6 พ.ย. 2019 เวลา 03:15 • ไลฟ์สไตล์
ชีวิตดีแน่แค่’อยู่เป็น’
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่เรื่องการเงิน แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต และยังเอามาปรับใช้กับงานเขียนเพื่อประสบความสำเร็จ
ในช่วงพักกลางวันของวันที่ยุ่งเหยิงที่สุดในรอบสัปดาห์ ปูเป้ใช้โอกาสมานั่งทบทวนว่า อะไรที่ทำให้ปูเป้ไม่สามารถเขียนหลายๆแบบได้ในเวลาเดียวกัน
เขียนหลายแบบ หมายถึง รูปแบบการเขียนที่แตกต่างกัน ได้แก่ การเขียนบล็อก การเขียนนิยาย และรายงานทางวิชาการ
ใช่ค่ะ นี่คืองานที่ปูเป้ต้องทำทั้งหมด ซึ่งคลานได้ทีละนิดทีละหน่อย
ในตอนแรกที่เริ่มการเขียนบล็อกปูเป้สารภาพว่าจับต้นชนปลายไม่ถูกเลย เพราะก่อนหน้านี้เขียนนิยายเรื่องยาวมาโดยตลอด (~120หน้าA4 ยาวไหมล่ะ?)
พอต้องมาเขียนบล็อกแล้วรู้สึกว่ามันยาก ด้วยรูปแบบที่มันไม่ปกติ ถ้าจะเขียนธรรมดาก็คงจะไม่เข้าท่า ถ้าไม่ใช้ลูกเล่นที่เขาให้มาก็คงไม่คุ้มค่าแก่การเขียน
ปูเป้ใช้เวลานานมากในการศึกษา ทดลองเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเริ่มลงตัว และเมื่อคิดว่าเราโอเคแล้วก็แปลว่าถึงเวลาที่จะกลับไปเขียนนิยายควบคู่เช่นเดิม
แต่แล้วปูเป้ก็พบว่าตนเองไม่สามารถกลับไปเขียนได้ ต้องใช้เวลาพักใหญ่ในการปรับตัวอีก และนี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริงๆกับปูเป้ เมื่อได้มานั่งพิจารณาดูก็พบว่า ความมุ่งมั่นและจริงจังที่มากเกินไปทำให้เกิดการ Fix Idea นั่นเองค่ะ
พูดมาตั้งเยอะยังไม่เห็นเข้าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลย มันจะเกี่ยวกันได้อย่างไร
ยังจำสามห่วง+สองเงื่อนไขได้ไหมคะ
ห่วง:มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน
เงื่อนไข: มีความรู้ มีคุณธรรม
เริ่มกันเลยดีกว่า
ห่วงที่1 มีเหตุผล : หาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมถึงอยากเขียน มีมากกว่าคำว่าชอบไหม ยกตัวอย่างจากปูเป้เอง คือ อยากแบ่งปันผ่านการเขียน และมีรายได้
ห่วงที่2 พอประมาณ : มุ่งมั่นและจริงจังได้ แต่ต้องอยู่ในความพอดี ถ้าเป็นนักเขียนมืออาชีพกับผู้เริ่มต้นจะไม่ค่อยเจอปัญหาความจริงจังเกินลิมิตจนเกิดการ fix idea แต่ถ้าเป็นระดับครึ่งๆกลางๆอย่างปูเป้มักจะเจอบ่อยมาก และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยสิคะ
ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ต้อง ‘ลด’ ค่ะ
ลดความหวัง ลดความมุ่งมั่น ลดแรงปรารถนา แม้ว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องดี แต่ว่ามีมากไปก่อให้เกิดผลเสียได้ค่ะ
ห่วงที่3 มีภูมิคุ้มกัน : งานเขียนที่เราเผยแพร่ออกไป อาจไม่ได้มีกระแสโด่งดังอย่างที่วาดฝันไว้ มันอาจจะไม่ปัง อาจจะถึงขั้นพัง และโดนตำหนิต่างๆนานา
สิ่งที่ต้องทำคือ หายใจเข้า-ออกลึกๆ สงบสติ ระลึกและจำไว้ว่าตอนนี้กำลังหายใจอยู่ ตราบใดที่มีลมหายใจเราสามารถเขียนใหม่ได้เสมอ
ครูเคยสอนปูเป้ว่า คนเรามักลืมลมหายใจของตัวเอง มีกี่วินาทีที่คุณระลึกว่าตอนนี้กำลังหายใจ ดังนั้นลมหายใจนี่แหละค่ะเหมาะกับการดึงสติให้เดินไปข้างหน้าต่อ
3ห่วงผ่านไปเหลืออีก 2 เงื่อนไขที่จะมาคุยกันต่อ
เงื่อนไขที่ 1 : ความรู้
งานเขียนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดความรู้ อันได้แก่ ความรู้ในการสะกดคำที่ถูกต้อง การเรียบเรียงประโยค การใช้รูปแบบที่กำหนดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและอ่านเข้าใจง่ายที่สุด
เงื่อนไขที่ 2 : คุณธรรม
เรื่องนี้อยากให้ตระหนักกันมากที่สุด เพราะบางคนที่ก้าวเข้ามาในเส้นทางนักเขียน มีความคิดที่ว่า ‘เราสามารถเขียนอะไรก็ได้’ มันก็ไม่ผิดที่คิดแบบนั้น แต่ลองคิดอีกแง่หนึ่งว่า ถ้างานเขียนชิ้นนั้นไปตกอยู่ในมือเด็กที่ยังแยกไม่ออกว่า ‘สิ่งไหนควรทำตามหรือสิ่งไหนไม่ควร’
เช่น เขียนให้พระเอกข่มขืนนางเอก แล้วนางเอกหลงรัก เป็นพล็อตที่เจอกันบ่อยมาก ในความเป็นจริงแล้ว นางเอกคงรักไม่ลงแน่ๆ แต่คนอ่านที่แยกไม่ออก แล้วไปทำตาม มันก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
งานเขียนไม่ควรมีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ แต่เนื้องานเองก็ควรมีความสร้างสรรค์และให้ข้อคิด ให้บทเรียน เราไม่สามารถไปดึงหนังสือออกจากมือของเด็กๆได้ แต่เราสามารถให้ข้อคิด และคำแนะนำได้ค่ะ
เห็นไหมคะ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข แนวคิดความพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องการเงินในกระเป๋า แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราเพื่อให้เกิดความพอดี และเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความสำเร็จของชีวิตค่ะ
ที่มา : เดินทางไปกับความพอเพียง : ผีเสื้อนักเดินทาง
เรียบเรียง : การเดินทางของผีเสื้อ🦋
โฆษณา