7 พ.ย. 2019 เวลา 15:15
วิธีการผลิตและวิถีดำรงชีวิตของผู้คนในทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเพราะความเฟื่องฟูของ “เศรษฐกิจดิจิทัล” จีนผลักดันการผนวกรวมกันอย่างแน่นแฟ้นของเศรษฐกิจดิจิทัลและภาคเศรษฐกิจจริง เพื่อบรรลุเป้าการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูง
3
การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) ทำให้อุตสาหกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงองค์กรชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรม คว้าโอกาสการพัฒนามหาศาล ขณะเดียวกัน นานาประเทศก็กำลังขยายความร่วมมือด้านดิจิทัล เพื่อรับประโยชน์และส่วนแบ่งจากเศรษฐกิจดิจิทัล
**เติบโตแบบก้าวกระโดด**
.
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลในจีดีพี (GDP) ของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน (CAICT) เผยว่าเมื่อปี 2018 เศรษฐกิจดิจิทัลจีนมีมูลค่ารวม 31.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 135.41 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นร้อยละ 34.8 ของจีดีพีของทั้งประเทศ
1
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน โดยมีส่วนผลักดันการเติบโตของจีดีพีของจีนในปีก่อนมากร้อยละ 67.9 และคาดว่าในปี 2019 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนจะพุ่งแตะ 35 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 151.42 ล้านล้านบาท)
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนก็ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้กลายเป็นดิจิทัล กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถแบ่งได้สองแบบ ได้แก่ การสร้างความเป็นอุตสาหกรรมเชิงดิจิทัล (digital industrialization) และการสร้างความเป็นดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรม (industry digitalization)
1
การสร้างความเป็นอุตสาหกรรมเชิงดิจิทัลเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข่าวสารข้อมูล อาทิ การผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม ซอฟต์แวร์และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ขณะที่การสร้างความเป็นดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรม หมายถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เพื่อเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพในการผลิต
สถาบันฯ ระบุเพิ่มเติมว่าการสร้างความเป็นดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรมดั้งเดิมของจีนในปี 2018 มีมูลค่า 24.9 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 107.83 ล้านล้านบาท) สูงกว่าการสร้างอุตสาหกรรมเชิงดิจิทัล ที่มีมูลค่า 6.4 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 27.71 ล้านล้านบาท) สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโล ผลิตภัณฑ์ และบริการดิจิทัลของจีนกำลังผสานรวมเข้าไปในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นยังได้ออกนโยบายต่างๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่างเช่น มณฑลเจ้อเจียง ได้ยกให้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญสูงสุดในวาระการพัฒนาของมณฑล และออกมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตอัจฉริยะ และอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรม มณฑลฝูเจี้ยนเร่งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูลของรัฐ การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูล ขณะที่มณฑลกว่างตงมุ่งใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลในท้องถิ่น ฐานอุตสาหกรรมอันแข็งแกร่ง และการประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่หลากหลาย เพื่อพลิกโฉมมณฑลให้เป็นผู้มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนการผลิต โครงข่าย และเศรษฐกิจดิจิทัล
**การขยายธุรกิจของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม**
.
เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนสร้างโอกาสมหึมาให้กับการพัฒนา ผู้ประกอบการชั้นนำที่เกี่ยวข้อง จึงเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมใหม่ และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
ไป่ตู้ (Baidu) ในฐานะผู้บุกเบิกปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในจีน ได้แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่หลากหลาย ในภาคการเงิน ไป่ตู้ร่วมกับธนาคารไชน่ากวงฟาไป่ตู้ (Baidu) , ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตงแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pudong Development Bank), ไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ (China UMS) และกลุ่มประกันภัยไท่คัง (Taikang Insurance Group) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนา ‘สมาร์ตไฟแนนซ์’หรือการเงินอัจฉริยะ
สำหรับด้านวิถีชีวิตอัจฉริยะ ไป่ตู้ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทไฮเออร์ (Haier Group) ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ในบ้านของจีน เพื่อสร้างต้นแบบใหม่ๆ ของบ้านอัจฉริยะ ทั้งยังร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องใช้ในบ้านชั้นนำ และผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผนึกกำลังกับหลายๆ พันธมิตร
ในขณะที่เทนเซนต์ (Tencent) ขอช่วยให้ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพมีชีวิตที่สบายยิ่งขึ้นด้วย การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มบัญชีสาธารณะวีแชต (WeChat), ฟังก์ชันมินิโปรแกรม,การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ, โฆษณาบนสื่อสังคมออนไลน์, บริการวีแชตสำหรับองค์กร,บิ๊กดาต้า+คลาวด์คอมพิวติ้ง+ปัญญาประดิษฐ์ และบริการด้านความปลอดภัย ซึ่งนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแบบใหม่ให้แก่องค์กรต่างๆ โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านบริการของภาครัฐ, การบริโภค, บริการด้านการผลิต, สุขภาพ ตลอดจนการปกป้องสิ่งแวดล้อมไปสู่การเป็นดิจิทัล
ฝ่ายหัวเหวย ตั้งเป้าเสริมสร้างศักยภาพของเมืองต่างๆ เพื่อสร้าง ‘จีนดิจิทัล’ (digital China) โดยเสนอวิธีการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ครอบคลุม ร่วมกับบรรดาหุ้นส่วน แนวคิดการสร้างเมืองอัจฉริยะของหัวเหวยได้ถูกนำไปใช้ในหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา การขนส่ง การดูแลสุขภาพ พลังงาน ช่วยพัฒนาเมืองมากกว่า 160 เมือง จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ขณะที่ในจีนนั้น หัวเหวยได้ออกแบบการสร้างเมืองขั้นสูง ให้แก่มากกว่า 60 เมือง อาทิ ปักกิ่ง เซินเจิ้น กุ้ยหลิน พร้อมช่วยให้เมืองเหล่านี้บรรลุผลตามแผน
**ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ**
.
ความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ในแวดวงดิจิทัลกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในฐานะเบอร์สองเศรษฐกิจโลก จีนยังคงเดินหน้าสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ 16 ประเทศทั่วโลกเพื่อรังสรรค์เส้นทางดังกล่าว
จีนได้จัดตั้งแผนริเริ่มความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศร่วม กับ 7 ประเทศในแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง และได้สร้างเคเบิลบกข้ามพรมแดนมากกว่า 30 เส้น รวมถึงสายส่งไฟฟ้าข้ามประเทศอีก 10 สาย และสายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศอีก 10 เส้น กับประเทศเหล่านี้
มณฑลและเมืองต่างๆ ของจีนต่างก็เปิดกว้างมากขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือในภาคดิจิทัล
ตัวอย่างเช่น มณฑลซานตงได้ยกระดับความร่วมมือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในการผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอัจฉริยะ นวัตกรรมเพื่อยานยนต์อัจฉริยะ (IOVs) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ดิจิทัลคอนเทนต์ การค้าปลีกอัจฉริยะ และพื้นที่สำคัญอื่นๆ โดยซานตงได้พยายามสร้างสวนอุตสาหกรรมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อดึงดูดบริษัทไอทีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้เข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่และศูนย์วิจัยในมณฑล
ในทำนองเดียวกัน มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ได้ลงนามในข้อตกลหลายโครงการร่วมกับรัฐบาลและภาครัฐวิสาหกิจของไทย เพื่อร่วมมือพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ การใช้อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ในภาคการเกษตร การท่องเที่ยวอัจฉริยะ รวมถึงการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ
สนับสนุนข้อมูล : Xinhua News Agency
โฆษณา