่งที่เราทราบเป็นทางการ คือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน ไม่เกี่ยวกับการที่ไทยแบน 3 สารเกษตร แต่อย่างใด
.
กระทบส่งออกเพียง 0.01% เท่านั้น
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สหรัฐประกาศตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 573 รายการหรือคิดเป็น 40% จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิจีเอสพีในปี 61 จำนวนรวม 1,485 รายการ โดยให้ มีผลบังคับใช้ 25 เม.ย.2563 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ
.
“การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบคิดเป็นประมาณ 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่จะมีสินค้าบางรายการที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น”
.
การถูกตัดสิทธิจีเอสพี ทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้น 50.33 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% ซึ่ง สนค. ประเมินว่า การถูกตัดจีเอสพี ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้ มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ ในสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิในปี 63 เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้ ลดลงมูลค่า 28.8 – 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย
.
อย่างไรก็ตามในระยะยาวหากประเทศไทยพัฒนาสูงขึ้นไป การตัดสิทธิ GSP ถาวรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในเมื่อประเทศเติบโตขึ้น มีรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มมากขึ้น ก็จะถูกยกระดับไปแข่งขันกับประเทศระดับหัวแถว แต่ในขณะนี้ที่มีการตัดสิทธิโดยใช้เรื่องของแรงงานมาเป็นตัวชี้วัด ก็คงต้องดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะรายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ (TIP) โดยรัฐบาลสหรัฐประจำปี 2019 ปรากฎว่า ไทยยังคงอยู่ในสถานะเดิมคือ Tier 2 หรือระดับถูกจับตา นั่นเอง.
.
ที่มา : กระทรวงพาณชิย์ , Trade Map 5