7 พ.ย. 2019 เวลา 04:00 • กีฬา
ท่าเรือ-มิลล์วอลล์ : สองทีมต่างซีกโลกที่เหมือนกันแทบทุกมิติ
อาจด้วยความคุ้นเคยกับฟุตบอลอังกฤษ ในช่วงแรกที่กระแสฟุตบอลไทยเติบโตขึ้นมานั้นหลายคนมักนำฟุตบอลไทยไปเปรียบเทียบกับพรีเมียร์ลีก ทั้งการพยายามตามหา TOP 5-4-3 (ก่อนจะพบว่าสุดท้ายแล้วบุรีรัมย์ฯครองความยิ่งใหญ่เดี่ยวๆราวกับบาเยิร์นฯแห่งบุนเดสลีกา)
ไปจนถึงคาแรคเตอร์ของสโมสร บางคนบอกว่าเมืองทองฯเทียบได้กับแมนฯยูฯ ทั้งสี ความนิยม และความโด่งดัง บางคนพยายามเทียบบุรีรัมย์ฯกับเชลซี ทั้งความเป็นเจ้าบุญทุ่ม ทั้งความชอบของประธาน บางคนเทียบชลบุรี กับลิเวอร์พูล เพราะความเป็นยักษ์หลับและมีธรรมเนียมปฏิบัติเข้มงวด
แต่บทความนี้จะบอกว่าทั้งหมดนั้นยังไม่ใช่ ถ้าจะให้เปรียบเทียบสักคู่ที่เหมือนระหว่างสโมสรฟุตบอลไทยกับอังกฤษ แล้วล่ะก็ ต้องเป็นท่าเรือฯ กับ มิลล์วอลล์เท่านั้น
แม่น้ำเทมส์กับแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเทียบเรือสู่สโมสรฟุตบอล
ความเหมือนประการแรก (ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความเหมือนต่อๆมา) คือรกรากและที่ตั้งของสโมสร
การท่าเรือ เอฟซี เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1967 ในฐานะที่เป็นทีมฟุตบอลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลกิจการท่าเรือของไทย
Photo : Facebook : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
การท่าเรือฯส่งทีมฟุตบอลเข้าร่วมแข่งขันรายการต่างๆจนประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในสโมสรที่เป็นที่รู้จักและเก่าแก่ที่สุดในวัฏจักรฟุตบอลไทยสโมสรหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการแข่งขันฟุตบอลสโมสรไทยให้เป็นอาชีพแบบเต็มตัวเมื่อปี 2009
ท่าเรือฯก็จดทะเบียนเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลอันหมายถึงการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัวมาจนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งของสโมสรท่าเรือฯอยู่บริเวณท่าเรือคลองเตย อันเป็นที่ทำการใหญ่ของการท่าเรือฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำสายหลักของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ และมีความสำคัญที่สุดอันหนึ่ง จนกล่าวได้ว่า สโมสรท่าเรือฯมีรกรากที่ตั้ง ที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากท่าเรือ ที่หมายถึงอุตสาหกรรมการขนส่งทางน้ำ
ส่วนสโมสรมิลล์วอลล์ เอฟซี เป็นสโมสรขนาดกลางๆค่อนไปทางเล็กในสารบบฟุตบอลอังกฤษ แต่ก็มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานกว่าศตวรรษ มิลล์วอลล์ฯก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1885 โดยกลุ่มคนงานโรงงานบรรจุกระป๋องบริเวณ Isle of Dogs พื้นที่ที่เกือบจะถูกล้อมรอบด้วยแม่น้ำเป็นรูปตัว U ทางตอนเหนือของแม่น้ำเทมส์
แม่น้ำสายหลักที่ไหลตัดผ่ากรุงลอนดอนอย่างแทบจะไม่ต่างกับเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ ต่อมาได้ย้ายข้ามฝั่งมาทางตอนใต้ที่เขต Bermondsey ไม่ไกลจากแม่น้ำเทมส์นัก ทำให้แฟนบอลกลุ่มหลักของมิลล์วอลล์เป็นคนที่ทำงานที่ท่าเรือใหญ่ของลอนดอน
เรียกได้ว่าที่ตั้งของทั้งสองสโมสรแทบจะเหมือนกันเป๊ะๆ ต่างเพียงแค่สโมสรหนึ่งอยู่ที่ลอนดอนและสโมสรหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ
สองโลโก้สิงห์กับสองสิงห์แห่งฟุตบอลถ้วย
ทั้งสองสโมสรต่างเป็นสิงห์ ทั้งโลโก้ของมิลล์วอลล์ฯ และท่าเรือฯ ที่เป็นสิงโต
ก่อนหน้านี้ท่าเรือฯเคยใช้สมอและโลมาเป็นโลโก้มาก่อน แล้วเปลี่ยนมาเป็นสิงห์ในยุคของลุงหนวด พิเชษฐ์ มั่นคง ตั้งแต่ปี 2009 แม้จะเคยเปลี่ยนมาเป็นม้าในระยะหนึ่งในยุคของมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ แต่ในท้ายที่สุดก็กลับมาใช้สิงห์เป็นสัญลักษณ์ตามฉายาสิงห์เจ้าท่า ส่วนมิลล์วอลล์ก็ใช้สิงห์เป็นโลโก้มาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1936 ถึงปัจจุบัน และมีฉายาว่า The Lions
ในแง่ของฟุตบอล แม้ทั้งสองสโมสรจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในฟุตบอลลีกอย่างเป็นกอบเป็นกำแต่สิ่งเชิดหน้าชูตาที่ทั้งคู่มีเหมือนกันคือฟุตบอลถ้วย
ท่าเรือฯเคยได้แชมป์ถ้วย ก และควีนส์คัพมาหลายครั้งสมัยฟุตบอลไทยยุคเก่า ส่วนฟุตบอลไทยยุคปัจจุบันพวกเขาก็เคยมีช่วงเวลาหอมหวานตั้งขบวนแห่ไปสนามศุภชลาศัยเมื่อปี 2009 และ 2010 ที่ได้แชมป์เอฟเอคัพ และลีกคัพติดต่อกัน รวมถึงล่าสุดอย่างแชมป์เอฟเอคัพ 2019
ส่วนมิลล์วอลล์ ที่แม้จะวนเวียนอยู่ในดิวิชั่นระดับ 2-3 เป็นหลัก (พวกเขาเคยขึ้นถึงลีกสูงสุดแค่ 2 ฤดูกาล ช่วงฤดูกาล 1988-1989 และ 1989-1990 ที่มีเท็ดดี้ เชอริงแฮมสมัยยังเป็นดาวรุ่งเป็นสตาร์ประจำทีม)
แต่มิลล์วอลล์ก็เคยเข้าถึงรอบลึกๆของฟุตบอลถ้วยหลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2004 ที่เข้าถึงรอบชิงเอฟเอคัพและได้ไปแข่งยูฟ่าคัพในฤดูกาลถัดมา
Photo : Facebook : Millwall Football Club
เรียกได้ว่าทั้งสองสโมสรที่มีสิงห์เป็นโลโก้เหมือนกันนี้ต่างก็เป็นสิงห์ฟุตบอลถ้วยสมฉายาด้วยกันทั้งคู่
คนงานท่าเรือกับย่าน (ที่ถูกมองว่า) เสื่อมโทรมของเมืองหลวง
ด้วยความที่ท่าเรือมักเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมาก ยิ่งโดยเฉพาะท่าเรือฯ เก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่การวางผังเมืองยังไม่เป็นระบบ
ย่านที่ตั้งของท่าเรือฯ จึงมักมีสภาพแวดล้อม ที่ไม่ดีนักและมักถูกมองว่าเป็นย่านเสื่อมโทรม ซึ่งทั้งในกรณีของไทยและอังกฤษก็ดูจะไม่ต่างกันนัก
ช่วงปลายทศวรรษ 1930s รัฐบาลไทยมีแผนจะสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าบริเวณคลองเตย จึงทำการเวนคืนที่ดินเป็นพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ ต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้แผนการชะงักไปช่วงหนึ่ง การก่อสร้างดำเนินงานต่อได้อีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1940s แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงใช้ที่ดินไปเพียงประมาณ 400 ไร่ ทำให้มีที่ดินเหลือว่างเป็นจำนวนมาก
การก่อสร้างและดำเนินกิจการท่าเรือทำให้พื้นที่บริเวณนั้น กลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ จึงมีคนจากต่างถิ่นหลั่งไหลเดินทางย้ายถิ่นเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น คนจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่เหลือว่างนั้น ยิ่งนานวันคนก็ยิ่งย้ายเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ ทำให้เกิดเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ และคลองเตยก็เป็นที่รู้จัก ในฐานะชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ส่วนมิลล์วอลล์ฯก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่ตั้งเดิมแถบ Isle of Dogs และที่ตั้งใหม่อย่าง Bermondsey แถบตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนนั้น ต่างเป็นที่อยู่อาศัยของคนงานท่าเรือ แถบตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนนั้น มักเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นที่อยู่ของชนชั้นแรงงาน (ที่มักทำงานในท่าเรือ) พูดสำเนียง cockney ที่มีภาพลักษณ์แบบเถื่อนๆ บริเวณนี้จึงถูกมองว่าเกิดอาชญากรรมบ่อยครั้งและเป็นย่านที่ไม่น่าอยู่นัก
เรียกได้ว่าภาพลักษณ์ของย่านที่ทั้งสโมสรท่าเรือฯและมิลล์วอลล์ตั้งอยู่นั้นเป็นย่านที่ถูกมองว่าเสื่อมโทรม ทั้งสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด และกลุ่มคนที่มักเป็นชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่รอบข้างที่เป็นเมืองหลวงอันเต็มไปด้วยความศิวิไลซ์
ภาพลักษณ์ทางลบของย่านกับข้อกล่าวหาเรื่องฮูลิแกน
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าถามแฟนบอลไทยเกี่ยวกับความรุนแรง แทบร้อยทั้งร้อยมักนึกถึงท่าเรือฯเป็นอันดับแรก คนไทยอาจไม่สนใจเรื่องฮูลิแกนในฟุตบอลอังกฤษกันมากนัก แต่ถ้าถามคนอังกฤษล่ะก็ แทบร้อยทั้งร้อยก็มักจะนึกถึงมิลล์วอลล์ฯเป็นอันดับแรกเหมือนกัน
Photo : Facebook : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
กิตติศัพท์เรื่องความ “ดุดัน” ของแฟนท่าเรือฯเป็นที่กล่าวขานกันอย่างแพร่หลายในแฟนบอลไทยและสื่อมวลชน
บางคนมีทีท่าหวั่นเกรง และอาจถึงไม่กล้าไปสนามแพท สเตเดี้ยมของท่าเรือยามที่ทีมรักของพวกเขาไปเยือน บ้างก็ทำเหมือนว่าการไปเยือนแพท สเตเดี้ยมเป็นบททดสอบความกล้า หรือกระทั่งข่าวลือที่ว่าแฟนท่าเรือฯซ่อนอาวุธไว้ในรถที่ใช้เดินทางนัดเยือนเพื่อเตรียมก่อเรื่อง (ข้อกล่าวหาอันหลังนี้ก็ดูจะเกินจริงไปมากอยู่ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยไปทริปสโมสรนัดเยือนกับแฟนท่าเรือฯอยู่บ้าง ก็ไม่เคยเห็นว่ามีการเตรียมอาวุธอะไร เว้นเสียแต่จะมองว่าขวดเบียร์จำนวนมากที่พวกเขาดื่มกันระหว่างทางนั้นเป็นอาวุธได้ด้วย)
หากว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว แฟนท่าเรือฯเองก็มีประวัติความเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรงมาไม่น้อย ทั้งนัดถ้วย ก กับเมืองทองฯ เมื่อปี 2010 ไล่มาจนถึงองศาเดือดแทบทุกครั้งที่พวกเขาต้องเจอกัน (โดยเฉพาะการปะทะกันที่นอกสนามเอสซีจี สเตเดี้ยมเมื่อปี 2014 กับ 2016 ที่ลุกลามจนมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก) การปะทะกับแฟนบอลบางกอก เอฟซีเมื่อปี 2013 ไปจนถึงการปิดล้อมสนามจนผู้ตัดสินอย่าง ถนอม บริคุต ต้องประกาศแขวนนกหวีด (แต่ต่อมาก็กลับมาเป่าอีก) กิตติศัพท์เรื่องความดุดันของพวกเขาจึงพอจะมีมูลอยู่บ้าง
ขณะที่แฟนมิลล์วอลล์ฯนั้นเรียกได้ว่าขึ้นชื่อและแทบจะเป็นภาพตัวแทนของแฟนบอลอังกฤษไปแล้ว ไม่ว่าจะมีการกล่าวถึงฮูลิแกนในอังกฤษ (หรือกระทั่งระดับโลกก็ตาม) กี่ครั้ง พวกเขาถูกจัดให้เป็นอันดับต้นๆอยู่เสมอ
เอาง่ายๆว่าแค่ภาพที่ถูกนำเสนอผ่านจอภาพยนตร์พวกเขาก็กินขาดแล้วใน Green Street Hooligans (2005) ภาพยนตร์ว่าด้วยฮูลิแกนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดนั้นว่าด้วยเรื่องราวของวัยรุ่นคนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ในวงการฮูลิแกนแล้วพบว่าชีวิตของฮูลิแกน ในแต่ละวันนั้นมันเต็มไปด้วยความรุนแรงแค่ไหน แต่อย่าเพิ่งคิดว่าไอ้หนุ่มคนนั้น ไปรวมกลุ่มกับแฟนมิลล์วอลล์ฯ เขาไปรวมกลุ่มกับฮูลิแกนที่เป็นแฟนบอลสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ดต่างหาก ตีกับแฟนทีมอื่นไปเรื่อยๆ โดยมีมิลล์วอลล์ฯ เป็นเหมือนบอสใหญ่คู่ปรับรายสุดท้าย (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็แฟนเวสต์แฮมฯเนี่ยแหละที่เป็นคู่แค้นอันดับหนึ่งของมิลล์วอลล์ฯ)
คิดดูก็แล้วกันว่าขนาดในหนังเกี่ยวกับฮูลิแกนด้วยกัน มิลล์วอลล์ฯ ยังเป็นตัวร้ายเลย หรือกระทั่งในสารคดีเกี่ยวกับฮูลิแกนในอังกฤษก็จะพบว่าแทบทุกเรื่องต้องอ้างถึงมิลล์วอลล์ฯอยู่เสมอทำนองว่าเป็นภาคบังคับที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ราวกับว่าพวกเขาเป็นสัญลักษณ์ของฮูลิแกน
ในความเป็นจริงนั้นมิลล์วอลล์ฯก็มีประวัติความรุนแรงในแบบที่เรียกได้ว่าโชกโชนมากๆ กลุ่มฮูลิแกนของมิลล์วอลล์ฯมีชื่อเรียกว่า Bushwackers มีบันทึกว่าแฟนมิลล์วอลล์ฯ มีเรื่องกับแฟนบอลเวสต์แฮมฯมาตั้งแต่ปี 1906 ยาวนานขนาดที่ย้อนไปไกลได้มากกว่าศตวรรษ
หลังจากนั้นสนาม The Den ของมิลล์วอลล์ฯถูกสั่งปิดหลายครั้งเพราะเกิดเหตุความรุนแรงในสนาม ชื่อเสียงด้านความรุนแรงของมิลล์วอลล์ฯยิ่งขจรขจายมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950s-1960s การบุกลงไปในสนาม(pitch invasion) เกิดขึ้นแทบจะทุกปี
ยังไม่นับการปะทะกันของแฟนบอลที่เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือกระทั่งการขว้างระเบิดมือลงไปในสนามก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จน The Sun พาดหัวว่า “ฟุตบอลเข้าสู่สงครามแล้ว” (แต่ต่อมามีการตรวจสอบพบว่าน่าจะเป็นระเบิดปลอม)
เมื่อปี 1967 มิลล์วอลล์ฯเสียสติถิไม่แพ้ใครในบ้านให้กับพลีมัธหลังจากทำสถิติไร้พ่ายมากว่า 59 นัด วันนั้นพวกเขาทุบรถบัสของทีมเยือนพังยับเยิน แล้วก็รวมตัวกันประท้วงผู้ตัดสิน (ที่จะว่าไปแล้วก็นึกถึงเหตุการณ์ที่แฟนท่าเรือฯปิดล้อมผู้ตัดสินถนอมอยู่เหมือนกัน)
เมื่อปี 1978 มิลล์วอลล์ฯเล่นเกมเอฟเอคัพเปิดบ้านรับการมาเยือนของอิปสวิชฯแล้วมีเรื่องกันจนสนามพังพินาศต้องปิดซ่อมกว่าสองสัปดาห์และถูกแบนห้ามใช้สนามเหย้าในเอฟเอคัพไป 2 ปี ปี 1985 มิลล์วอลล์ฯไปเยือนลูตันฯบรรยากาศเดือดตลอดเกม มีเรื่องกันจนการแข่งขันต้องหยุดไปช่วงหนึ่ง
จบแมตช์ก็ยังมีเรื่องกันอีกจนลุกลามไปทั่วสนาม สุดท้ายมีคนบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล 81 คน 31 ในนั้นเป็นตำรวจ รวมทั้งตำรวจคนหนึ่งที่ถึงกับหยุดหายใจไปช่วงหนึ่ง เก้าอี้ในสนามพังไป 700 ตัวเพราะถูกงัดขึ้นมาขว้างใส่กัน
หลังจากเหตุการณ์นี้ลูตันฯแบนแฟนทีมเยือนไม่ให้เข้าสนามไป 6 ปี ปี 2002 มิลล์วอลล์ฯแพ้เบอร์มิงแฮมฯจนตกรอบเพลย์ออฟ หลังจบเกมเกิดจลาจล แฟนมิลล์วอลล์ฯปะทะกับตำรวจจนตำรวจบาดเจ็บไป 45 คน สนามพังยับเยิน รถถูกเผาไป 2 คัน
แต่อย่างไรก็ดี Garry Robson นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ (และเป็นแฟนมิลล์วอลล์ฯตัวยงคนหนึ่งด้วย) ก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘No One Likes Us, We Don't Care': The Myth and Reality of Millwall Fandom ขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าภาพลักษณ์เกี่ยวกับฮูลิแกนของมิลล์วอลล์ฯนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความรุนแรงในฟุตบอลเพียงอย่างเดียว
จริงอยู่ที่ว่าแฟนบอลมิลล์วอลล์ฯก่อเรื่องหลายครั้ง แต่ภาพที่สื่อนำเสนอและสังคมภายนอกรับรู้นั้นมักรุนแรงเกินจริงไปเสมอ เขาชี้ว่าในอีกส่วนหนึ่งนั้นมันมาจากภาพลักษณ์ทางลบที่คนทั่วไปมักมองว่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของลอนดอนเป็นย่านเสื่อมโทรม เป็นที่อยู่ของชนชั้นแรงงาน เป็นพื้นที่ที่น่ากลัวและเต็มไปด้วยอาชญากรรม สโมสรมิลล์วอลล์ฯที่อยู่ในย่านนี้จึงถูกมองไม่ดีไปด้วย
นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1950s-1960s ที่มิลล์วอลล์ฯก่อเหตุหลายครั้งนั้นเป็นช่วงที่สังคมอังกฤษกำลังเริ่มตื่นตัวกับปัญหาความรุนแรงในฟุตบอลอย่างจริงจังอยู่พอดี (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอังกฤษจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 1966 ด้วย) มิลล์วอลล์ฯที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงนั้นจึงกลายเป็นเหมือนตัวแทนของฮูลิแกนของสังคมอังกฤษไป ทั้งที่จริงๆแล้วก็มีแฟนบอลสโมสรอื่นที่เป็นฮูลิแกนอีกจำนวนมาก
ขณะที่ท่าเรือฯเองก็ดูจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน หลายครั้งที่ความหวาดหวั่นต่อแฟนท่าเรือฯนั้นไม่ได้มาจากเรื่องราวความรุนแรงในฟุตบอลโดยตรง แต่ภาพลักษณ์ของคลองเตยที่ดูไม่ดีนักในสายตาของคนภายนอกก็มักจะเป็นหนึ่งในส่วนที่ถูกนำมาตัดสินพวกเขาเสมอ
สำหรับผู้เขียนที่ได้คลุกคลีกับแฟนท่าเรือฯมาระยะหนึ่ง (ผู้เขียนเองก็เป็นแฟนท่าเรือฯคนหนึ่งด้วย) ก็พบว่าพวกเขาไม่ได้โหดร้ายป่าเถื่อนเท่ากับที่คนภายนอกมองเลย อันที่จริงทั้งแฟนท่าเรือฯทั้งแฟนบอลไทยทั่วๆไปก็ไม่ได้นิยมความรุนแรงอะไรมากมายอย่างที่คนภายนอกมักจะมองว่า “บอลไทยไปมวยโลก” อยู่แล้ว
ชาวยุโรปคนหนึ่งเคยบอกกับผู้เขียนว่าเขาชอบดูฟุตบอลไทยเพราะแฟนบอลไทยมีบรรยากาศที่เป็นมิตรมาก ไม่เหมือนในยุโรปที่รุนแรงเกินไป ที่น่าตลกก็คือสโมสรฟุตบอลไทยที่ชาวยุโรปคนนี้เชียร์และไปดูเป็นประจำก็คือท่าเรือฯนั่นแหละ
เรียกได้ว่าทั้งมิลล์วอลล์ฯและท่าเรือฯต่างก็ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน พวกเขาถูกมองทางลบอย่างเหมารวมจนเกินจริงเนื่องจากย่านที่อยู่ รวมถึงความตื่นตัวเกี่ยวกับความรุนแรงในฟุตบอลอังกฤษช่วงทศวรรษ1950s-1960s ก็ยังอาจเทียบได้กับความตื่นตระหนกต่อความรุนแรงที่เริ่มปรากฏขึ้นมาในช่วงที่กระแสฟุตบอลไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเหตุการณ์ในถ้วย ก เมื่อปี 2553
คนนอกของเมืองหลวงฟ้าอมร กับสโมสรอันเป็นความภาคภูมิใจ
ที่ตั้งของทั้งสองสโมสรยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือทั้งคลองเตยและแถบตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนนั้นแทบจะอยู่ใจกลางเมืองหลวง คือในขณะที่ภาพลักษณ์ของพื้นที่ทั้งสองดูไม่ดีนักในสายตาคนนอก
พร้อมๆกันนั้นพวกเขาก็อยู่ท่ามกลาง “ความศิวิไลซ์” ของเมืองหลวงที่ขนาบข้างอยู่ (ลองจินตนาการถึงคลองเตยที่ถัดไปไม่ไกลก็เป็นทองหล่อ-สุขุมวิท ที่มิลล์วอลล์ฯเองก็ไม่ต่างกันนัก) นั่นทำให้ความแตกต่างยิ่งเด่นชัด วัฒนธรรมและความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันของคนในพื้นที่จึงเข้มข้นมาก ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขามีความผูกพันและภาคภูมิใจในสโมสรที่เป็นเสมือนตัวแทนของพวกเขา
บทหนึ่งในหนังสือของ Garry Robson สัมภาษณ์แฟนบอลมิลล์วอลล์ฯจำนวนมาก แล้วพบว่าแฟนบอลมิลล์วอลล์ฯมีลักษณะเฉพาะของตัวเองบางประการ เช่นพวกเขาจะรู้สึกผูกพันและภูมิใจในสโมสรมากๆ แต่ก็ไม่ใช่การรักแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะพวกเขาก็พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับสโมสรเมื่อเห็นอะไรที่ไม่เข้าทีอยู่เสมอ บางทีก็เปลี่ยนจากชมเป็นด่าได้ง่ายๆ
แฟนมิลล์วอลล์ฯยังมีลักษณะของความดุดันแบบแมนๆและยึดมั่นในความเป็นพวกพ้องมากๆ ซึ่ง Robson บอกว่ามันคือลักษณะของชนชั้นแรงงาน อันที่จริงแล้วแฟนบอลหลายคนก็น่าจะเรียกได้ว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจแบบชนชั้นกลาง
แต่เมื่อไปที่สนามพวกเขาก็พร้อมที่จะแสดงความดุดันและรสนิยมแบบชนชั้นแรงงานอันเป็นเอกลักษณ์ของแฟนมิลล์วอลล์ฯออกมา (บางคนถึงกับบอกว่าถ้าแฟนสาวของเขามาเห็นเขาที่สนามต้องตกใจแน่ๆว่าทำไมดุดันได้ขนาดนี้
ผู้เขียนเคยไปที่สนาม The Den ของมิลล์วอลล์ฯ แล้วก็ได้พบกับสิ่งแปลกประหลาดที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเจอที่สนามฟุตบอลได้ มันคือสุสาน ที่มุมหนึ่งของสนาม The Den มีพื้นที่ที่เรียกว่า Millwall Memorial Garden มันคือสุสานจำลองสำหรับอดีตนักเตะและแฟนบอลของสโมสรที่เสียชีวิตไป ที่สุสานจำลองนี้จะมีป้ายชื่อของผู้จากไปพร้อมคำไว้อาลัยจากญาติหรือเพื่อน พวกเขาผูกพันกับสโมสรมากจนยินดีจะหลับลงตลอดกาลที่นี่
มิลล์วอลล์ฯมักถูกแฟนสโมสรอื่นโจมตีเรื่องความรุนแรงในสนามอยู่เสมอ จนท้ายที่สุดพวกเขาตอบโต้ออกมาเป็นเสียงเพลง เพลงเชียร์ (football chant) ที่เป็นที่นิยมที่สุดของพวกเขาชื่อ No one likes us, we don't care พวกเขาจะร้องเพลงนี้เป็นประจำ และชื่อเพลงก็กลายเป็นประโยคที่ได้รับความนิยมจากแฟนๆจนสโมสรต้องทำเสื้อที่มีข้อความนี้ขาย
เนื้อเพลงมีอยู่ว่า “No one likes us, no one likes us. No one likes us, we don't care!We are Millwall, super Millwall. We are Millwall from The Den!” ไม่มีใครชอบพวกเขา แต่พวกเขาก็ไม่แคร์ เพราะพวกเขาภาคภูมิใจในความเป็นมิลล์วอลล์ฯ ของตัวเอง
มาถึงตรงนี้แล้วก็คงเดาได้ไม่ยากว่าแฟนท่าเรือฯ เองก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน พวกเขาทั้งผูกพันและภาคภูมิใจในสโมสรอย่างมาก แฟนท่าเรือฯ คนหนึ่งเคยบอกกับผู้เขียนว่าเขาเคยอยู่แถบคลองเตย แม้ทุกวันนี้เขาจะย้ายออกไปที่อื่นแล้ว แต่เขาก็ยังตามเชียร์ท่าเรือฯอยู่เพราะเขาเคยวิ่งเล่นที่ แพท สเตเดี้ยม มาตั้งแต่ยังเด็กๆจนรู้สึกผูกพันกับมัน
ความสัมพันธ์ระหว่างชาวคลองเตยกับการท่าเรือฯ ในลักษณะ Love-hate relationship ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ ในด้านหนึ่งกิจการท่าเรือเป็นแหล่งงานที่สำคัญของพวกเขา แต่ในอีกด้านหนึ่งการท่าเรือฯ ก็มักเป็นคู่ขัดแย้งกับพวกเขาในกรณีสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย บางทีความสัมพันธ์สองด้านแบบนี้อาจยิ่งทำให้เกิดความผูกพันมากเป็นพิเศษ
หลายครั้งผู้เขียนพบแฟนท่าเรือฯที่มาดูฟุตบอลกันเป็นครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ ลูก บางครั้งถึงขั้นเจอคนสามรุ่นไล่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ เจ้าตัว ไปจนถึงรุ่นลูก (ซึ่งคนทั้งสามรุ่นนี้ก็ไม่ได้นั่งดูบอลด้วยกันแต่แยกกันไปอยู่ตามกลุ่มเพื่อนของตัวเองเสียด้วยซ้ำ)
ด้วยความเก่าแก่ของท่าเรือฯอันเป็นหนึ่งในไม่กี่สโมสรที่อยู่ยั้งยืนยงมาตั้งแต่ยุคสมัยฟุตบอลถ้วย ก มาจนถึงปรากฏการณ์ไทยลีกอย่างทุกวันนี้ (ซึ่งสโมสรส่วนใหญ่เป็นสโมสรเกิดใหม่) มันทำให้พวกเขามีสายสัมพันธ์ที่แน่นหนากับสโมสร ซึ่งส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างที่แฟนบอลเรียกกันว่า From father to son
หลายปีก่อนผู้เขียนเคยคุยกับวัยรุ่นคนหนึ่ง เขาบอกว่าเมื่อเขาไปโรงเรียนมักจะถูกเพื่อนมองในแง่ที่ไม่ดีนักเพราะเขามาจากคลองเตย ทั้งที่สำหรับเขาแล้วคลองเตยก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย และยังมีสโมสรฟุตบอลเก่าแก่อย่างท่าเรือฯ ที่เป็นที่ภาคภูมิใจของเขาอีก เขามักจะใส่เสื้อแสด-น้ำเงินไปไหนมาไหนและแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นแฟนบอลท่าเรือฯ จนทุกวันนี้วัยรุ่นคนนั้นน่าจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวและตะโกนร้องเพลงเชียร์ท่าเรืออยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของ แพท สเตเดี้ยม
Photo : Facebook : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ประกอบสร้างอัตลักษณ์ของแฟนบอลท่าเรือฯและมิลล์วอลล์ฯขึ้นมานั้นคือความแตกต่างระหว่างพื้นที่ที่พวกเขาอยู่กับพื้นที่รอบข้าง การเป็นย่านที่ถูกมองว่าเสื่อมโทรมท่ามกลางเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยความหรูหราฟู่ฟ่าทำให้พวกเขามีสถานะราวกับเป็น “คนนอก” ของเมืองหลวงที่พวกเขาอยู่ ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันภายในกลุ่มที่เข้มข้นจนดุดัน ความผูกพัน ไปจนถึงความภาคภูมิใจในสิ่งที่สามารถเป็นที่เชิดหน้าชูตาอย่างสโมสรฟุตบอลประจำถิ่นจึงเกิดขึ้นมาและกลายเป็นอัตลักษณ์ร่วมของแฟนบอลทั้งสอง
ทั้งหมดนี้น่าจะพอสรุปได้ว่า ถ้าจะมีคู่เหมือนระหว่างสโมสรฟุตบอลไทยกับอังกฤษแล้วล่ะก็ ท่าเรือฯ ก็คือมิลล์วอลล์ฯ แห่งฟุตบอลไทย และมิลล์วอลล์ฯ ก็คือท่าเรือฯ แห่งฟุตบอลอังกฤษ
แหล่งอ้างอิง :
Garry Robson. 2000. 'No One Likes Us, We Don't Care': The Myth and Reality of Millwall Fandom. Oxford: Berg.
โฆษณา