1 พ.ย. 2019 เวลา 04:48
ตำนานผ้ายันต์สิหิงค์หลวง
ผ้ายันต์ผืนสวยและสมบูรณ์ที่สุด ด้วยวงกลมทั้งหมด ๗ วง โดยวงที่ ๑ ลงรูปพระพุทธสิหิงค์ตรงใจกลาง วงที่ ๒,๓ ลงอักขระ วงที่ ๔ ลงรูปพระพุทธสาวก วงที่ ๕ ลงอักขระ วงที่ ๖ รูปสัตว์ต่างๆ และวงที่ ๗ สุดท้ายลงอักขระ
เล่าขานตำนานไสยเวทย์ล้านนา เกี่ยวกับผ้ายันต์สิหิงค์หลวง จักรพรรดิ์แห่งผ้ายันต์ล้านนาโบราณ งานพุทธศิลป์สวยๆ ผ่านผืนผ้าผืนใหญ่
ผ้ายันต์สะหิงหลวง หรือผ้ายันต์พระพุทธสิหิงค์แห่งล้านนาโบราณ โดยนัยยะของการจัดสร้างผ้ายันต์ชนิดนี้ สืบเนื่องมาจาก วัฒนธรรมของคนในแถบล้านนาสมัยก่อน จะไม่บูชาพระพุทธรูปไว้ที่บ้าน แต่จะนำไปไว้ที่วัดแทน
ผ้ายันต์ผืนสวย ตรงวงกลมที่ ๕ แต้มด้วยรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า สิงห์ และเหล่าอารักษ์
ดังนั้น เมื่อต้องการสร้างความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาให้มั่นคง จึงมีการวาดภาพพระพุทธลงบนผืนผ้า ที่เรียกว่าผ้ายันต์แทน โดยอาศัยเค้าคติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปของทางล้านนา
สูงสุดแห่งความศรัทธาก็คือ "พระพุทธสิหิงค์" แห่งวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ และอาศัยหลักการสร้างตามคัมภีร์ตรีนิสิงเห นำมาเป็นหลักประกอบ จนกลายเป็นผ้ายันต์สะหิงหลวง หรือผ้ายันต์พระพุทธสิหิงค์
เมื่อกาลเวลาผ่านไป พระพุทธรูปกลับถูกนำไปตั้งบูชาอยู่ในบ้าน ทำให้สรรพวิชาในการสร้างยันต์แขนงนี้ถูกลืมเลือน และแทบจะสูญหายไปจากสังคมล้านนา
ผ้ายันต์ผืนสวย ชำรุดบางส่วน ตรงมุมผืนผ้าลงรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฏฐ์ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การที่จะเสาะหามาบูชาไว้ติดกับบ้านเรือนนั้น จึงค่อนข้างหายากมาก ทำให้ราคาเล่นหาบูชาจึงแพงตามขึ้นไปด้วย
อีกประการหนึ่งก็คือ การที่คนต่างวัฒนธรรมเคยมาบูชาผ้ายันต์สะหิงหลวงของหลวงปู่ครูบาคันธา วัดขุมเงิน จ.ลำพูน ด้วยราคาที่สูงมาก
อาจเรียกได้ว่า แพงที่สุดในสายผ้ายันต์ของทางล้านนาก็เป็นได้ ในราคาราวแสนกว่าบาท จึงทำให้ผ้ายันต์ชนิดนี้ ถึงแม้จะมีการจัดสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ราคาก็ยังถือว่าแพงมากอยู่ดี
ผ้ายันต์ลวดลายสวย ด้วยรูปพระพุทธสาวกในวงที่ ๔ น่าเสียดายชำรุดหลายจุด
ผ้ายันต์สิหิงค์หลวง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ยันต์พระสิงค์ นับเป็นผ้ายันต์ชิ้นเอกของล้านนา มีลักษณะเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ บรรจุรูปภาพและอักขระยันต์เต็มผืน เท่าที่พบส่วนมากจะลงหลากสี งดงามไร้ตำหนิ เป็นผ้ายันต์หายากพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับผ้ายันต์รูปแบบอื่นๆ
จะมีการลงรูปพระพุทธ ตรงใจกลางวงกลมบนแผ่นผ้า เป็นวงที่ ๑ ต่อมาลงอักขระวงที่ ๒ และวงที่ ๓ วงที่ ๔ ลงรูปพระพุทธสาวก พระอรหันต์ วงที่ ๕ ลงอักขระ วงที่ ๖ รูปสัตว์ต่างๆ อย่างช้าง ม้า สิงห์ และเหล่าอารักษ์พิทักษ์รักษา และวงที่ ๗ สุดท้ายเป็นอักขระ
และบางผืนจะลงท้าวทั้ง ๔ หรือลงตารางยันต์ ๔ มุม ของผืนผ้า ทั้งนี้ จำนวนวงกลมและรูปแบบแต้มต่างๆ อาจจะแตกต่างกันบ้าง ตามแต่ละสกุลช่าง
ผ้ายันต์รูปทรงสี่เหลี่ยม สภาพสมบูรณ์ ลวดลายละเอียด งดงามด้วยอักขระล้านนาโบราณ
ผ้ายันต์พระสิงค์เท่าที่พบ มีหลากหลายสล่า (ช่าง) และมาจากหลายแหล่ง เช่น ลงอักขระอย่างไทใหญ่ อย่างพม่า มีทั้งเขียนใหม่และเป็นของโบราณ แต่ส่วนมาก ของโบราณจะลงอักขระและภาพประกอบเป็นอักษรล้านนาของกลุ่มไทยวน บางผืนงดงามวิจิตร บางผืนก็เรียบง่ายไม่ลงสี
สำหรับผู้โพสต์แล้ว ผ้ายันต์สิหิงค์หลวง หรือผ้ายันต์พระสิงห์นี้  เป็นงานจิตรกรรมบนผืนผ้าของชาวล้านนาโบราณที่ยิ่งใหญ่ ประณีต งดงามเป็นที่สุด รวมถึงในแต่ละผืนผ้า บรรจุความเชื่อ ความศรัทธาผ่านงานศิลปะชั้นยอด
น่าเสียดาย ที่ผืนงามๆ พลัดหลงไปจากท้องถิ่น ส่วนชิ้นที่เห็นนี้ ยังอยู่ในความครอบครองของ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ปราชญ์แห่งล้านนา จ.เชียงใหม่
ผ้ายันต์รูปทรงสี่เหลี่ยม สภาพสมบูรณ์ ลวดลายวิจิตร
ที่มาของข้อมูล : บทความบางส่วนจากหนังสือ "คง เข้ม ข่าม ขลัง เครื่องรางล้านนา" โดย ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ปราชญ์แห่งล้านนา
ภาพ/เรียบเรียง : ออมศีล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา