7 พ.ย. 2019 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
: บทเรียนธุรกิจ จากการประท้วงของนักโทษที่แอตแลนต้า :
การมองให้เห็นความดีของผู้คน สำคัญแค่ไหน?
ผมมีเรื่องเล่าซึ่งเป็นเหตุการณที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 75 ปีก่อน มาเล่าให้ฟัง
คืนวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 1944
นักโทษอุกฉกรรจ์ 78 คนที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ได้ก่อเหตุร้ายขึ้น
ด้วยการจับเจ้าหน้าที่เรือนจำ 4 คน เป็นตัวประกัน
ขณะเดียวกันก็ตั้งเครื่องกีดขวางไว้ในตึก 5 ชั้นที่พวกเขาใช้เป็นฐานที่มั่น
ทุกคนมีอาวุธเป็นไม้กระบอง และมีดโกน
พวกเขาถูกขังรวมอยู่กับนักโทษชาวเยอรมัน
ซึ่ง ณ ขณะนั้น ถือได้ว่าเป็นชนชาติศัตรูกลายๆ ของอเมริกันชน
ปืนทุกกระบอก ถูกเล็งมายังตึกหลังนี้
แต่ผู้บัญชาการเรือนจำก็ไม่กล้าทำอะไรที่รุนแรง
ด้วยกลัวว่า จะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวประกันทั้งสี่
จะทำได้ก็เพียงการตัดน้ำ ตัดไฟ
และไม่มีการส่งอาหาร เข้าไปให้นักโทษกิน
หลายวันผ่านไป
เหล่านักโทษยังไม่มีท่าทีว่าจะยอมแพ้
ซ้ำยังยื่นคำขาด ให้ทางเรืองจำส่งอาหารเข้าไปให้ภายใน เวลา 17.00 น.
มิฉะนั้นแล้ว จะจับนักโทษชาวเยอรมัน 2 คน โยนลงมาจากหลังคาตึก
อย่างไรก็ตาม
พวกนักโทษได้เรียกร้องว่าบุคคลที่พวกเขาจะยอมเจรจาด้วยมีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น คือ วิลเลียม มอร์แกน เบลค (William Morgan Blake)
เบลค คือ นักข่าวของหนังสือพิมพ์ แอตแลนต้า เจอร์นัล
ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เขาอาสาเข้าไปทำหน้าที่สอนศาสนาให้กับนักโทษในเรือนจำแห่งนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
เขาพยายามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ในทุกวิถีทางที่เขาจะทำได้
เวลาที่เขาพูดให้นักโทษในเรือนจำฟังนั้น
เขาไม่เคยใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยาม
หรือแสดงออกถึงความเกลียดชังเลยแม้แต่ครั้งเดียว
กลับกัน
เขามักกล่าวกับนักโทษเหล่านั้นว่า
“สักวันหนึ่ง ผมเอง ก็อาจจะต้องเข้ามาอยู่กับพวกคุณก็ได้
ทั้งนี้ สุดแท้แต่น้ำพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า
เพราะฉะนั้น จงอย่าได้คิดว่า
พวกคุณเป็นคนไม่ดี เพียงเพราะการกระทำความผิด”
นั่นเป็นคำพูดแบบใหม่ ที่นักโทษทั้งหลายไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต
พวกเขารู้ดีว่า ชายผู้นี้คือผู้ที่ไม่มีความเกลียดชังพวกเขา
เบลค ได้แสดงให้พวกนักโทษเห็นว่า พวกเขาไม่ได้ถูกรังเกียจ
และเบลคต้องการที่จะให้ความเชื่อเหลืออย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้เอง
นักโทษเหล่านี้ จึงเรียกร้องที่จะเจรจากับเบลค
ไม่ยอมเจรจากับใครทั้งสิ้น
ดังนั้น เบลคจึงถูกทางการขอร้องให้เดินทางมาพบกับนักโทษผู้ก่อการ
วิลเลียม มอร์แกน เบลค เป็นบุรุษผู้มีมรรยาทนิ่มนวล
ในตอนนั้นเขามีอายุ 55 ปี
เป็นทั้งนักเขียนบทความ และครูสอนศาสนา
วันนั้น เขาเพิ่งจะกลับจากงานฝังศพมารดาของตัวเอง
และรีบเดินทางมายังเรือนจำทันที
เขาเดินตรงไปยังอาคารหลังดังกล่าว โดยปราศจากอาวุธ
และทันทีที่ได้เผชิญหน้ากับกลุ่มนักโทษ
เขาก็เริ่มเตือนให้ทุกคนระลึกถึงคุณงามความดีของตัวเอง
เขาทำให้เหล่านักโทษทุกคนเห็นว่า
พวกเขาเคยช่วยเหลือบ้านเมืองไว้อย่างไรบ้างในระหว่างสงคราม
แรงงานของพวกเขา
ทำให้ทหารในมีเตนท์ กระสอบป่าน และข้าวของจำเป็นต่างๆ ใช้สู้รบกับข้าศึกทั้งในยุโรปและแปซิฟิก
เรือนจำแอตแลนตา
"พวกคุณรู้หรือไม่ว่า
พวกคุณที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำแอตแลนตาแห่งนี้
ต่างได้รับการสรรเสริญจากคนทั้งชาติ
พวกคุณคือผู้ที่ช่วยชาติอย่างเต็มสติปัญญาความสามารถจนเกิดผลดีในการทำสงคราม เรากำลังจะชนะ! แน่นอน ส่วนหนึ่งมันมาจากพวกคุณ
ผมหวังว่าพวกคุณจะเลิกการประท้วงกันเสีย
เพราะมันเป็นการกระทำที่จะนำจุดด่างพร้อยมาแทนที่"
เบลคเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังในภายหลังว่า
หลังจบประโยคนั้น นักโทษคนหนึ่งก็บอกกับเขาว่า
“เชิญเข้ามาพูดกันข้างในดีกว่าครับ คุณเบลค
ในตึกนี้สบายกว่าข้างนอกมาก
ผมขอรับรองว่า จะไม่มีอันตรายเกิดขึ้นกับคุณแต่อย่างใด”
แต่เบลคตอบกลับด้วยท่าทางหวาดๆ ว่า
“ขอบคุณที่เชิญ แต่ผมอยู่ข้างนอกนี่ก็สบายดีแล้วล่ะ”
ท่าทางหวาดหวันแบบทีเล่นทีจริงของเบลคในครั้งนั้น
ทำให้เหล่านักโทษพากันขำขัน
บรรยากาศที่ตึงเครียดอยู่ก็คลายลงในทันที
เบลคจึงหัวเราะผสมโรงไปกับพวกเขาด้วย
หลังจากนั้นจึงค่อยสอบถามถึงปัญหาที่เกิดกับพวกเขา
ซึ่งเขาก็เล่าให้เบลคฟังอย่างจริงใจ
ว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติจากทางเรืองจำอย่างไม่เป็นธรรมโดยตลอด
ในเวลาที่เกิดมีการเจ็บป่วยขึ้นก็จ่ายยาให้ไม่มากพอ
ทั้งไม่เคยได้ประกอบพิธีทางศาสนาเลย
ตลอดเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
ก็ได้รับค่าจ้างแรงงาน ต่ำกว่านักโทษที่อยู่ในเขตอื่น
และยิ่งกว่านั้น ...
นักโทษเหล่านั้นต่างรู้สึกไม่เห็นด้วย
กับการที่ทางเรือนจำนำเอาพวกนาซีที่มีความผิดในการก่อนวินาศกรรม เข้ามาคุมขังรวมกับพวกเขา
พวกเขาเหนื่อยหน่ายที่จะต้องจำใจรับฟังแต่เรืองราวของฮิตเลอร์
ไหนจะการตัดสิทธิ์ ไม่ยอมให้ติดต่อกับโลกภายนอก
ไม่เคยได้รับการพักผ่อนหย่อนใจ
ไม่เคยได้รับความอนุเคราะห์ในเรื่องของการบริหารร่างกายอย่างเหมาะสมอีก
จากการสนทนากัน เบลคจึงเข้าใจว่า
นักโทษเพียงต้องการที่จะระบายความเดือดร้อนของตนให้บุคคลภายนอกได้รับรู้
เบลคจึงรับปากกับเหล่านักโทษว่า
เขาจะกลับไปเขียนเรื่องดังกล่าวลงในหน้าหนังสือพิมพ์ให้ในทันที
หลังจากที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ข่าวดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เขาก็นำมาที่เรือนจำในวันรุ่งขึ้น
ทันทีที่นักโทษได้เห็นพาดหัวตัวโตเกี่ยวกับเรื่องราวความเดือดร้อนของพวกตน
นักโทษต่างก็พากันเข้ามารุมล้อมเบลค และมอบกุญแจตึกให้กับเขา
และแล้ว ...
ชายร่างผอมบางก็นำนักโทษจำนวน 101 คนไปพบกับผู้บัญชาการเรือนจำโดยที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ
จากเหตุการณ์นี้
เราสามารถสรุปได้หรือไม่ว่า
ผู้ที่มองเห็นความดีงามที่มีอยู่ในมนุษย์
ย่อมสามารถทำในสิ่งที่ปืนหรือการใช้กำลัง ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้
การข่มขู่ บีบบังคับ ย่อมเป็นการนำไปสู่ความล้มเหลวทั้งสิ้น
ความหิว ความหนาว หรือความกลัวต่อการถูกลงโทษ ไม่สามารถจะชนะใจนักโทษเหล่านั้นได้
แต่ทว่า เพียงถ้อยคำที่มีเหตุผล
ซึ่งกล่าวออกไปด้วยความสุจริตใจ
ด้วยการมองเห็นความดีงามที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน
ย่อมชนะใจ แม้แต่บุคคลที่เป็นอาชญากร
คุณก็คงจะเห็นแล้วว่า
“คนเราจะชอบก็เพียงเฉพาะผู้ที่ชอบตนเท่านั้น
และเขาจะกระทำในสิ่งที่ดีงามเป็นการตอบแทน”
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนอื่นหันมาชอบคุณได้ก็คือ
จงสนใจในตัวผู้อื่นอย่างแท้จริง
หาความดีของพวกเขาให้พบ
และทำให้พวกเขารับรู้ถึงการมีอยู่ของความดีนั้น
ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่สุดเท่าที่คุณมี
ท่านผู้อ่านคิดเห็นเป็นประการใดบ้าง
มาแลกเปลี่ยนกันนะครับ
#ผู้กองเบนซ์
ปล. เรื่องนี้ต้องให้เครดิต หนังสือสอนขายเล่มนึงของเอลเมอร์ วีลเลอร์ ที่ผมได้รับแบ่งปันมาจากรุ่นพี่คนนึง
โฆษณา