Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
6 พ.ย. 2019 เวลา 01:37 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับสมบูรณ์)
เจิงจื่อ (曾子)
เจิงจื่อ (ก่อนค.ศ. 505-ก่อนค.ศ.432) คำว่าเจิงคือนามสกุล ส่วนคำว่าจื่อจะเป็นคำที่ผู้คนใช้ยกย่องสรรเสริญผู้ที่เป็นปราชญ์วิญญูและมีคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์ ส่วนชื่อจริงของท่านคือเซิน ผู้คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่าเจิงเซิน มีฉายาว่าจื๋ออวี่ (子輿) ชาวแคว้นหลู่ เมืองอู่เฉิง อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๔๖ ปี ปวารณาขอเป็นศิษย์ขงจื่อเมื่ออายุเพียง ๑๖ ปีเท่านั้น บิดาของท่านนามว่าเจิงเตี่ยน เป็นศิษย์ขงจื่อเช่นเดียวกัน
เจิงจื่อเป็นศิษย์ที่ถูกขงจื่อว่ากล่าวว่าทึมทึบ แต่หากเราได้เคยศึกษาเรียนรู้คำสอนของขงจื่อมาก่อน ก็จะทราบว่า ศิษย์อีกคนที่ถูกขงจื่อตำหนิว่าโง่เขลาก็คือเหยียนหุย แต่ขงจื่อกลับรักและยกย่องเหยียนหุยมากเป็นที่สุด จนถึงขนาดวาดหวังที่จะมอบหมายให้เหยียนหุยสืบทอดพงษาธรรมต่อไปเลยทีเดียว ส่วนเจิงจื่อซึ่งมีอุปนิสัยเรียบเฉยนั้นเล่า ก็เป็นศิษย์อีกคนที่ได้รับการว่ากล่าวจากขงจื่อว่าทึมทึบ แต่สุดท้ายแล้วกลับเป็นศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดแก่นสัจธรรมและฝากฝังหลานชายเพียงคนเดียวของขงจื่อให้เป็นลูกศิษย์ เราจึงสามารถทราบได้ว่า คำที่ขงจื่อว่ากล่าวลูกศิษย์ว่าทึมทึบนั้น แท้จริงหาใช่ความทึมทึบหรือโง่เขลาเลยไม่
ความกตัญญู
เจิงจื่อเป็นศิษย์ขงจื่อที่มีกิตติศัพท์เรื่องความกตัญญูอันโดดเด่น ในหนังสือ ๒๔ กตัญญูได้มีการบันทึกเรื่องราวความกตัญญูของเจิงจื่อเอาไว้ดังนี้
ครั้งหนึ่ง เจิงจื่อขึ้นเขาตัดฟืน ต่อมามีอาคันตุกะมาเยือนที่บ้าน มารดาเจิงจื่อเกรงว่าจะทำการต้อนรับขาดตกบกพร่อง ทั้งยังรอเจิงจื่ออยู่เนิ่นนานก็ยังหาได้เห็นวี่แววว่าจะกลับมากลับมาแต่อย่างใดไม่ ในขณะที่กำลังร้อนใจอยู่นั้น ก็ได้กัดนิ้วของตนอย่างแรง ปรากฏว่าเจิงจื่อที่กำลังตัดฝืนอยู่บนเขา ทันใดเกิดความรู้สึกปวดร้าวที่หัวใจอย่างไม่มีสาเหตุ ยังให้เจิงจื่อเกิดความรู้สึกสังหรณ์ใจว่าจะต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับมารดาเป็นแน่แท้ จึงได้รีบทิ้งงานตัดฟืนและลงเขากลับบ้านในทันที ครั้นถึงบ้านแล้วก็รีบโผเข้าหามารดาเพื่อถามไถ่อาการว่าเป็นเช่นไรบ้าง ภายหลังจึงได้ทราบความจริงว่า เป็นเพราะมีอาคันตุกะมาเยือน ด้วยความรู้สึกร้อนใจจนทำอะไรไม่ถูก จึงได้กัดนิ้วของตนนั่นเอง
และเรื่องราวของเจิงจื่อเรื่องนี้ ภายหลังก็ได้กลายเป็นสุภาษิตที่ว่า “กัดนิ้วร้าวหัวใจ (嚙指心痛)” ที่หมายถึงการมีจิตกตัญญูอย่างถึงที่สุด จนดวงใจสองดวงที่ห่างไกล ได้ผสานจนกลายเป็นหนึ่งใจนั่นเอง
คติด้านความกตัญญูในสมัยก่อน จะถือว่าต้องปรนนิบัติบิดาดุจปรนนิบัติฟ้า ดังนั้นทุกครั้งที่เจิงจื่อเตรียมอาหารให้บิดา จะต้องเตรียมอาหารให้ครบถ้วนบริบูรณ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ครั้นบิดาทานอิ่มแล้ว ก่อนที่จะยกสำรับอาหารเก็บ เจิงจื่อจะต้องถามก่อนเสมอว่า “ส่วนที่เหลือจะให้ผู้ใดฤๅ?” บิดาก็จะถามกลับว่า “ยังมีเหลืออยู่หรือไม่?” เจิงจื่อก็จะตอบว่า “มีเหลือ” ทุกครั้ง
ทั้งนี้ ไม่ว่าอาหารจะมีเหลือจริงหรือไม่ เจิงจื่อก็จะกล่าวว่ามีเหลือทุกครั้ง เพื่อที่จะได้นำอาหารส่วนที่เหลือเหล่านั้น แจกจ่ายให้กับผู้ที่บิดาเห็นสมควรนั่นเอง โบราณว่า “ความกตัญญูมีสามระดับ หนึ่งคือความกตัญญูระดับเล็ก หมายถึงการเลี้ยงดูร่างกายของบุพการี สองคือกตัญญูระดับกลาง หมายถึงการสนองเจตนารมณ์แห่งบุพการี สามคือกตัญญูระดับใหญ่ หมายถึงการสืบสานคุณธรรมแห่งบุพการี” สำหรับเจิงจื่อมีมีความสำนึกตรึกแทนคุณอยู่ทุกเวลา นอกจากจะทำในส่วนของกตัญญูระดับเล็กและระดับกลางได้อย่างสมบูรณ์แล้ว หากท่านยังสามารถสืบสานคุณธรรมแห่งบุพการีให้ขจร ซึ่งก็คือความกตัญญูระดับใหญ่นั่นเอง
ด้วยจิตที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสุดหัวใจ เจิงจื่อจึงหมั่นคอยสังเกตอาหารที่บิดาโปรดปราน และทราบว่าบิดาชอบทานพุทรามากที่สุด ดังนั้นเมื่อมีโอกาสออกไปนอกบ้าน ก็จะต้องซื้อพุทรามาฝากบิดาอยู่เสมอ หลังจากที่บิดาได้เสียชีวิตจากไปแล้ว ท่านมีโอกาสได้รับเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารกับเหล่าอาคันตุกะ มีคนถามท่านว่า “ระหว่างอาหารคาวและพุทรา อย่างใดหอมหวนมากกว่ากัน” ท่านตอบว่า “อาหารคาว” ถามขึ้นอีกว่า “เหตุใดท่านจึงไม่ทานพุทราเล่า?” ครานั้นท่านได้กล่าวความในใจว่า “บิดาชอบทานพุทรา ทุกครั้งที่ข้าเห็นลูกพุทรา ก็อดที่จะระงับความรู้สึกที่คิดถึงบิดาไม่ได้ ดังนั้นข้าคงมิอาจทำใจทานพุทราลงได้อีก”
ด้วยแม้นพุทราจะมีความหอมหวนน่ารับประทานมากสักเพียงใด แต่ท่านก็ไม่ยอมทานพุทรานั่นอีกเลย
ทุกครั้งที่เจิงจื่ออ่านบทอวมงคลพิธี ท่านมักจะเศร้าโศกเสียใจจนร่ำไห้ และคิดถึงบุพการีที่ล่วงลับไปแล้วอยู่เสมอ ท่านกล่าวว่า “ที่ไปแล้วมิอาจหวนกลับ คือบุพการีแล ที่ถึงแล้วมิอาจเพิ่มเติมได้อีก คืออายุแล ดังนั้นบุตรอยากเลี้ยงดูแต่บุพการีมิรอคอย ไม้อยากงอกงามแต่ฤดูกาลมิรั้งรอ ฉะนี้ ล้มวัวบูชาหน้าสุสาน ยังมิสู้เตรียมหมูไก่ให้ท่านทาน เมื่อครั้งข้ารับราชการตำแหน่งเล็กๆ ที่เมืองฉี มีบำเหน็จเพียงน้อยนิด แต่ก็ยังสุขเกษมเปรมปรีดิ์หาใดเปรียบ นั่นมิใช่เพราะข้ามีมากแต่อย่างใด หากแต่เพราะสุขใจที่ได้อยู่ใกล้ท่าน ครั้นท่านได้อาสัญ ข้าจรท่องไปยังภาคใต้ที่เมืองฉู่ ได้รับราชการที่สูงศักดิ์ มีเรือนโถงสูงตระหง่าน ขื่อแปอลังการ รถลำเลียงมีนับร้อย แต่ก็ยังผินพักตร์ที่อุดรแล้วร่ำไห้ ที่เป็นเช่นนี้หาใช่เพราะต่ำต้อยไม่ หากแต่โศกาเพราะไร้บุพการีแล้วนั่นแล ดังนั้น บุพการีแก่ชรา สถานะแม้นยากไร้ ก็ยังต้องใคร่ครวญเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ หากมุ่งแต่อุดมการณ์ แล้วละเลยบุพการี นี่มิใช่ความกตัญญูแล”
พื้นฐานของความกตัญญูก็คือการเชื่อฟังอย่างมิขัดขืน แต่สำหรับเรื่องการเชื่อฟังมิขัดขืนนี้ เจิงจื่อก็เคยถูกขงจื่อตำหนิจนมิยอมให้เข้าพบกันเลยทีเดียว
ครั้งหนึ่ง เจิงจื่อถากหญ้าในสวนผัก แต่เกิดพลาดถากรากแตงขาด ครั้นบิดาเจิงจื่อเห็นเข้าก็โกรธอย่างที่สุด จึงหยิบไม้พลองหวดที่หลังของเจิงจื่อจนสลบ ผ่านไปพักหนึ่งจึงได้ฟื้นคืน ครั้นเจิงจื่อฟื้นแล้วก็รีบลุกขึ้นไปหาบิดาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกล่าวว่า “เมื่อสักครู่ลูกทำผิด จึงทำให้ท่านต้องเสียพละกำลังไปมากเพื่ออบรมลูก ไม่ทราบว่าได้ทำให้ท่านเจ็บป่วยตรงไหนหรือไม่?” ครั้นกล่าวจบก็กลับเข้าห้อง ดีดพิณขับร้อง เพื่อให้บิดาได้ทราบว่าตนไม่บาดเจ็บจากการถูกตีแต่อย่างใด ครั้นขงจื่อได้ทราบเรื่องนี้ก็โกรธอย่างที่สุด จึงสั่งกำชับทุกคนว่า “หากเจิงจื่อมาอย่าให้เข้าพบ” เจิงจื่อยังไม่เข้าใจว่าตนทำผิดเรื่องอะไร จึงวิงวอนให้ศิษย์พี่ช่วยสอบถามท่านอาจารย์ให้ ขงจื่อกล่าวว่า “เจ้าไม่เคยได้ยินหรือไย? ในอดีต กู๋โส่วมีบุตรที่ชื่อว่าซุ่น การปรนนิบัติดูแลบิดาของซุ่นนั้น ยามที่บิดาเรียกหา ไม่เคยเลยที่ซุ่นจะไม่อยู่เคียงข้าง แต่ครั้นกู๋โส่วมีใจคิดคดอกุศลที่จะฆ่าซุ่นนั้น กู๋โส่วกลับหาตัวซุ่นไม่เจอแต่อย่างใด ดังนั้น ไม้เล็กก็จงยอมให้ตี แต่หากเป็นไม้ใหญ่แล้วก็จงรีบวิ่งหนี ด้วยเพราะเหตุนี้ กู๋โส่วจึงไม่ผิดในข้อหาฆ่าบุตรตน และซุ่นก็ไม่เสียหายในคุณธรรมด้านความกตัญญู แต่การปรนนิบัติบิดาของเจ้านั้นเล่า เจ้ายอมให้บิดาโบยด้วยความโกรธ แม้นตายก็ไม่ยอมหลีกหนี หากเจ้าตายจริงก็จะทำให้บิดามีตราบาป เช่นนี้มิกลายเป็นความอกตัญญูที่ยิ่งใหญ่ดอกฤๅ? ตัวเจ้ามิใช่เป็นประชาชนแห่งฟ้าดอกหรือ? ผู้ที่สังหารประชาชนแห่งฟ้า แล้วความผิดบาปนี้จะเป็นเช่นไรฤๅ?”
ครั้นเจิงจื่อได้ยินก็รู้สึกผิดยิ่งนัก จึงกล่าวว่า “ศิษย์ครั้งนี้ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ชี้แนะ” ครั้นแล้วจึงกราบขอขมาและอำลากลับ
และก็คงเป็นเพราะเจิงจื่อมีความเป็นเลิศในด้านความกตัญญูกระมัง ดังนั้นคัมภีร์กตัญญูซึ่งเป็นคำสอนที่มีความสำคัญของสำนักขงจื่ออีกฉบับ ก็ได้อุบัติขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจากเจิงจื่อนี้นั่นเอง เนื้อหาในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า
ครั้งหนึ่ง ขงจื่อกำลังผ่อนคลายอิริยาบท โดยมีเจิงจื่อนั่งอยู่เคียงข้าง ขงจื่อกล่าวขึ้นว่า “บูรพกษัตริย์ทรงมีคุณธรรมอันประเสริฐและวรธรรมอันดีเลิศมาปกครองใต้หล้า ครั้นพสกนิกรได้รับการอนุศิษฏ์ก็จักบังเกิดความปรองดอง ทั้งบนและล่างต่างไร้การกล่าวโทษ เจ้ารู้จักสิ่งนี้หรือไม่ ?”
เจิงจื่อได้ลุกขึ้นจากที่นั่งมาหยุดอยู่เบื้องหน้าขงจื่อ พร้อมทั้งกล่าวว่า “ศิษย์มิปราดเปรื่อง ไฉนจะรู้ได้ ?”
ขงจื่อกล่าวว่า “อันว่ากตัญญูนั้น คือพื้นฐานแห่งคุญธรรมแล เป็นต้นกำเนิดแห่งปวงคำสอนแล เจ้าจงกลับไปนั่งก่อน เราจะชี้แจงให้เจ้าฟัง
“อัน ร่าง กาย ผม แลหนังนั้น ได้รับจากบุพการี จึงมิกล้าให้เกิดความเสียหาย นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งความกตัญญู “ครองตนมั่น เจริญในธรรม กิตติศัพท์กึกก้องสู่ชนรุ่นหลัง จนได้เป็นเกียรติแก่บุพการี นี่คือจุดหมายแห่งความกตัญญูแล อันว่ากตัญญูนั้น เบื้องต้นคือการปรนนิบัติบุพการี เบื้องกลางคือการรับใช้องค์พระภูมี แลเบื้องปลายคือการครองตนมั่น”
หลังจากเจิงจื่อได้รับการอบรมสอนสั่งจากขงจื่อดังนี้ นับแต่นั้นมา ท่านก็มีความระมัดระวังตนมิให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย หรือเรื่องคุณธรรมเกียรติศักดิ์ ท่านก็จะคอยระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ในคัมภีร์หลุนอวี่ได้มีการบันทึกในบทไท่ป๋อไว้ว่า เมื่อครั้งที่ท่านป่วย ท่านได้เรียกสานุศิษย์มาแล้วกล่าวว่า “เปิดดูเท้าข้าสิ เปิดดูมือข้าสิ คัมภีร์ซือจิงกล่าวว่า จงตื่นตัวทุกเวลา ให้ดุจเผชิญเหวลึก ดุจย่ำน้ำแข็งบาง นับแต่นี้สู่ภายภาคหน้า ข้ารู้ว่าร่างกายข้าจะพ้นจากการบาดเจ็บได้แล้ว เจ้าศิษย์ทั้งหลาย”
ด้วยเพราะขงจื่อสอนว่า “อันร่างกาย ผม หนัง นี้ได้รับจากบุพการี มิควรทำให้เกิดความเสียหาย” ดังนั้นในตลอดชีวิตของท่าน ท่านจึงระมัดระวังมิยอมให้ร่างกายนี้ได้รับบาดเจ็บเสียหายอย่างเด็ดขาด ท่านจะไม่นำร่างกายนี้ทำในเรื่องที่เสี่ยงอันตราย ไม่ใช้ร่างกายนี้ไปกับเรื่องการตีรันฟังแทง และไม่ใช้ร่างกายนี้ก่อเรื่องเลวร้ายจนเสื่อมเสียซึ่งคุณธรรมอย่างเด็ดขาด
เคร่งครัดกวดขันตน
นอกจากขงจื่อจะสอนว่า “อันร่างกายผมหนัง มิควรทำให้เกิดความเสียหายก็คือความกตัญญูแล้ว” ขงจื่อยังสอนอีกว่า “ครองตนมั่น เจริญในธรรม กิตติศัพท์กึกก้องสู่ชนรุ่นหลัง จนได้เป็นเกียรติแก่บุพการี นี่คือจุดหมายแห่งความกตัญญูแล”
ดังนั้นในเรื่องของคุณธรรมความดี ท่านจึงมีความตั้งใจทำนุบำรุงมิให้เกิดความเสื่อมเสียหายด้วยเช่นกัน ด้วยเพราะเหตุนี้ เจิงจื่อจึงระมัดระวังในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ท่านมักจะยกวาทะในคัมภีร์ซือจิงมาเตือนสติตนอยู่เสมอว่า “พึงมีความระมัดระวังตน ให้ดุจเผชิญเหวลึก ดุจย่ำน้ำแข็งบาง” ดังนั้น เจิงจื่อจึงมักจะสำรวจและเตือนสติตนอยู่สามประการเป็นกิจวัตรอยู่ทุกวัน คือ “ยามทำกิจให้ผู้อื่นได้ภักดีแล้วฤๅ? ยามคบหากับสหายได้ถือสัตย์แล้วฤๅ? ความรู้ที่รับการถ่ายทอดได้ทบทวนแล้วฤๅ?”
เจิงจื่อจะทำการสำรวจตรวจตราตนด้วยคำถามสามประการนี้อยู่ทุกวัน พร้อมทั้งจะมีความเข้มงวดกวดขันในการแก้ไขความผิดตนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง ไม่ว่าจะยามเดียวดาย หรือยามสมาคม เจิงจื่อก็จะเข้มงวดต่อตนเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จวบจนใกล้ชีพวาย ท่านก็ยังคงมีความเข้มงวดต่อตนเองอย่างไม่ยอมลดละ ท่านกล่าวกับสานุศิษย์ว่า “เปิดดูเท้าข้าสิ เปิดดูมือข้าสิ คัมภีร์ซือจิงกล่าวว่า จงตื่นตัวทุกเวลา ให้ดุจเผชิญเหวลึก ดุจย่ำน้ำแข็งบาง นับแต่นี้สู่ภายภาคหน้า ข้ารู้ว่าร่างกายข้าจะพ้นจากการบาดเจ็บได้แล้ว เจ้าศิษย์ทั้งหลาย”
เจิงจื่อจะมีความเข้มงวดต่อตัวเองและอารีย์ต่อผู้อื่น ดังนั้นท่านจึงสำเร็จเป็นอริยะ หากแต่คนทั่วไปนั้นจะอารีย์ต่อตนเอง และมักจะเข้มงวดต่อผู้อื่น ดังนั้นจึงสำเร็จเป็นปุถุชน ด้วยเพราะเหตุนี้ คุณธรรมของเจิงจื่อจึงมั่นคงดุจทองนพคุณที่ไม่กลัวไฟหล่อหลอม คุณธรรมของท่านจึงสามารถผ่านการทดสอบแห่งกาลเวลา สำหรับข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในยามที่ใกล้ชีพวาย ในคัมภีร์หลี่จี้ได้บันทึกเรื่องราวของเจิงจื่อในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตไว้ดังนี้
เจิงจื่อล้มป่วย อาการสาหัสหนักหนา เอวี้ยเจิ้งจื่อชุน (樂正子春) นั่งอยู่ด้านล่างของเตียง ส่วนบุตรชายนามว่าเจิงเอวี๋ยน (曾原) และเจิงเซิน (曾申) นั่งอยู่ที่ปลายเท้า มีมาณพหนุ่มยืนถือเทียนอยู่มุมห้อง มาณพกล่าวว่า “ช่างสวยและเงางามยิ่ง นั่นคือเสื่อของขุนนางหรือไม่?” เอวี้ยเจิ้งจื่อชุนรีบกล่าวว่า “หยุดเดี๋ยวนี้” ครั้นเจิงจื่อได้ยินก็ตกใจจนอุทานออกมา มาณพถามขึ้นอีกครั้งว่า “ช่างสวยและเงางามยิ่ง นั่นคือเสื่อของขุนนางหรือไม่?” เจิงจื่อกล่าวว่า “ใช่แล้ว นี่คือเสื่อที่จี้ซุนมอบให้ ตอนนี้ข้ามิอาจเปลี่ยนมันได้ ลูกเอวี๋ยน ประคองพ่อขึ้นมา แล้วเปลี่ยนเสื่อให้ที” เจิงเอวี๋ยนกล่าวขึ้นว่า “ท่านพ่อป่วยหนักอยู่ อย่าเพิ่งเปลี่ยนเลย รอให้เช้าก่อนแล้วค่อนเปลี่ยนเถอะ” เจิงจื่อกล่าวว่า “เจ้ารักข้ามิเท่ามาณพหนุ่มนั่นเลย วิญญูชนจะรักคนด้วยคุณธรรม ส่วนทุรชนจะรักคนด้วยการลูบหน้าปะจมูก ตอนนี้ข้ายังจะหวังอะไรอีกฤๅ? หวังแต่เพียงได้ตายอย่างถูกต้องชอบธรรม ก็เท่านั้น” ทุกคนจึงต่างพากันประคองเจิงจื่อเพื่อเปลี่ยนเสื่อ แต่ยังไม่ทันอุ้มท่านนอนลง ท่านก็สิ้นใจจากไปเสียแล้ว
ผู้คนในสมัยนั้นได้มีการกำหนดเป็นระบอบจริยธรรมว่า ผู้คนมิควรทำอะไรทึ่เกินเลยจากฐานะที่เป็น เช่นสามัญชนมิควรใช้ข้าวของเครื่องใช้ หรือพิธีการ ที่เกินเลยจากข้อกำหนดแห่งสามัญชน ขุนนางก็มิควรใช้ข้าวของเครื่องใช้ หรือพิธีการ ที่เกินเลยจากฐานะแห่งขุนนาง เจ้าแคว้นก็มิควรใช้ข้าวของเครื่องใช้ หรือพิธีการที่เกินเลยจากฐานะแห่งเจ้าแคว้น เป็นต้น เหตุที่กำหนดเช่นนี้ ความจริงนอกจากเป็นข้อกำหนดที่ไม่ต้องการให้มีการก้าวล้ำเกินกว่าฐานะที่เป็นอยู่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นข้อกำหนดที่ไม่ต้องการให้เกิดบรรยากาศที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบความร่ำรวย และทำในสิ่งที่เกินเลยจากบทบาทและขอบเขตความสามารถที่ตนเองเป็น ในเรื่องนี้ ทั้งขงจื่อและเจิงจื่อต่างก็ยึดถือเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้นสังคมในยุคนั้นจะมีคหบดีผู้มั่งคั่งจำนวนมากที่ไม่ยอมปฏิบัติแล้วก็ตาม แต่เจิงจื่อก็ยังคงมีความภักดีต่อระบอบ และยึดมั่นเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ด้วยแม้นผู้คนมากมายจะไม่นำพาอีกแล้ว
เกียรติศักดิ์
หากจะกล่าวว่าเกิดเป็นคนจะต้องมีเสื้อผ้าเป็นอาภรณ์ แต่สำหรับวิญญูชนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเหนือคนนั้นเล่า แน่นอนว่าย่อมจะต้องมีสิ่งที่เหนือกว่าเสื้อผ้าเป็นอาภรณ์อย่างแน่นอน และสิ่งที่เหนือกว่าเสื้อผ้าเป็นอาภรณ์นั้นก็คือเกียรติ กล่าวคือ ปุถุชนสวมพัสตราภรณ์ ส่วนวิญญูชนนั้นสวมกีรติยาภรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากผู้คนไร้เกียรติ ก็มิต่างอะไรกับคนที่เดินแก้ผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอายใจยิ่ง
ในตลอดชีวิตของเจิงจื่อ ท่านมีความตั้งใจยึดมั่นในหลักคุณธรรมที่ขงจื่อสอนไว้อย่างเคร่งครัด ท่านจึงไม่ยอมละเลยผ่อนผันในความผิดตนอย่างเด็ดขาด สิ่งนี้ก็คือเกียรติ สำหรับทุรชนจะไร้เกียรติ ส่วนวิญญูชนผู้ใฝ่ธรรม จะทะนงเกียรติรักษ์ศักดิ์ศรียิ่งชีวิต
ด้วยเพราะเจิงจื่อมีความทะนงในเกียรติ ดังนั้นเจิงจื่อจึงมักจะสอนเรื่องเกียรติแห่งปราชญ์วิญญูให้ศิษย์ได้รับฟังอยู่เสมอว่า “ปัญญาชนจะไร้จิตอันยิ่งใหญ่และใจอันกล้าแกร่งนั้นไม่ได้ เพราะภารกิจนั้นแสนหนักหนา อีกรัถยานั้นยังยาวไกล ด้วยเพราะมีเมตตาธรรมเป็นภาระกิจ นี่มิใช่เป็นหน้าที่อันหนักหนาดอกฤๅ ? ด้วยเพราะถึงยามอาสัญจึงจะถือว่าสิ้นสุด นี่มิใช่เป็นหนทางอันยาวไกลดอกฤๅ ?”
“ภาระหนักหนทางไกล (任重道遠)” จึงเป็นภาพสะท้อนแห่งปราชญ์วิญญูที่จะไม่ยอมชะล่าใจกับกับเรื่องเสื่อมเกียรติแม้สักนิด ด้วยหนทางชีวิตนั้นยังอีกยาวไกล ดังนั้นจึงต้องตั้งจิตมุ่งหมายที่จะต่อสู่กับลมฝนบนหนทางชีวิตที่ถาโถมกระหน่ำซัดด้วยสติที่แจ่มแจ้ง ด้วยกำลังใจที่ไม่ย่อท้อ เพื่อที่จะแบกรับภาระแห่งการเผยแผ่เมตตาธรรมให้ขจร ด้วยเพราะภาระนี้เป็นภาระอันแสนหนักอึ้งที่ข้องเกี่ยวกับสันติสุขแห่งใต้หล้า วิญญูชนจึงต้องตระหนักและตื่นตัวมิให้เกิดความผิดพลาดบนหนทางชีวิตที่ย่ำเดินอย่างเด็ดขาด
จริยวัตรอีกประการหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันในเกียรติของท่านได้เป็นอย่างดีก็คือ เมื่อตอนที่เจิงจื่อยากจนข้นแค้น ท่านเคยทำนาที่แคว้นหลู่ ครั้นเจ้าแคว้นหลู่ได้ทรงทราบถึงกิตติศัพท์ก็พระราชทานสิ่งของให้จำนวนมาก เจิงจื่อปฏิเสธ ครานั้นราชทูตเกลี้ยกล่อมเจิงจื่อว่า “ท่านมิได้ขอจากใคร หากคือผู้อื่นมอบให้เราเองต่างหาก ไยท่านจึงไม่รับไว้เสียเล่า ?” เจิงจื่อขอบคุณและกล่าวปฏิเสธว่า “ข้าเคยได้ยินมาว่า หากได้รับการอุปการะก็จะต้องเกรงใจผู้อุปการะ ส่วนผู้อุปการะก็จะเกิดใจหยิ่งผยอง บัดนี้ท่านเจ้าแคว้นทรงเป็นผู้พระราชทานสิ่งของ มาตรว่าพระองค์จะทรงไร้พระทัยอันหยิ่งผยองต่อข้าก็จริง แต่ข้าจะหลีกเลี่ยงความเกรงอกเกรงใจได้หรือ ? หากให้ข้ามั่งมีแล้วต้องคอยวิตกเกรงใจใคร มิสู้ให้ข้ายากจนแต่ไม่อดสูเสียดีกว่า” ครั้นขงจื่อทราบก็กล่าวชมเจิงจื่อว่า “เจิงจื่อเอ๋ย จากคำพูดของเจ้าดังนี้ ก็สามารถธำรงเกียรติยศของเจ้าให้คงอยู่ได้แล้ว หากมิเช่นนั้น ไยผู้คนจึงสรรเสริญในความสุจริตของเจ้าเล่า ?”
ความเที่ยงธรรม
วาจาของคนๆ หนึ่งจะมีความศักดิ์สิทธิ์ พูดตำหนิว่ากล่าวใครแล้วก็สามารถน้อมรับได้โดยดุษฎี คนผู้นั้นย่อมจะต้องมีคุณธรรมอันประเสริฐ จริยวัตรมีความเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์ เช่นนี้ วาจาว่ากล่าวติเตียนจึงจะมีคนยอมรับฟัง ด้วยแม้นผู้ที่ถูกติเตียนจะอยู่ในสถานะที่สูงกว่าก็ตาม
ครั้งหนึ่ง ศิษย์พี่ของเจิงจื่อนามว่าจื่อเซี่ยได้สูญเสียบุตรชาย จื่อเซี่ยร้องไห้จนตาบอด เจิงจื่อจึงเดินทางไปเยี่ยม พร้อมกล่าวว่า “ข้าได้ยินมาว่า สหายสูญเสียการมองเห็น เพียงได้ยินก็ยังให้เสียใจยิ่งนัก”
ครั้นเจิงจื่อร่ำไห้ จื่อเซี่ยก็ร่ำไห้ตาม พร้อมกล่าวว่า “สวรรค์ ข้าผิดตรงไหนฤๅ?”
ครั้นเจิงจื่อได้ยินจื่อเซี่ยกล่าวเช่นนั้น ก็ตำหนิด้วยความขึงขังว่า “ซัง เจ้าจะไม่ผิดได้อย่างไร ข้ากับเจ้าร่วมปรนนิบัติท่านอาจารย์ระหว่างแม่น้ำซื่อและแม่น้ำจู ครั้นต่อมาท่านก็อำลาไปอยู่เหนือซีเหอ ทำให้ปวงชนยกท่านเหนือยิ่งกว่าท่านอาจารย์ นี่คือความผิดข้อที่หนึ่ง ครั้นต่อมา ท่านสูญเสียบุพการี แต่ไม่มีชาวบ้านได้รับรู้แต่อย่างใด นี่คือความผิดข้อที่สอง บัดนี้ท่านสูญเสียบุตรชาย ท่านเสียใจจนสูญเสียดวงตา นี่คือความผิดข้อที่สาม ท่านมีความผิดถึงสามข้อ แต่ท่านยังจะบอกว่าไม่มีความผิดอะไรอย่างนั้นฤๅ?”
ครั้นจื่อเซี่ยได้ยินก็ทิ้งไม้เท้าและหมอบกราบเจิงจื่อในทันที พร้อมกล่าวว่า “ข้าผิดจริงๆ ข้าผิดจริงๆ ข้าหลีกห่างจากมิตรสหายแล้วอยู่อย่างเดียวดายมานานมากแล้วจริงๆ”
คำพูดของเจิงจื่อ แหลมคมดุจธนู หนักแน่นดุจหินผา ยังให้ศิษย์พี่ที่ยังเศร้าโศกเสียใจอยู่กับการสูญเสียบุตรชาย ถึงกับตาสว่างและรีบหมอบกราบสำนึกผิดในทันที
ผู้สืบทอด
3
เจิงจื่อกราบขอเป็นศิษย์ขงจื่อเมื่ออายุเพียง ๑๖ ปี ยามที่ขงจื่อถึงแก่อนิจกรรม ตอนนั้นเจิงจื่อเพิ่งจะมีอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับศิษย์พี่ท่านอื่นๆ นับว่าเจิงจื่อมีความอ่อนอาวุโสกว่าเป็นอย่างมาก แต่ขงจื่อกลับให้ความสำคัญ หรือกระทั่งยังหมายมั่นที่จะฝากฝังให้เจิงจื่อเป็นผู้สืบทอดพงศาธรรมต่อไปเลยทีเดียว
ครั้งหนึ่ง ขงจื่อได้ถามเจิงจื่อเพื่อทดสอบดูความเข้าใจในแก่นสัจธรรมที่ขงจื่อได้พร่ำสอนมามากน้อยเพียงไรว่า “เจิงจื่อเอ๋ย ธรรมของข้านั้นครอบคลุมทั้งหมดด้วยเพียงหนึ่ง” เจิงจื่อกล่าวว่า “ใช่ครับ”
1
ครั้นขงจื่อเดินจากไป เหล่าศิษย์ที่อยู่รายล้อมต่างไม่เข้าใจ จึงพากันรุมถามเจิงจื่อว่าท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องอะไรฤๅ? เจิงจื่อทราบดีว่า เรื่องแก่นสัจธรรมนี้เป็นสิ่งที่มิอาจกล่าว จะต้องรู้ได้ด้วยใจ แต่ครั้นไม่กล่าว แก่นนี้ก็ยากที่จะอธิบายให้ปรากฏ จึงตอบแต่เพียงว่าว่า “ธรรมของท่านอาจารย์นั้น เพียงภักดีอภัยเท่านั้นแล”
คำว่าภักดีและอภัย แม้ภายหลังจะมีการอธิบายว่าหมายถึง “สิ่งที่ตนไม่ปรารถนา อย่ากระทำกับผู้อื่น” แต่นั่นก็ยังเป็นการอธิบายแต่เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่สำหรับคำอธิบายของเจิงจื่อ ความจริงได้พยายามใช้คำว่า “ภักดีอภัย” ในการอธิบายแก่นสัจธรรมของขงจื่ออย่างมากที่สุด กล่าวคือ “ภักดี” คือความซื่อสัตย์ที่ภายใน คือความเที่ยงตรงไม่สั่นคลอนที่เป็นประธานอยู่ภายใน มิอาจเอื้อนเอ่ย หากแต่เป็นหลักพิงอย่างเข้มแข็งของภายนอก ส่วนคำว่า “อภัย” นั่นคือส่วนการกระทำอันเป็นจริยวัตรอันงดงามที่ภายนอก ดังนั้น การรู้อภัยที่ภายนอก ก็จะต้องมีความซื่อสัตย์ภักดีที่ภายในเป็นหลักยึด
4
จากข้อความ “ภักดีอภัย” สั้นๆ เพียงสองคำนี้ ก็เพียงพอที่จะเผยรหัสนัยบางสิ่งที่เจิงจื่อต้องการกล่าวถึงออกมาได้จนหมดสิ้น จิตภายนอกอิงหลักจากภายใน แก่นที่ภายในเป็นหลักให้เกิดศักยภาพที่ภายนอก และนี้ก็คือสิ่งที่เจิงจื่อกำลังพยายามอธิบายให้ศิษย์พี่ทุกคนเข้าใจคำว่า “ธรรมของข้าครอบคลุมทุกอย่างด้วยเพียงหนึ่ง” ของขงจื่อนั่นเอง
และด้วยเพราะเจิงจื่อคือผู้ที่รู้แจ้งในแก่นสัจธรรมของขงจื่อ ดังนั้นขงจื่อจึงฝากฝังเจิงจื่อให้เป็นอาจารย์สอนวิชาความรู้ให้แก่ข่งจี๋ ซึ่งเป็นหลานเพียงคนเดียวที่มีอายุน้อยเพียงแค่สี่ขวบเท่านั้น และเจิงจื่อก็มิได้ผิดต่อความคาดหวังของขงจื่อเลย เพราะเจิงจื่อไม่เพียงแต่สอนข่งจี๋จนเป็นปราชญ์วิญญูที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถเท่านั้น หากท่านยังอบรมสอนสั่งข่งจี๋จนได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าอีกท่านหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับชีวิตราชการของเจิงจื่อนั้น ท่านเคยเป็นนายอำเภอที่เมืองหลวี่ ภายหลังเมืองฉีเชิญท่านไปดำรงตำแหน่งอุปราช เมืองฉู่เชิญไปดำรงตำแหน่งมหาอำมาตย์ เมืองจิ้นเชิญไปดำรงตำแหน่งเสนาบดี ท่านสิริอายุทั้งสิ้น ๗๐ ปี เป็นผู้รับช่วงธรรมพงษาของขงจื่อ ดังนั้นจึงได้รับการยกย่องว่าพงษาริยา (宗聖) ส่วนคุณธรรมความรู้ของท่านก็โด่งดังจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วแผ่นดิน
4 บันทึก
9
4
16
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับปรับปรุง)
4
9
4
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย