หนึ่งในทฤษฎีทีใช้อธิบายการเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของเอกภพที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นทฤษฎี Big Bang ซึ่งจริง ๆ แล้วใจความสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่การระเบิดหรืออะไรตามที่เราเข้าใจ แต่มันอยู่ที่การขยายตัวของเอกภพต่างหาก นับตั้งแต่ทฤษฎี Big Bang ถูกเสนอขึ้น ก็ได้มีตัวเลขตัวนึงที่ถูกใช้เพื่ออธิบายการทำงานของกระบวนการนี้ เราเรียกมันว่า Hubble Constant หรือค่าคงที่ของฮับเบิล
ถ้านักคณิตศาสตร์ให้ความสำคัญกับค่าพาย ตัวเลขที่สำคัญสำหรับนักจักรวาลวิทยาก็คงหนีไม่พ้น Hubble Constant นี้เอง ซึ่งตัวเลขนี้ถูกใช้ในการประมาณการขนาดและอายุของเอกภพ มาตั้งแต่ปี 1929 คือในช่วงที่ Edwin Hubble บอกว่าดาราจักรต่าง ๆ กำลังถอยห่างออกจากเรา และสาเหตุที่มันเป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า Big Bang นั่นเอง
เราอาจจะเห็นโมเดลของ Big Bang ในแบบที่อธิบายง่าย ๆ ด้วยภาพการขยายตัวของเอกภพ ทำให้เรารู้ว่า “ยุค” ต่าง ๆ ของเอกภพ ตั้งแต่มันถือกำเนิดขึ้นนั้นแตกต่างกันทั้งในแง่ของสสาร พลังงาน ความซับซ้อน และความเร่งในการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการศึกษา Cosmic Microwave Background หรือพลังงานที่หลงเหลือจากการเกิด Big Bang ที่ยังคงสถิตแทรกอยู่ในทุกอณู และแรงที่ยังคงผลักให้เอกภพขยายตัวนี้ “Dark Energy” พลังงานมืดนี้ยังคงเป็นตัวแปรที่เราไม่รู้จัก เราเรียกรวม ๆ โมเดลที่ใช้ในการอธิบายการทำงานของเอกภพแบบนี้ว่า Lambda-CDM model
สิ่งที่นักฟิสิกส์และจักรวาลวิทยากำลังพยายามค้นหา คือ Physics beyond Lambda-CDM model ในวันที่ 25 เมษายน 2019 มีการตีพิมพ์ Paper ที่ชื่อว่า Large Magellanic Cloud Cepheid Standards Provide a 1% Foundation for the Determination of the Hubble Constant and Stronger Evidence for Physics Beyond ΛCDM ซึ่งใจความหลัก ๆ ของมันก็ตามหัวข้อ ว่าจากการศึกษาล่าสุด มันได้พบ “ความย้อนแย้ง” ในการอธิบายการขยายตัวของเอกภพว่า เอกภพขยายตัวเร็วกว่าที่เราคิด เปิดทางสู่ Physics beyond Lambda-CDM ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต