Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
4 พ.ย. 2019 เวลา 12:41 • การศึกษา
“สรุปการเล่นแชร์กับแชร์ลูกโซ่ให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ”
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของแชร์ลูกโซ่ที่ผู้ก่อตั้งวงแชร์ได้ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม
สาเหตุเกิดจากมีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกบุคคลดังกล่าวหลอกลวงให้ลงทุนโดยตกลงจะให้ผลตอบแทนอย่างงาม แต่ในที่สุดแล้วก็ถูกเชิดเงินหนีไป
Cr. pixabay
โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายอาจสูงถึงหลักพันล้านบาท !!
ซึ่งในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงคดีที่เป็นข่าวดังอยู่ ณ ขณะนี้ เพราะเรื่องยังอยู่ในชั้นสอบสวนจึงไม่อยากให้ความเห็นที่เป็นการชี้นำผู้อ่านจนเกินไป
โดยความตั้งใจที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา เนื่องจากผมได้พูดคุยกับคนรู้จักเรื่องการเล่นแชร์จึงพบว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า การเล่นแชร์กับแชร์ลูกโซ่นั้น “แตกต่างกัน”
อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือ “การเล่นแชร์” มีกฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้ภายใต้ขอบเขตที่กำหนด
ส่วน “แชร์ลูกโซ่” นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน
โดยผมขออธิบายเรียงไปเป็นข้อ ๆ โดยสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจนะครับ (การเล่นแชร์ ข้อ 1-4 แชร์ลูกโซ่ ข้อ 5-9)
1) การเล่นแชร์ มีกฎหมายอะไรรองรับ ?
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
ได้กำหนดให้การเล่นแชร์เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
2) เงื่อนไขการเล่นแชร์ที่กฎหมายกำหนดไว้มีอะไรบ้าง ?
- ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์
- แต่ละคนต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกในวงหมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดไปโดยการประมูล (เปียแชร์)
3) กฎหมาย “ห้าม” อะไรบ้าง ?
- ห้ามคนทั่วไปเป็นนายวงแชร์ (ท้าวแชร์) หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ รวมกันมากกว่า 3 วง
- ห้ามมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงเกิน 30 คน
- ห้ามมีทุนกองกลางต่อ 1 งวดรวมกันทุกวงเกิน 300,000 บาท
- ห้ามนายวงแชร์ หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์รับผลประโยชน์อื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดใดงวดหนึ่งโดยไม่เสียดอกเบี้ย
2
- ห้ามนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์
- ห้ามโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเล่นแชร์
4) การเล่นแชร์เค้าเล่นกันยังไง ?
1
เริ่มจากนายวงแชร์ (ท้าวแชร์) จะระดมเงินจากสมาชิกภายในวงแชร์ (ลูกแชร์) เพื่อเป็นเงินกองกลาง
สมมติว่าวงแชร์นั้นมีสมาชิก 10 คน มีกติกาว่าสมาชิกทุกคนจะต้องส่งเงินเข้ากองกลางคนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 เดือน (ตามจำนวนสมาชิก) ทุกวันที่ 1 ของเดือน ซึ่งในเดือนแรกวงแชร์จะมีเงินกองกลาง 20,000 บาท
ในเดือนต่อไป สมาชิกทุกคนจะต้องประมูลกัน (เปียแชร์) เพื่อแย่งเงินก้อนดังกล่าวโดยการเสนอดอกเบี้ยแข่งกัน ใครเสนอดอกเบี้ยมากที่สุดคนนั้นจะได้เงิน 20,000 บาทไป
เช่น มีสมาชิกเสนอดอกเบี้ย 500 บาท 300 บาทและ 200 บาทลดหลั่นกันไป คนที่ได้เสนอดอกเบี้ย 500 บาทจะเป็นคนเปียแชร์ได้ในงวดนั้น
หลังจากนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 ของเดือนถัดไป สมาชิกทุกคนจะต้องส่งเงินเข้ากองกลางคนละ 2,000 บาท เว้นแต่คนที่เปียแชร์ได้ในเดือนที่แล้วจะต้องส่งเงิน 2,000 บาท รวมดอกเบี้ยอีก 500 บาท (รวม 2,500 บาท) เข้ากองกลางจนกว่าจะครบกำหนด
จากนั้นสมาชิกในวงแชร์ก็จะเริ่มเสนอดอกเบี้ยเพื่อแข่งกันเปียแชร์ใหม่วนไปจนกว่าจะครบกำหนดเวลา ส่วนสมาชิกที่เคยเปียแชร์ได้ไปแล้วจะหมดสิทธิในงวดที่เหลือ
เมื่อสมาชิกทั้ง 9 คน ได้เปียแชร์กันครบแล้ว สมาชิกคนสุดท้ายจะได้เงินก้อนนั้นไปโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยอีกเลย (เหมือนจะดีแต่ก็เป็นคนที่เสี่ยงมากที่สุดเช่นกัน เพราะกว่าจะถึงคิวก็อาจมีสมาชิกบางคนเบี้ยวเงิน หรือหอบเงินหนีไปก็ได้)
5) แชร์ลูกโซ่คืออะไร ?
แชร์ลูกโซ่ คือ การที่พี่มิจ (มิจฉาชีพ) ชักชวนผู้คนโดยอาจเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ให้หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่ามีผลกำไรดีโดยเสนอผลตอบแทนที่สูงลิ่วในเวลาอันสั้นเป็นการจูงใจ
(แชร์ดังที่เพิ่งเป็นข่าวให้ผลตอบแทนสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน)
แชร์ลูกโซ่ จะต้องอาศัยการชักชวนต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากสมาชิกคนหนึ่งไปยังสมาชิกอีกคนหนึ่ง จนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นจำนวนมาก
โดยเงินที่ได้จากสมาชิกคนใหม่จะถูกนำไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับสมาชิกคนเก่าเป็นทอด ๆ เหมือนลูกโซ่ จนในที่สุดเมื่อหาสมาชิกเพิ่มไม่ได้ หรือหมุนเงินไม่ทันก็จะเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน และปิดวงหนีไปในที่สุด
6) รูปแบบการหลอกลวง ?
แม้แชร์ลูกโซ่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่ใช้บังหน้าเพื่อหลอกลวงให้คนหลงเชื่อไปแค่ไหนก็ตาม แต่แก่นของรูปแบบของการหลอกลวงก็มักจะวนเป็นแบบเดิม ๆ นั่นก็คือ
- มีการอ้างว่าเอาเงินไปลงทุน
- อวดผลตอบแทนที่สูงมากเพื่อจูงใจ
- ให้ชักชวนคนรู้จักมาร่วมลงทุน โดยมักจะอ้างว่า อยากช่วย อยากได้บุญ ไม่อยากให้เสียโอกาส
- แรก ๆ คนอาจไม่ค่อยกล้าลงเงินเท่าไหร่ เหล่ามิจฉาชีพจึงมักจะให้ผลตอบแทนสูงเพื่อทำให้เห็นว่าได้เงินจริง ๆ และไว้วางใจเพื่อลงเงินเพิ่ม
- เมื่อหลงเชื่อจึงเทเงินไปหมดหน้าตัก บางคนก็กู้มาลง หรือชวนเพื่อน หรือญาติให้มาร่วมด้วย (ตายหมู่)
- สุดท้ายวงแตก ถูกเจ้าภาพหอบเงินหนีไป
7) ธุรกิจอะไรที่มักจะถูกใช้บังหน้าเพื่อสร้างกลุ่มแชร์ลูกโซ่ ?
ที่ผ่านมาเหล่ามิจฉาชีพมักจะอ้างรูปแบบการลงทุนแตกต่างกันไป ส่วนในปัจจุบันรูปแบบการลงทุนที่กลุ่มคนเหล่านี้ชอบยกขึ้นอ้างนั้น ได้แก่
- ธุรกิจขายตรงบางประเภทที่เน้นหาสมาชิก
เพิ่มเพื่อเก็บเงินค่าสมัคร ไม่ได้เน้นการขายสินค้าที่มีคุณภาพ
- หลอกว่าจะนำเงินไปลงทุนในทองคำ น้ำมัน หรือเงินคริปโตฯ
- กองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์ปลอม
- ทริปขายฝันเที่ยวต่างประเทศราคาถูก
ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่กลุ่มมิจฉาชีพมักยกขึ้นมาอ้างเพื่อหลอกลวงเงินจากสมาชิก และเชื่อว่าในอนาคตก็อาจมีรูปแบบการหลอกลวงใหม่ ๆ มาให้เราเห็นกันเรื่อย ๆ
8) แชร์ลูกโซ่ผิดกฎหมายอะไรบ้าง ?
แชร์ลูกโซ่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายต่อไปนี้ได้
1
- ความผิดฐานฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา
- พระราชกำหนดการการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
- ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- หากมีการนำข้อความที่หลอกลวงไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียหรืออินเตอร์เน็ต ก็อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอีกด้วย
9) เราจะป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกหลอกลวงได้อย่างไร ?
1
“อย่าโลภ” คำนี้พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ถ้าทำได้โอกาสตกเป็นเหยื่อก็จะลดน้อยลง
ลองคิดดูสิครับ ถ้ามีอะไรที่ให้ผลตอบแทนสูงและได้มาง่าย ๆ คนปกติจะมาประกาศบอกคนอื่นรึเปล่า เค้าเก็บไว้เองดีกว่ามั้ย
อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่ถูกหลอกคือ “ความรู้”
หากเรามีความรู้ซักนิดว่าผลตอบแทนเงินฝากได้เท่าไหร่ ผลตอบแทนจากเงินปันผลหุ้นได้เท่าไร กองทุนนั้นได้ผลตอบแทนเท่าไร
เราก็จะรู้ได้ทันทีว่าผลตอบแทนที่เหล่ามิจฉาชีพได้เสนอให้เรานั้นแทบจะเป็นไป
ไม่ได้เลย
สุดท้ายเราก็ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก แต่อย่าลืมว่าตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภอยู่ในจิตใจ ก็จะมีคนกลุ่มใหม่ที่พร้อมจะหลอกลวงและคนที่จะตกเป็นเหยื่อเกิดขึ้นซ้ำไปไม่รู้จักจบสิ้น...
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
Facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
Instagram.com/Natarat_law
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ
https://twitter.com/Nataratlaw?s=09
84 บันทึก
250
41
134
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายอาญา
84
250
41
134
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย