4 พ.ย. 2019 เวลา 01:55 • ความคิดเห็น
รีวิว “ไม่มีที่ว่างในวันหน้า ให้กับคนที่อยู่เฉย ๆ”
ตอนแรกที่ได้เห็นชื่อภาษาไทย ยอมรับเลยว่าไม่คิดจะซื้ออ่าน รวมทั้งขนาดเล่มที่หนาถึง 454หน้าด้วย..
แต่พอมาทราบจากการไลฟ์รีวิวหนังสือ ของ The Curator เมื่อเดือนที่แล้ว ก็ได้รู้ว่า มันเกี่ยวกับเรื่องของการ Disruption ในโลกของเรา ผนวกกับช่วงนั้นมีงานหนังสือพอดี เลยได้จังหวะซื้อเลย (แต่หนังสือก็ขายดีมากจริง ๆ บางร้านบอกว่ามีคนมาซื้อเหมาไปเลยก็มี)
เนื้อหา กล่าวถึงว่าจริง ๆ เรื่องการ Disruption หรือในหนังสือจะเรียกว่า ปรากฏการณ์พลิกผัน มีมานานแล้ว เริ่มชัดเจนตั้งแต่สมัย 1770 ที่ Ned Ludd ทุบเครื่องทอผ้า เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เขาตกงาน
หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เล่าต่อกันมา จนมีกลุ่มชื่อ Luddites (อ่านว่า ลัดไดตส์... ตั้งตามชื่อของ เน็ด ลัดด์ นั่นแหละ) ที่ออกมาต่อต้านเทคโนโลยี แต่จริง ๆ แล้วกลุ่มนี้ไม่ได้ต่อต้านความก้าวหน้านะ แต่ต่อต้านการที่ตัวเองถูกลดทอนคุณค่า และถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ต่างหาก
หนังสือสอนให้เราพยายามคิด และเข้าใจว่าหลากหลายธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเราไม่ใด้เป็นผู้คิด ก็ต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับมันให้ได้
ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น การสังเกตุผู้ใช้บริการ ก็อาจทำให้เราได้เปรียบในธุรกิจนั้น ๆ มากเช่นกัน
ยกตัวอย่างร้านกาแฟ ที่มีลูกค้าหลาย ๆ คนที่เดินเข้ามาแล้วมองรอบ ๆ แล้วเดินออกไปทันที สุดท้าย สาเหตุคือ คนสมัยนี้มักหาที่ทำงานในร้านกาแฟ หากร้านไหนมีปลั๊ก อยู่ใกล้กับโต๊ะ ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น
การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในบริษัทต้องอาศัยคน 3 ประเภท คือ:
1. คนเริ่มสิ่งต่าง ๆ
2. คนรักษาสิ่งต่าง ๆ
3. คนเลิกสิ่งต่าง ๆ
ซึ่งตัวคนเลิกสิ่งต่าง ๆ จะเป็นคนที่หา และทำยากมากที่สุด เพราะเมื่อองค์กร มีความอยู่ตัวแล้ว ความกล้าที่จะเสี่ยงไปทำอะไรนอกลู่นอกทาง ก็จะน้อยลง และเราก็จะติดกับการทำอะไรแบบเดิม ๆ แม้ว่า มันอาจจะไม่เวิร์คแล้วในปัจจุบันก็เป็นได้
ยกตัวอย่างเช่นคู่มือการยิงปืนของทหาร อเมริกัน ที่ระบุว่าต้องมี 3คน คนนึงเป็นคนประคองปืน คนนึงบรรจุกระสุน ส่วนอีกคนอยู่เฉย ๆ ซึ่งใช้กฏนี้มาช้านาน ไม่มีใครสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น 3คน จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ ค้นพบว่า จริง ๆ แล้วคนที่ 3 เป็นคนจูงม้า กฏนี่จึงถูกเปลี่ยนในรอบ 150ปี
หรือแม้แต่สาเหตุ ของคีย์บอร์ดที่ตัวอักษรกระจายกัน ก็เพราะป้องกันไม่ให้เกิดการพิมพ์ที่เร็วเกินไป จนกระดาษติดเครื่องพิมพ์ดีด
ก็จะเห็นว่า เรื่องที่ทำกันมาแต่เดิม แม้ปัจจุบันจะไม่มีประโยชน์ แต่เราก็ยังทำกันต่อเรื่อยมา ซึ่งก็อาจจะเป็น 1 ในปัจจัยที่ทำให้เราไม่กล้าที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
ทิ้งท้ายด้วยประโยคของ เล่าจื้อ ที่ว่า “การต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนการพยายามกลั้นลมหายใจของคุณ ถึงแม้จะทำได้สำเร็จ แต่มันก็จะจบไม่ดีนัก”
เล่าโดยสังเขปก็ราว ๆ นี้ครับแต่ในหนังสือยังมีเรื่องอะไรอีกมากมาย อ่านแล้วสนุกจริง การแปลถือว่าลื่นไหลดี มีจุดกำกวม 1-2 จุดแต่พอจะอ่านเอาภาพรวมได้
ป.ล. เล่มนี้อ่านประมาณ 2อาทิตย์ เพราะดันไปติดซีรีส์ Netflix เข้าซะก่อน เจียดเวลาอ่านลำบากเลย :D

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา