31 ต.ค. 2019 เวลา 17:18 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฟ้าผ่าใส่เครื่องบินที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า?? ⚡😱
ไหม้เป็นเถ้าถ่าน แตกเป็นผุยผง หรือไฟลุกทั้งลำ??
หลายคนคงเดาได้ว่าไม่ใช่จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้างั้นจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่เวลาที่ฟ้าผ่าลงเครื่องบินที่กำลังบินอยู่ เดี๋ยวได้รู้กัน 😉
อันดับแรกเรามาทำความรู้จักถึงหนี่งในพลังธรรมชาติที่สร้างความเสียหายได้อย่างยิ่งยวด นั่นก็คือฟ้าผ่า
ซึ่งฟ้าผ่าแค่เสี้ยววินาทีนี้สามารถปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าด้วยแรงดันกว่า 1 ล้านโวลท์ มีพลังงานเพียงพอที่จะจ่ายให้หลอดไฟ 60 วัตต์สว่างต่อเนื่องได้ครึ่งปี
สายฟ้านั้นมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดวงอาทิตย์ถึง 5 เท่า (ประมาณ 30,000 องศา) เผาอากาศไหม้สิ้นจนอากาศเคลื่อนเข้าแทนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียงเกิดเป็นเสียงฟ้าผ่ากึกก้อง
** แล้วฟ้าผ่าใส่เครื่องบินบ่อยไหม?? **
อันดับแรกด้วยกฎการบินจะให้หลีกเลี่ยงการบินเข้าพายุครับ
แต่การบินหลบจะให้เบี่ยงซ้ายขวา ไม่ให้บินขึ้นเหนือพายุเพราะเมฆสามารถก่อตัวได้สูงมาก ๆ หรือบินหลบใต้พายุเพราะแน่นอนว่าจะโดนฟ้าผ่าใส่แน่นอน
ด้วยเรดาร์ตรวจอากาศที่มีในเครื่องบินสามารถตรวจจับและแจ้งเตือนพายุในเส้นทางการบินได้ล่วงหน้า
ซึ่งโดยปกติจะไม่ให้บินเข้าใกล้เกิน 30 กิโลเมตรครับ
ด้วยข้อกำหนดและเทคโนโลยีที่กล่าวมา โดยเฉลี่ยแล้วสำหรับนักบินจะเจอฟ้าผ่าทุก ๆ 3,000 ชั่วโมงบิน หรือ 2-3 ปีครั้ง ดังนั้นถ้าท่านนั่งเครื่องแล้วเจอฟ้าผ่าละก็ถือว่าแจ๊กพอตมาก ๆ เพราะขนาดนักบินก็ยังไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ
แต่ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ต้องบินหลบพายุ ไม่ใช่กลัวฟ้าผ่าครับแต่กลัวกระแสอากาศแปรปรวนข้างในนั้นมากกว่า ซึ่งเลวร้ายทำให้เสียการควบคุมเครื่องจนส่งผลให้เครื่องตกได้เลยทีเดียว
** แล้วถ้าเครื่องบินเจอฟ้าผ่าเข้าจัง ๆ บนฟ้าละจะรอดมั้ย?? **
ข้อแรกการทดสอบเครื่องบินก่อนนำออกใช้งานต้องผ่านการเทสมากมาย หนึ่งในนั้นคือเทสฟ้าผ่า
หากมีการพัฒนาวัสดุทำตัวถังเครื่องบินใหม่ ๆ เขาจะใช้วิธีบินเข้าพายุทดสอบกันเลยครับ ว่ารอดมั้ย
และเมื่อดูภาพถ่ายเวลาเครื่องบินโดนฟ้าผ่า จะเห็นได้ว่ากระแสไฟฟ้าไหลจากจมูกเครื่องออกไปทางปีก หรือไม่บางทีก็ไหลออกท้ายเครื่อง
ทำไมเป็นแบบนั้น คำตอบก็คือวัสดุตัวถังเครื่องบินไม่ได้ทำจากโลหะอลูมิเนียมอย่างเดียว แต่ทำจากวัสดุผสมหลาย ๆ ชั้น
ซึ่งผิวอลูมิเนียมด้านนอกนั้นก็จะเป็นสื่อตัวนำกระแสไฟฟ้าให้ไหลไปออกมุมปีกหรือไม่ก็ท้ายเครื่องแทนที่จะเข้าไปในห้องโดยสารหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในเครื่อง
และในชั้นกลางนั้นยังเป็นชั้นของแผ่นตะแกรงลวดทองแดง ที่ทำหน้าที่เป็นกรงฟาราเดย์ (Faraday Cages) ล้อมตัวเครื่องบินเอาไว้
กรงฟาราเดย์ แม้จะถูกสายฟ้าฟาดเข้าใส่แต่คนที่อยู่ข้างในชิลล์มากครับ, Cr: sciencefacts.net
ซึ่งหลักการทำงานของกรงฟาราเดย์นั้นเมื่อลูกกรงอยู่ภายใต้สนามไฟฟ้า อิเลคตรอนจะถูกเหนี่ยวนำไปอีกด้าน และสร้างสนามไฟฟ้ามาหักล้างทำให้บริเวณข้างในกรงฟาราเดย์ไม่ได้รับอิทธิพลจากสนามไฟฟ้าด้านนอก
และนอกจากผิวตัวถังเครื่องบินแล้วสายไฟในเครื่องทั้งหมดยังหุ้มฉนวนที่มีชั้นของตะแกรงลวดทองแดงนี้ด้วย เพื่อป้องกันการรบกวนทางด้านไฟฟ้า
รวมถึงถังน้ำมันที่เติมก๊าซเฉื่อยเพื่อป้องกันการติดไฟ
ยังไม่พอยังมีการติดตั้งหางปล่อยประจุ (static discharge) เพื่อปล่อยอิเลคตรอนส่วนเกินออกจากตัวเครื่องขณะบิน เพื่อรักษาสภาพเป็นกลางทางไฟฟ้าของตัวเครื่องบินเอาไว้ ทำให้ไม่เกิดการล่อฟ้าผ่า (เหมือนโซ่ห้อยรถเข็นเหล็กตามห้างเพื่อกันไฟฟ้าสถิตย์)
แต่ทั้งนี้หากเจอฟ้าผ่าจุดที่สายฟ้าฟาดลงตัวเครื่องอาจทำความเสียหายทางกายภาพได้อยู่ดี และบางครั้งทำให้ชุดอุปกรณ์ควบคุมเสียหาย แต่ในเครื่องบินชุดอุปกรณ์สำคัญจะมีชุดควบคุมสำรองอีกหนึ่งชุดเพื่อทำงานทดแทนเสมอ
และทุกครั้งที่เครื่องเจอฟ้าผ่าใส่ นักบินจะต้องทำการตรวจเช็คทุกระบบในเครื่องว่ายังทำงานได้ปกติหรือไม่ หากมีความผิดปกติต้องนำเครื่องลงที่สนามบินที่ใกล้ที่สุดทันที
เจ้าหน้าที่ภาคพื้นก็จะทำการตรวจสอบและซ่อมเครื่องทันทีเมื่อเครื่องลงจอด
ซึ่งเคยมีเคสที่เที่ยวบินยังบินต่อได้กว่า 3 ชั่วโมงครึ่งหลังจากถูกฟ้าผ่าใส่
และเคยมีกรณีเลยร้ายสุดซึ่งระบบทั้งหมดบนเครื่องดับหมดหลังจากถูกฟ้าผ่า แต่ก็ยังมีระบบฉุกเฉินสุดท้ายคือการควบคุมเครื่องด้วยระบบอะนาลอก นักบินจะยังสามารถควบคุมเครื่องได้จนกระทั่งระบบรีบูทกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
และนี่ก็คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อแจคพอตเจอฟ้าผ่าใส่เครื่องบินที่เรานั่งมาเต็ม ๆ อย่างมากก็เครื่องสั่น พร้อมเสียงฟ้าผ่ากึกก้องแต่แทบจะไม่ส่งผลต่อเครื่องบินมากนัก หลับให้สบาย หรือไม่ก็ดูหนังต่อ 😉😁
1
Source:
เครดิตภาพ: Cap จากคลิปในยูทูปด้านบน
โฆษณา