3 พ.ย. 2019 เวลา 07:46 • ข่าว
🤷♂️ แน่นอนว่าในชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน เคยซื้อน้ำขวดมาดื่ม ซื้ออาหารใส่กล่องโฟมหรือกล่องอาหารที่นำเข้าไมโครเวฟมารับประทาน เพราะความสะดวกสบาย และตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน
.
แล้วรู้หรือไม่ว่า....ภาชนะบรรจุสิ่งของแต่ละประเภทปลอดภัยต่อการใช้งานมากน้อยแค่ไหน สามารถนำมาใช้ซ้ำ(re-use)ได้ไหม หรือต้องใช้แค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง?
.
ถ้ายังสงสัย เราไปหาคำตอบ และสังเกตสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แฝงมากับภาชนะนั้นๆ กันเลยครับ
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/33eGPb2 และ https://bit.ly/33b6nWP
ส่วนใหญ่แล้วพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารต่างๆ มักจะบอกถึง "ชนิดของพลาสติก" ที่ใช้ในการบรรจุอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ มันอาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่เล็กไปหน่อย แต่สามารถมองหาได้ และรู้ได้ว่าเราควรจะใช้มันอย่างไรให้ปลอดภัย
✍️ผลิตภัณฑ์พลาสติกสามารถแบ่งตามชนิดของพลาสติกได้เป็น 7 ชนิด ซึ่งจะมีการแสดงไว้บนผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในเรื่อง "การคัดแยกพลาสติกสำหรับการรีไซเคิล" โดยสัญลักษณ์คือ ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเลขกำกับอยู่ภายใน และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ฐานของสามเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า “รหัสพลาสติก” กำหนดโดย NA Society of the Plastics Industry ในปี ค.ศ. 1988 ดังภาพด้านล่างนี้
ภาพสัญลักษณ์การคัดแยกพลาสติกสำหรับการรีไซเคิลทั้ง 7 ประเภท :https://shutr.bz/337wmhE
แต่ละประเภทมีรายละเอียด ความหมาย และข้อควรระวังต่างๆ แตกต่างกันดังต่อไปนี้
👉ประเภทที่ 1. พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene terephthalate) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า เพท (PET) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเนื้อใส (A-PET) และกลุ่มที่เป็นผลึกสีขาว (C-PET)
ตัวอย่างการนำไปใช้: ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร ถุงขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
ข้อควรระวัง
**ขวดบรรจุน้ำดื่มเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับให้นำมาทำความสะอาดใหม่โดยใช้ความร้อนสูงหรือขัดถูแล้วนำมาใช้ซ้ำ ขวดที่ใช้แล้วควรนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่มากกว่าการนำกลับมาใช้ซ้ำ แม้ว่าการใช้ซ้ำนั้นอาจจะไม่มีอันตรายจากสารที่หลุดออกมา แต่ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์เนื่องจากการทำความสะอาดที่อาจไม่ดีพอ
**สารอะซิทัลดีไฮด์ สามารถแพร่ออกจากผลิตภัณฑ์เข้าไปปนเปื้อนของที่บรรจุอยู่ในภาชนะได้ ซึ่งอะซีทัลดีไฮด์เป็นสารที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในคน รวมทั้งอาจส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง
ตัวอย่างขวดน้ำทำจากพลาสติกประเภทที่1.(PET)
👉ประเภทที่ 2. พลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High density polyethylene, HDPE)
ตัวอย่างการนำไปใช้: เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารทำละลายต่างๆ ทำให้มีการนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะบรรจุต่างๆ เช่น ทัปเปอร์แวร์ ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดนม ถังน้ำมันสำหรับยานพาหนะ โต๊ะและเก้าอี้แบบพับได้ ถุงพลาสติก
ข้อควรระวัง
**การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสีควรระมัดระวังอันตรายจากเม็ดสีที่เติมเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและแคดเมียม สารทั้งสองตัวนี้สามารถแพร่ออกมาจากพลาสติกได้
ตัวอย่างถุงพลาสติกที่ทำจากพลาสติกประเภทที่2.
ตัวอย่างฝาขวดน้ำทำจากพลาสติกประเภทที่ 2.(HDPE)
👉ประเภทที่ 3. พลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride) หรือที่เรียกกันว่า พีวีซี (PVC)
ตัวอย่างการนำไปใช้: พลาสติกห่ออาหาร ถุงหูหิ้ว (ขนาดเล็กนิยมบรรจุอาหารประเภททอด เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก) ขวดบรรจุชนิดบีบ (เช่น น้ำมันพืช) กล่องอุปกรณ์ต่างๆ ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มอาหาร ตะแกรงคว่ำจาน
ข้อควรระวัง
**สารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพพีวีซี อาทิเช่น สารพลาสติกไซเซอร์และสารอื่น ๆ ได้แก่ พาทาเลท สารแต่งสีซึ่งมีตะกั่วและแคดเมียม สารทำให้คงตัว (stabilizers) เช่น แบเรียม สามารถแพร่กระจายออกมาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการห่ออาหารขณะร้อนด้วยพลาสติกอุ่นอาหารโดยมีพลาสติกที่ห่ออาหารอยู่ และการใส่อาหารร้อนในถุงหูหิ้วโดยตรง
👉ประเภทที่ 4. พลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene, LDPE)
ตัวอย่างการนำไปใช้: ถุงหูหิ้ว ขวดพลาสติกบางชนิด และที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ ถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร
ข้อควรระวัง
**การใช้ถุงพลาสติกที่เป็นสีควรระมัดระวังอันตรายจากเม็ดสีที่เติมเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและแคดเมียม สารทั้งสองตัวนี้สามารถแพร่ออกมาจากพลาสติกได้
**ถุงเย็น มีลักษณะขุ่นและยืดหยุ่นได้ดีกว่าถุงร้อน ทนความเย็นได้ถึง -70 องศาเซลเซียส แต่ทนความร้อนได้ไม่มากนัก
👉ประเภทที่ 5. พลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene, PP)
ตัวอย่างการนำไปใช้: ถุงร้อนสำหรับบรรจุอาหาร ขวดใส่เครื่องดื่ม ซองขนม ภาชนะบรรจุโยเกิร์ต หลอดดูด ขวดนมเด็ก
ข้อควรระวัง
**สามารถติดไฟได้ง่าย จึงต้องมีการเติมสารหน่วงไฟเพื่อป้องกันการติดไฟในกระบวนการผลิต ซึ่งสารหน่วงไฟที่เติมจะเป็นพวกโบรมิเนเตตและคลอริเนเตต สารกลุ่มนี้ถ้าไหม้ไฟแล้วจะให้สารไดออกซิน (dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
**สารเม็ดสีที่มีตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งผสมลงไปเพื่อทำให้พลาสติกมีสีต่าง ๆ ตะกั่วและแคดเมียมสามารถแพร่กระจายออกมาจากพลาสติกได้
**ถุงร้อน มีลักษณะใสกว่าถุงเย็นและไม่มีความยืดหยุ่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส (จุดเดือดของน้ำ) และทนไขมันได้ดี แต่สามารถบรรจุอาหารเย็นได้เพียง 0 องศาเซลเซียส
ตัวอย่างภาชนะห่ออาหารทำจากพลาสติกประเภทที่5
👉ประเภทที่ 6. พลาสติกโพลีสไตรีน (Polystyrene, PS) หรือที่เรียกกันว่า "โฟม"
ตัวอย่างการนำไปใช้: บรรจุรองรับการกระแทก กล่องสำหรับบรรจุอาหาร พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (เช่น ถ้วย ช้อน ส้อม มีด)
ข้อควรระวัง
**การใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารที่ร้อนหรือนำไปเข้าไมโครเวฟ สามารถทำให้สไตรีนโมโนเมอร์ในโฟมละลายออกมาผสมในอาหารได้ ซึ่งมีผลต่อสมอง ระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับ ไต และอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองกับผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย หรือทำให้สภาพการทำงานของตับลดลง
**การเผาโฟมทำให้เกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของของมะเร็ง
**การรีไซเคิลโฟมมีปัญหาสำคัญในเรื่องไม่คุ้มทุน
👉ประเภทสุดท้าย ประเภทที่ 7. พลาสติกชนิดอื่นๆ เช่น โพลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate, PC)
ตัวอย่างการนำไปใช้: เนื่องจากโพลีคาร์บอเนตเป็นพลาสติกที่มีลักษณะใส แข็ง และทนความร้อนจึงนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถเก็บในตู้เย็นและนำเข้าไมโครเวฟได้ด้วย เช่น เหยือกน้ำ ขวดน้ำขนาดบรรจุ 5 ลิตร ขวดน้ำนักกีฬา ขวดนม รวมทั้งจำพวกถ้วย ช้อนส้อม มีดชนิดใส
ข้อควรระวัง
**มีการศึกษาพบว่าขวดน้ำดื่มจะแพร่สารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A, BPA) ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใช้บรรจุน้ำร้อน ไม่ว่าจะเป็นขวดเก่าหรือขวดใหม่ก็ตาม ซึ่งสารนี้มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ของเพศหญิง ส่งผลกระทบทำให้สเปริม์ลดลง เปลี่ยนพฤติกรรมเพศ นอกจากนี้ยังพบว่าเหนี่ยวนำให้เกิดการต้านทานอินซูลิน (insulin) และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย ในเด็กทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอคทีฟ (hyperactive)
พลาสติกเกือบทุกชนิดก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ
นอกจากนี้พลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ต้องทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพลงไป ตัวอย่างเช่น โฟมบรรจุอาหารรีไซเคิลเป็นโฟมกันกระแทก (ไม่สามารถกลับมาใส่อาหารได้อีก) ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย
และถุงพลาสติกอีกประเภทหนึ่งคือ ถุงพลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (degradable bags) เป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยและคิดค้นถุงพลาสติกที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตได้จากแป้งมันสำปะหลังและข้าวโพด พลาสติกชนิดนี้เมื่อถูกฝังกลบในสภาวะที่เหมาะสมจะถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์และแบคทีเรียในธรรมชาติ เมื่อย่อยสลายหมดแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำ มวลชีวภาพ ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตและดำรงชีวิตของพืช
สุดท้ายนี้ก็หวังว่า ทางออกทีดีที่สุดในตอนนี้ที่จะช่วยให้โลกของเราปราศจากพลาสติกที่ย่อยสลายยาก เราต้องหันมาร่วมมือกันรณรงค์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา หันมาใช้ถุงผ้า ขวดแก้วที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อโลกของเรากันนะครับ....เข้าร้านสะดวกซื้อ เดินจ่ายตลาด เรามา SAVE THE WORLD โดยพูดว่า SAY NO TO PLASTIC BAG กันนะครับ
สุดท้ายหวังว่า เรื่องนี้ น่าจะมีประโยชน์ กับพวกเราทุกคนนะครับ
โปรดช่วยกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม เราด้วยนะครับ จะนำเรื่องราวดีๆ มาส่งต่อให้ทุกคนอีกในโอกาสต่อไปครับ กดเยี่ยมชมเพจเราได้ที่นี่...
เรามารักษาโลกของเรากันนะครับ https://bit.ly/2Nzgb6i
โฆษณา