8 พ.ย. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“เฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty) ตัวการ์ตูนที่เป็นที่รักของคนทั่วโลก” ตอนที่ 3 (ตอนจบ)
ซานริโอ้บุกต่างประเทศ
ความโด่งดังของเฮลโล คิตตี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไปยังต่างประเทศอีกด้วย
เฮลโล คิตตี้ได้บุกมาสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ด้วยการที่ซานริโอ้เปิด Gift Gate เป็นของตนเองในแคลิฟอร์เนีย ทำให้ชาวอเมริกันเริ่มจะรู้จักเฮลโล คิตตี้
ซานริโอ้ได้ทำการเปิดร้านของตนเองในย่านที่มีคนเอเชียอยู่มาก เช่น ไชน่าทาวน์ และซานริโอ้ก็ได้พยายามทำให้เฮลโล คิตตี้โด่งดังยิ่งขึ้น ทำให้ชาวอเมริกันต่างก็รู้จักซานริโอ้ และเฮลโล คิตตี้ก็เริ่มจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมา ซานริโอ้ก็ได้เริ่มนำเฮลโล คิตตี้เข้าไปยังไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี รวมถึงสิงคโปร์ และก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ธนาคารในไต้หวันได้ทำบัตรเครดิตรูปเฮลโล คิตตี้ และมีคนสนใจทำบัตรเครดิตรูปเฮลโล คิตตี้กว่า 400,000 ใบ และได้มีบริษัทโทรคมนาคมได้ทำบัตรโทรศัพท์รูปเฮลโล คิตตี้ ปรากฎว่าสามารถขายได้มากกว่า 50,000 ใบภายในห้านาที
นอกจากนั้น เฮลโล คิตตี้ทั้งในฮ่องกงและสิงคโปร์ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก สินค้าที่มีเฮลโล คิตตี้ต่างขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น คนวัยทำงานต่างก็ชอบเป็นอย่างมาก
ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) “Hello Kitty's Furry Tale Theater” รายการโทรทัศน์รายการแรกของเฮลโล คิตตี้ก็ได้ออกอากาศในญี่ปุ่น ก่อนจะไปออกอากาศที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอีกด้วย อีกทั้งรายการนี้ยังเป็นรายการแรกที่แสดงให้เห็นว่าเฮลโล คิตตี้มีปาก และต่อมา ยังมีการเปิดสวนสนุกเฮลโล คิตตี้ในญี่ปุ่นอีกด้วย
Hello Kitty's Furry Tale Theater
ในทุกวันนี้ มีผลิตภัณฑ์จากเฮลโล คิตตี้กว่า 50,000 อย่างวางขายใน 130 ประเทศทั่วโลก และผลิตภัณฑ์ของเฮลโล คิตตี้ก็ขายได้กว่าปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน เฮลโล คิตตี้ยังคงเป็นตัวละครที่อยู่ในใจของใครหลายๆ คนและเป็นอมตะ เคียงคู่กับตัวการ์ตูนของญี่ปุ่นอีกหลายตัว และเป็นที่รักของแฟนๆ ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
จบลงแล้วสำหรับซีรีย์ชุดนี้นะครับ อาจจะสั้นและกระชับไปหน่อย แต่พอได้มาลองเขียนเรื่องของคิตตี้แล้ว รู้สึกเขียนยากกว่าหลายๆ เรื่องที่ผ่านๆ มาและไม่ใช่ทางเลย แต่ขออนุญาตแก้ตัวในซีรีย์ชุดหน้าที่จะมาพรุ่งนี้นะครับ รับรองว่าดีกว่าเดิมแน่นอนครับ
แต่จะเป็นเรื่องอะไร ขออุบไว้รอไปลุ้นนะครับ
ฝากติดตามด้วยครับ
โฆษณา