29 ต.ค. 2019 เวลา 11:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม
บทที่ 2 : reward system
1
*** บทความในหนังสือเล่มนี้เป็นการบอกเล่าประสบการณ์และให้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ “ไม่มีการขายหรือแนะนำยาและอาหารเสริมใด ๆ ทั้งสิ้น”
*** หากท่านรู้สึกมีปัญหากับสมรรถภาพทางเพศของท่าน ผมขอแนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และจงดูแลสุขภาพของตัวท่านเองให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก
.
แต่หากท่านยังคงรู้สึกว่าอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของท่าน “ไม่ดีขึ้น” ท่านจะลองศึกษาและทำตามวิธีที่ผมแนะนำเป็นอีกทางเลือกก็ได้ครับ
.
.
.
บทความนี้เป็นเนื้อหาบทที่ 2 หากท่านใดยังไม่ได้อ่านเนื้อหาในบทแรก ผมขอแนะนำให้ท่านย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาบทแรก (มีทั้งหมด 4 ส่วน) ก่อนนะครับ เพื่อที่ท่านจะได้เข้าใจเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่อง
.
บทที่ 1 : ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดกับชายหนุ่มหลายคนในวันนี้
.
บทพิเศษ : ปรากฏการณ์ Coolidge Effect
.
.
.
บทที่ผ่านมา ผมได้เล่าเกี่ยวกับต้นเหตุ, อาการ, วิธีรักษา และประสบการณ์ส่วนตัวของผมเกี่ยวกับการเอาชนะ Porn-induced ED ไปแล้ว สำหรับเนื้อหาในบทนี้ ผมจะเล่าถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสมองของเราระหว่างที่เราทำการ reboot
.
ต้องขอบอกก่อนสักนิดว่าอาจต้องมีบางเรื่องหรือบางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผมจำเป็นต้องอธิบายซ้ำอีกครั้ง เพราะบางเรื่องจำเป็นต้องเน้นย้ำ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจมากยิ่งขึ้น
.
ก่อนที่จะพูดถึงขั้นตอนและรายละเอียดเกี่ยวกับการ reboot ผมมีความรู้ขั้นพื้นฐาน 2 อย่างที่อยากให้ทุกท่านได้รู้จักไว้ก่อน นั่นก็คือ reward system และ supernormal stimulus ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ถือเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่จะใช้อธิบายอาการและพฤติกรรมต่าง ๆ ของการเสพติดทุกชนิดได้อย่างชัดเจนและเห็นภาพที่สุด โดยเฉพาะ “พฤติกรรมการเสพติดสื่อโป๊” ของพวกเราทุกคน
.
.
.
รู้จักกับ Reward System
.
Reward System หมายถึง “กลไกการรับรู้ถึงรางวัล” มันคือวงจรในสมองที่มีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์เลยทีเดียว มันมีไว้เพื่อที่จะทำให้เราเกิดความหิว, ความกระหาย, ความอยาก, ความปรารถนา, อารมณ์, แรงกระตุ้น, แรงผลักดัน, แรงจูงใจ รวมไปถึงการตัดสินใจที่จะทำพฤติกรรมต่าง ๆ
.
ต้องขอบคุณกลไกนี้ เพราะมันทำให้พวกเราสามารถดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์มาได้ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันวันนี้ มันทำให้เรารู้ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อหิว ทำอย่างไรเมื่อต้องการหาที่นอนอบอุ่น ทำอย่างไรเมื่อเจอการไล่ล่าจากสัตว์ดุร้าย ไปจนถึงทำอย่างไรเพื่อมีลูก
.
ตั้งแต่ยุคโบราณที่เป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์จนถึงวันนี้ วงจรนี้ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีมาตลอด ทำให้วิวัฒนาการเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงมันมากนัก และวิวัฒนาการนั้นก็ได้ถูกส่งมาถึงมนุษย์อย่างพวกเราในปัจจุบันนี้
.
แรงอยากแรงปรารถนาที่จะเอาชีวิตรอดและดำรงเผ่าพันธ์ุเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าโดปามีน สารสื่อประสาทโดปามีนนี้คือตัวเอกที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อ reward system ในสมองของเรา การทำงานร่วมกันของโดปามีนและ reward system คือสิ่งที่ทำให้เกิดแรงอยากและความพึงพอใจ และที่สำคัญที่สุด “การเสพติดทุกชนิด” ก็เกิดใน reward system นี่เอง
.
ระบบที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์นี้มีไว้เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดและถ่ายทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ โดยมันจะทำให้เราเกิดการรับรู้และจดจำรสชาติของสิ่งที่จำเป็นทั้งหลาย โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรางวัลพื้นฐานทางธรรมชาติ (natural reward) เช่น น้ำ, อาหาร, ความสัมพันธ์ุทางสังคม, การค้นหาสิ่งใหม่ ๆ และเซ็กส์ !
.
“สารสื่อประสาทโดปามีน” ถูกผลิตและหลั่งออกมาจากสมองส่วนที่เรียกว่า VTA (Ventral Tegmental Area) และจากสมองอีกส่วนที่อยู่ติดกันคือ stantia nigra (ทั้งสองส่วนนี้คือโรงงานผลิตและจ่ายแจกโดปามีน แต่ผมจะขอเน้นหนักไปที่ VTA นะครับ)
เมื่อเราได้เจอกับสิ่งเร้าหรือรางวัลพื้นฐานทางธรรมชาติ เช่น ขนมเค้ก (อาหาร) , การพูดชมเชย (สังคม) หรือสาวงาม (เซ็กส์) สมองส่วน VTA นี้ก็จะเริ่มทำการผลิตและส่งโดปามีนไปยังตัวรับโดปามีนที่อาศัยอยู่ในสมองส่วน reward system ดังต่อไปนี้ ……
1. กลุ่มสมองในส่วน limbic ผ่านเส้นทาง mesolimbic dopamine pathway
.
กลุ่มสมองในส่วน limbic นี้ ถือเป็นสมองที่เรามีติดตัวมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว มันเป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถทำเรื่องพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้ เช่น การกินอาหาร, การออกล่าเหยื่อ, การต่อสู้เอาตัวรอด, การหนีจากผู้ล่าหรือภัยคุกคามต่าง ๆ ไปจนถึงการสืบพันธุ์ ซึ่งสมองส่วนนี้ประกอบไปด้วย …
.
- nucleus accumbens ส่วนนี้เป็นเหมือนตัวละครหลักในระบบ limbic มันทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรับรู้ความพึงพอใจจากสิ่งต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความคาดหวังและแรงจูงใจให้เราเคลื่อนไหวร่างกายไปหาสิ่งเร้าหรือรางวัลนั้น เราเชื่อกันว่ามันคือ reward center หรือศูนย์กลางแห่งการรับรู้ความพึงพอใจในสมองของเรา .
- amygdala ส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น มีความสุขหรือดีใจ
.
- hippocampus ส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจดจำประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่สำคัญ
2. กลุ่มสมองในส่วน cerebral cortex ผ่านเส้นทาง mesocortical dopamine pathway
.
สมองส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่เพิ่งวิวัฒนาการทีหลัง มนุษย์อย่างพวกเรามีการพัฒนาในสมองส่วนนี้มากที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมด มันเป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์เรามีความคิดซับซ้อนและมีตรรกะเหตุผลมากกว่าสัตว์ทุกชนิด
.
- prefrontal cortex ถือเป็นตัวเอกของสมองส่วนนี้ มันทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้คิด, ความมีเหตุผล, การคำณวนความเสี่ยง, การวางแผนระยะยาว, การควบคุมตัวเอง และการหักห้ามใจ พูดอีกความหมายหนึ่งก็คือ เราใช้สมองส่วนนี้เป็นตัวควบคุมสัญชาตญาณและแรงอยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสมองส่วน limbic นั่นเอง
1
ทั้งหมดนี้คือสมองส่วนที่เรียกว่า reward system โดยแต่ละส่วนเปรียบเสมือนเป็นแหล่งที่อยู่ของตัวรับโดปามีน (dopamine receptors) ชนิดต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการรับและวัดค่าโดปามีนที่ถูกปล่อยออกมาจากส่วน VTA โดยเฉพาะในสมองส่วน nucleus accumbens ที่เป็นส่วนที่มีตัวรับโดปามีนมากที่สุดในบรรดาสมาชิกของ reward system ทั้งหมด
.
ปริมาณของโดปามีนคือมาตรวัดความสำคัญของประสบการณ์นั้น มันเป็นตัวบอกเราว่าสิ่งไหนที่เราควรเลี่ยงและสิ่งไหนที่เราควรให้ความสำคัญกับมันให้มาก ยิ่งไปกว่านั้น โดปามีนนี้ยังช่วยย้ำเตือนให้เราจดจำประสบการณ์สำคัญต่าง ๆ โดยการผูกประสบการณ์เหล่านี้ให้ติดอยู่ในสมองของเราอีกด้วย (ซึ่งผมจะพูดถึงกระบวนการผูกโยงและจดจำประสบการณ์นี้ในบทต่อ ๆ ไป)
.
เซ็กส์และการถึงจุดสุดยอดก็ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง มันคือตัวจุดระเบิดโดปามีนที่ใหญ่ที่สุดของ reward system ด้วยความที่เซ็กส์คือสิ่งที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดเผ่าพันธ์ุและทำให้พวกเราไม่สูญพันธุ์ วิวัฒนาการจึงติดตั้งให้มันเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดในยีนส์ของเรา
.
อะไรก็ตามที่สามารถพาเราไปถึงเซ็กส์ได้ โดปามีนปริมาณมหาศาลจะถูกหลั่งออกมาเพื่อให้เราให้ความสนใจกับมันเป็นพิเศษ นี่คือเหตุผลที่ทำไมมนุษย์อย่างพวกเรา (รวมไปถึงสัตว์ส่วนใหญ่) ไม่สูญพันธุ์ไงครับ
2
ผมขอทวนเกร็ดความรู้จากบทที่แล้วอีกสักหน่อย เผื่อว่าอาจมีบางท่านที่เข้าใจเกี่ยวกับโดปามีนผิดไป เพราะเหตุผลที่ว่าโดปามีนทำงานในระบบ reward system ทำให้เรามักจะตีความมันว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดความสุข แต่อันที่จริงแล้ว ตัวมันคือ “สารแห่งการคาดหวังและเสาะแสวงหาความสุข” ต่างหาก ตัวมันไม่ใช่สารแห่งความสุข
.
สมองของเราจะหลั่งโดปามีนออกมาเมื่อเราเกิดความคาดหวังเกี่ยวกับรางวัลต่าง ๆ มันทำให้เราเกิดแรงจูงใจที่จะพุ่งเข้าไปหาสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขหรือความพึงพอใจที่อยู่ข้างหน้า สิ่งนี้ทำให้เราเกิดการออกล่าหาอาหาร, แหล่งที่อยู่อาศัย, เครื่องอำนวยความสะดวก และคู่ครอง เป็นต้น
.
แต่ปัญหาก็คือ เรามักใช้เวลาในการเสาะแสวงหารางวัลเหล่านั้นมากกว่ารู้สึกพึงพอใจเสียอีก การเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวามากว่าการนั่งพึงพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เช่น สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่, รถยนต์คันใหม่, กระเป๋าแบรนด์เนมใบใหม่, รองเท้าวิ่งรุ่นใหม่, คู่รักคนใหม่ และสำหรับยุคสมัยนี้ “สื่อโป๊เรื่องใหม่ ๆ“ ดังที่ผมได้อธิบายไปก่อนแล้วในบทแรก
แล้วในเมื่อธรรมชาติสร้างและวิวัฒนาการ reward system ขึ้นมาให้แก่เรา แล้วทำไมมันถึงกลายเป็นเรื่องไม่ดีได้อย่างไรล่ะ อะไรที่ขับดันให้ reward system ของเราพลุ่งพล่านได้อย่างบ้าคลั่งจนเลยเถิดเกินความพอดีไปได้ ...
1
สิ่งนั้นก็คือ supernormal stimulus หรือที่แปลว่า “สิ่งเร้ายิ่งยวด” ซึ่งผมจะขยายความถึงมันในส่วนต่อไป
.
เนื้อหาในส่วนนี้ถือเป็นการทำความรู้จักคร่าว ๆ กับสมองบางส่วนของเราว่ามันทำให้เราเกิดความนึกคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกไปจนถึงผลักดันให้เราทำพฤติกรรมบางอย่างได้อย่างไร
เนื้อหาในส่วนต่อไป ผมจะพูดถึงสิ่งเร้ายิ่งยวดว่ามันคืออะไร มีกี่ชนิด อะไรบ้าง และมันส่งผลต่อสมองส่วน reward system ของเราอย่างไร แล้วเจอกันในบทต่อไปนะครับ บทที่ 2 (ส่วนที่ 2) https://www.blockdit.com/articles/5db81e851fb81c46f498ec6d
.
.
.
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ e-book “เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม” (ในหนังสือมีเนื้อหาทั้งหมด 13 บท)
หนังสือ “เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม : สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา” เวอร์ชั่น e-book วางจำหน่ายแล้ววันนี้
.
*** ต้องโหลดแอปฯ “Meb : หนังสือดี นิยายดัง” ก่อนนะครับ (แอปฯนี้โหลดฟรี) ถ้าโหลดแอปฯนี้เสร็จแล้ว เราก็จะสามารถดาวน์โหลดสั่งซื้อหนังสือและเปิดอ่านผ่านแอปฯนี้ได้เลยครับ
โฆษณา