Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
8 พ.ย. 2019 เวลา 00:44 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 5 ชี่ โลหิต จิน เยี่ย
หน้าที่ของชี่
ชี่มีความสำคัญต่อร่างกายโดยรวมทั้งหมด มีการกระจายอยู่ทั่วร่างกาย หากยามใดที่ชี่หยุดหรือหมดไป นั่นย่อมหมายความถึงการสิ้นสุดของชีวิตเลยทีเดียว ดังนั้นความแข็งแรงหรือความอ่อนแอของชี่จึงมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของร่างกาย ในหนันจิง (難經) จึงกล่าวว่า “อันว่าชี่นั้น คือรากของร่างกาย ยามรากขาดไปก็จะทำให้กิ่งต้นเหี่ยวเฉาตาย”
แม้ชี่จะมีหน้าที่ที่แตกต่างตามตำแหน่งการกระจายตัวในร่างกาย แต่เราก็สามารถสรุปหน้าที่หลัก ๆ ของชี่ได้หกประการด้วยกันคือ
1.หน้าที่ในการผลักดัน (推動作用)
ชี่ก็คือพลังงาน หากร่างกายมีชี่อ่อนหรือพลังงานที่อ่อน แน่นอนว่าย่อมจะกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายใน กระทบต่อการหมุนเวียนสารเหลวของร่างกาย และกระทบต่อการสร้างสารจำเป็นเช่นเลือด จินเยี่ยและสารจิงต่าง ๆ ได้ ดังนั้นหากชี่อ่อนพร่อง ก็จะทำให้เกิดอาการเจริญเติบโตบกพร่อง ร่างกายจะมีแต่ขยะตกค้าง เช่นมีเสมหะ ความชื้น หรือเลือดที่ตกค้าง สุดท้ายก็จะทำให้เกิดสารพัดโรคภัยไข้เจ็บตามมานั่นเอง
2.หน้าที่ในการอบอุ่น (溫煦作用)
หากร่างกายมีอุณหภูมิต่ำไปก็จะทำให้หนาว หากอุณหภูมิร้อนไปก็จะทำให้ร้อน ร่างกายจึงต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นร่างกายจะหนาวเกินไปก็ไม่ได้ หรือจะร้อนเกินไปก็ไม่ควร และพลังที่คอยทำหน้าที่ในการรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายก็คือชี่นั่นเอง แต่ชี่ที่กล่าวถึงนี้ โดยหลักจะหมายถึงเว่ยชี่ หากเว่ยชี่พร่องขาด ยามนั้นจะทำให้ร่างกายมีอาการขี้หนาว หรือแขนขาเย็นเยียบจนเหน็บชาได้
3.หน้าที่ในการป้องกัน (防禦作用)
ชี่จะปกคลุมอยู่ทั่วผิวกาย เสมือนเป็นเกราะที่จะพิทักษ์รักษามิให้พลังชั่วร้ายจากภายนอกเข้าทำร้ายอวัยวะที่อยู่ภายใน หากชี่พร่องขาดลง เกราะที่จะป้องกันพิษร้ายจากภายนอกก็จะมีช่องโหว่ ยามนั้นก็จะทำให้เกิดโรคภัยเจ็บไข้ได้อย่างง่ายดาย
4.หน้าที่ในการเหนี่ยวรัด (固攝作用)
ภายในร่างกายจะเต็มไปด้วยมวลที่เป็นของเหลวและลมประเภทต่าง ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีเส้นทางที่จะเดินเฉพาะ เป็นต้นว่าโลหิตจะไม่ไหลออกนอกเส้นโลหิต หรือปัสสาวะ อสุจิ ที่จะไม่เล็ดไหลออกอย่างควบคุมไม่อยู่ และพลังที่ทำหน้าที่ในการกำกับเส้นทางการเดินหรือกำกับให้สามารถเหนี่ยวรัดเอาไว้ก็คือชี่นั่นเอง
ทั้งนี้ ภายในร่างกายจะมีอวัยวะต่าง ๆ ที่ห้อยระโยงระยางอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากอวัยวะเหล่านี้ไม่มีแรงในการยึดโยงและหย่อนย้อยลงมาแล้ว ในยามนั้นก็จะเกิดอาการไส้เลื่อนหรือมดลูกหย่อนขึ้น ดังนั้นในร่างกายจึงต้องมีระบบเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่ในการยึดโยงอวัยวะเหล่านี้ไม่ให้ตกห้อยลงมา และพลังที่ทำหน้าที่ในการช่วยให้อวัยวะเหล่านี้สามารถยึดโยงได้อย่างมั่นคงก็คือชี่นั่นเอง
5.หน้าที่ในการแปรสภาพ (氣化作用)
การแปรสภาพในที่นี้มีความหมายว่าการเปลี่ยนสภาพกันไปมาระหว่างจิง (精) ชี่ (氣) จิน (津) และโลหิต (血) แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งความหมายคือพลังในการขับถ่ายสิ่งปฏิกูลออกนอกร่างกาย เช่นพลังในการขับกรองปัสสาวะออกนอกร่างกาย เป็นต้น
6.หน้าที่ในการหล่อเลี้ยง (營養作用)
ร่างกายจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากสารอาหาร โดยสารอาหารและน้ำจะเป็นสารที่ได้รับการย่อยและดูดซึมจากกระเพาะลำไส้ อีกทั้งยังจะได้รับการลำเลียงจากม้าม โดยสารอาหารและน้ำเหล่านี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะอย่างหนึ่ง นั่นก็คืออิ๋งชี่ (營氣) นั่นเอง
4 บันทึก
5
4
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
4
5
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย