9 พ.ย. 2019 เวลา 08:00 • กีฬา
Kalin Bennet อาจจะไม่ใช่นักบาสดาวรุ่งอนาคตไกลใน NBA ที่คุณอาจจะต้องรู้จักหรอก อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนนี้
ให้ตายเถอะ Bennett ยังเป็นแค่นักบาสปีหนึ่งอยู่มหาวิทยาลัยเล็กๆ ในรัฐ Ohio แค่นั้นเอง ไม่ได้เป็นตัวจริงด้วยซ้ำ
แต่เชื่อเถอะ ว่าเรื่องราวของ Bennett กว่าเขาจะมาได้ถึงจุดนี้ มันเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามจริงๆ
1.
ในช่วง 2:30 นาทีสุดท้ายของเกมบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยระหว่าง Kent State กับ Hiram ในคืนวันพุธที่ผ่านมา Kalin Bennett เซนเตอร์ยักษ์ใหญ่สูง 6’11” เด็กปีหนึ่งของ Kent State รับบอลได้ในช่วงใต้แป้น
Bennett ดึงบอลออกมาหาจังหวะ ก่อนที่จะเริ่มเคาะบอลพุ่งเข้าหาจังหวะทำคะแนนใต้แป้นด้วยตัวเองอีกครั้ง
พอได้จังหวะที่ดี Bennett ก็กระโดดขึ้นลอยตัวพร้อมปล่อยฮุคช็อตด้วยมือซ้าย ลอยเข้าหาห่วงไปได้เป็นสองแต้มเน้นๆ เป็น 2 แต้มแรกของ Bennett ในการเล่นบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยของเขา
เจ้าตัวคำรามปลดปล่อยอารมณ์ออกมาดังลั่น พร้อมด้วยเพื่อนๆ ในสนามที่มาแสดงความดีใจ และคนอื่นๆ ข้างสนามที่กระโดดเหยงขึ้นมาเฮแสดงความยินดีอย่างพร้อมเพรียง
ด้วยเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่ถึง 3 นาที และแต้มที่ทิ้งขาดห่างออกเพิ่มไปอีกเป็น 91-54 จังหวะการทำแต้มของ Bennett ครั้งนี้มันไม่ได้มีความหมายอะไรกับเกมนี้เลยแม้แต่นิดเดียว
มันเป็นเพียงเกมแรกของฤดูกาลด้วยซ้ำ ไม่ใช่การชิงแชมป์อะไรทั้งสิ้น
แต่การทำแต้มของ Bennett ครั้งนี้ มันเป็นแต้มครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีความหมายกับตัวเขาคนเดียวเท่านั้น เพราะมันเป็นแต้มแรกของผู้เล่นในระดับ NCAA ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Autism
2.
Sonja แม่ของ Kalin Bennett ได้รับการชี้แจงจากแพทย์ตอนที่ Kalin อายุประมาณช่วง 9-12 เดือนว่าเขาเป็น Austism
พวกเขาบอกกับเธอว่า Kalin อาจจะพูดไม่ได้ หรือ เดินไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้เธอก็เถียงสวนไปทันควัน
“ไม่”
เธอยืนกรานว่าลูกของเธอมีความสามารถที่จะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้แน่นอน แม้ว่าพวกเขาอยากให้เธอตัดใจยอมแพ้ แต่เธอก็รู้ว่า เธอทำไม่ลงหรอก
Autism เป็นโรคที่ซับซ้อน และมีส่วนที่ทำให้ตัวผู้ป่วยมีปัญหาในการเข้ากับสังคม และ การสื่อสาร เพราะฉะนั้น เรื่องการเล่นบาสตอนนั้น ยังไม่มีใครในครอบครัว Bennett คิดถึงเลยแม้แต่นิดเดียวเลยด้วยซ้ำ เอาแค่ให้สื่อสารระหว่างแม่ลูกกันให้ได้ก่อน
Sonja สู้ไปพร้อมๆ กับ Kalin อยู่นาน มีจิตแพทย์เข้ามาหาสามครั้งต่อสัปดาห์ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลา
จนในที่สุดเขาก็เริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ
เขาเริ่มเดินได้ตอนอายุ 3 ขวบ และ พออายุ 7 ชวบ เขาถึงค่อยเริ่มพูดสื่อสารได้
“ว่ากันตรงๆ ก่อนที่ผมจะเริ่มพูดได้นี่ผมแทบจะจำอะไรไม่ได้เลย” Kalin บอก แต่แม้ว่าจะเริ่มพูดคุยสื่อสารได้แล้ว เขาก็ยังมีปัญหาเรื่องการเก็บตัวอยู่ดี ไม่ชอบสุงสิงอะไรกับใคร
“ตอนนั้น ผมมักจะอยู่คนเดียวตลอด ไม่อยากอยู่ใกล้ใครเลย”
แล้ววันหนึ่งซึ่ง Kalin เล่าว่าเป็นช่วงตอนเกรด 3 เขาก็ได้เห็นกิจกรรมสนับสนุนทีมบาสเกตบอลของโรงเรียน
“ไม่รู้เพราะอะไร ผมรู้สึกว่า อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขา เพื่อนๆ ผมก็บอกว่า ‘เฮ้ย Kalin นั่งลงก่อน นายไม่ได้อยู่ในทีมนะ’”
เขาจำได้ว่าเย็นวันนั้นทันที เขากลับไปหาพ่อแล้วก็บอกกับพ่อว่า “ผมอยากเล่นบาส”
3.
Sonja (ซึ่งตอนนี้หย่าร้างกับสามีไปแล้ว) จำได้ถึงความรู้สึกกลัวแทบขาดใจทันทีที่ได้ยินสิ่งที่ลูกของเธอต้องการ เธอรู้ว่าระบบสัมผัสต่างๆ ของ Kalin ยังผิดปกติมากๆ ซึ่งทำให้เขาพิจารณาสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเองได้ไม่ดี
แต่ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นห่วง และ กลัวถึงขีดสุดๆ แต่เธอก็รู้ว่าการที่จะได้เข้ากับสังคม การที่จะได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน
Kalin ก็เลยได้เริ่มเล่นบาสเกตบอลเป็นเรื่องเป็นราวกับทีม Arkansas Hawks
หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาในการเรียนรู้วิธีการเล่นบาสให้ถูกต้องในวิธีของเขาเอง Kalin ก็ได้เป็นส่วนของทีมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว... แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสนามเท่าไหร่
จนมาเกมหนึ่งในช่วงเกรด 5 Kalin ได้ไปแข่งที่ Detriot และทีมของเขากำลังโดนถล่มอย่างยับเยิน เขาก็เลยได้โอกาสลงไปในสนาม
“พอ Kalin ลงไปเล่น เขาก็ยิงลง ซึ่งมันเป็นครั้งแรกของเขาที่ทำแต้มได้ในเกม” Sonja กล่าว
“ผมจำได้ พอผมยิงลูกโทษลูกแรกลง ทุกคนเฮลั่นเลย พอยิงลูกที่สองลง คราวนี้พ่อแม่ของทีมตรงข้ามยังเฮเลย” Kalin เสริม
“แล้วเขาก็ทำแต้มต่อเนื่อง เราก็ยังเชียร์ไปเรื่อยๆ คนอื่นๆ อาจจะมองว่าเราบ้า เพราะทีมเราตามอยู่ 30 แต้ม แต่พวกเราเชียร์กันเหมือนนำอยู่ 50 แต้ม แต่ชั้นว่าตอนนั้น มันเป็นจังหวะที่เราเริ่มคิดกันละว่า เขาจะต้องเป็นผู้เล่นที่ดีได้แน่ๆ” Sonja กล่าว
4.
ทั้งคู่เล่าว่า Kalin ใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับเกมและกับทีมไม่น้อย แต่พอเขาจับทางได้แล้ว เขาก็พัฒนาไม่หยุด
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การที่ได้เริ่มเล่นบาสเกตบอล ทำให้คุณภาพชีวิตในสังคมทั่วไปของ Kalin ดีมากขึ้นตามไปด้วย
“มันเหมือนได้เริ่มทลายกำแพงต่างๆ ที่ทำให้ผมอึดอัดหรือลำบากลงมา แบบ แค่การเข้าไปคุยกับคนอื่น ได้เล่นกับเพื่อนๆ หรือการได้เป็นตัวของตัวเอง
การที่ไม่ได้เป็นใครคนอื่นที่ไหน แต่การเป็น Kalin นี่แหละ ซึ่งมันก็ต่อยอดไปตอนขึ้น High School อีกด้วย” Kalin กล่าว
และแม้ว่าทุกคนจะตื้นตันดีใจที่ได้เห็น Kalin เรียนจบ High School จากที่แพทย์บอกว่าเขาจะพูดไม่ได้ หรือ เดินไม่ได้ด้วยซ้ำ... แต่ตัว Kalin มองว่า เขายังไปต่อได้ไกลกว่านี้อีก
เขาจะต้องเล่นบาสในระดับมหาวิทยาลัย NCAA ให้ได้
“ว่ากันตรงๆ ผมคิดมาตลอดว่าทำได้แน่ๆ มันไม่ใช่ความโอหังอะไรนะ ผมก็แค่พูดตามสิ่งที่ผมรู้สึกจริงๆ ผมรู้ว่าผมเล่นได้”
5.
ไม่นานหลังจากที่เรียนจบ Kalin ได้รับข้อเสนอทุนตลอดการศึกษาสำหรับนักกีฬา (full scholarship) จากมหาวิทยาลัย Kent State
หลังจากที่เขาตอบตกลง ก็เป็นที่เชื่อกันในวงกว้างว่า เขาเป็นผู้ป่วยโรค Autism คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับทุนการศึกษาสำหรับการเล่นกีฬาในมหาวิทยาลัยระดับ Division 1
“ผมคิดอยู่แล้วว่ามันคงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะกระจายกว้างไปถึงกลุ่มคนทั่วประเทศ ไม่สิ ทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ” Kalin กล่าว
Rob Senderoff โค้ชของ Kent State รู้ว่าทุกคนกำลังคิดอะไรกันอยู่ และเขาก็พร้อมที่บอกทุกคนให้หยุดความคิดนั้นไว้เลย
“เราไม่ได้ให้ทุนกับ Kalin เพราะว่าเขาเป็น Autism นะ เราเอาเขามาเล่น เพราะเราเห็นศักยภาพของเขาในฐานะนักบาสคนหนึ่ง ผมไม่ได้ชวนใครมาเข้าทีมแค่เพื่อให้เป็นสตอรี่หรอก ทีมนี้ไม่ใช่มูลนิธิสังคมสงเคราะห์อะไรนะ” โค้ช Senderoff กล่าว
Kalin ต้องซ้อมเหมือนกับนักกีฬาคนอื่นๆ ในทีมทั้งหมด แม้บางอาจจะต้องอธิบายสิ่งต่างๆ ในรูปแบบเฉพาะตัวกับ Kalin บ้าง แต่เพื่อนร่วมทีมทุกคนต่างก็ปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นสมาชิกทีมธรรมดาคนหนึ่งเหมือนปกติ
"ผมไม่เคยอ่อนข้ออะไรให้เขา แต่เขาเองก็ไม่ยอมถอยให้กับใครเหมือนกัน เขาไม่ต้องการสิทธิพิเศษอะไร หรือ ให้ใครมามองเขาด้วยความสงสาร ว่ากันตามตรง นอกจากบางทีที่คิดว่า 'ไอ้หมอนี่มันเป็นป่วยจริงๆ หรอวะ' ผมเองก็แทบไม่เคยมองเลยว่าเขาเป็นอะไรด้วยซ้ำ”
รุ่นพี่ปี 3 Danny Pippen กล่าวถึงรุ่นน้องหน้าใหม่ในทีม
Kalin เสริมต่ออีกว่า
“เพื่อนร่วมทีมของผมกับโค้ชของผมเคี่ยวเข็ญผมอย่างจริงๆ จังๆ เพราะพวกเขาอยากให้ผมเก่งขึ้นให้ได้ แต่ผมคาดหวังกับตัวเองไว้เยอะกว่านั้นอีก ผมไม่ได้ย้ายออกจากบ้านมาพันกว่าไมล์เพื่อเสียเวลาของใคร ผมอยากไปให้ได้ไกลยิ่งกว่านี้อีก ทั้งเพื่อตัวเอง และเพื่อครอบครัว”
6.
และในที่สุด วันที่ 6 พฤศจิกายนก็มาถึง เป็นเกมเปิดสนามของ Kent State ในซีซั่นเจอกับทีมสหาวิทยาลัย Hiram
Kalin ได้ลงสนามไปในช่วง 6 นาทีสุดท้ายของการแข่งขันด้วยรอยยิ้มฉีกกว้างจากหูซ้ายถึงหูขวา และก็ได้ทำแต้มครั้งแรกของตัวเอง อีกทั้งยังคว้ารีบาวด์ไปได้อีกหนึ่งครั้ง
“มันเป็นเกมที่โคตรสนุกเลย การที่ผมได้แสดงผลของการทุกสิ่งที่ผมมุ่งมั่นทำมาในสนามวันนี้ และได้ทำให้แม่ผมเห็น มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมมาก แค่เพื่อให้เธอรู้ว่า สิ่งที่เราทำกัน มันไม่ได้สูญเปล่า” Kalin กล่าวหลังเกม
ส่วนแม่ Sonja เองก็คงรู้ดีอยู่แล้วว่าสิ่งที่เธอกับลูกทำทุกอย่าง มันเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ก็ตาม
“ช่วงที่ซ้อมกัน ชั้นเห็น Kalin อยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ ร่วมทีมอย่างสบายใจ เขายิ้ม แล้วก็ดูร่าเริงสนุกสนาน หลายครั้งๆ ชั้นก็ยังคอยถามพระเจ้าว่าชั้นทำผิดรึเปล่า ที่ปล่อยให้เขาทำตามความฝันกับการเล่นบาส หลังจากที่เห็นความเหน็ดเหนื่อยทุกๆ อย่างที่เขาต้องฝ่าฟันมาให้ได้
และเขาก็เคยปลอบชั้นว่า นี่มันไม่ใช่ความฝันของชั้นนะ มันเป็นความฝันของเขาเอง” Sonja กล่าว
จากเด็กน้อยคนหนึ่งที่สู้กับโรค Autism ที่แพทย์วินิจฉัยว่าอาจจะร้ายแรงถึงขั้นพูดไม่ได้ หรือ เดินไม่ได้ วันนี้เขาก้าวขึ้นมาตามความฝันของตัวเองได้อีกขั้นมาแล้ว
เป็นก้าวครั้งประวัติศาสตร์ในวงการบาสเกตบอลก้าวหนึ่งที่สำคัญ
แม้ว่า Sonja จะบอกว่า มันไม่ใช่ความฝันของเธอโดยตรง แต่ความเป็นจริงตอนนี้ อาจจะยิ่งกว่าฝันด้วยซ้ำสำหรับเธอ
“ถ้าใครที่ไหนมาบอกคุณว่าลูกของคุณจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ขอให้คุณเชื่อในตัวลูกของคุณเถอะ และสู้เพื่อลูกของตัวเอง ชั้นเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำอะไรก็ได้ ที่เด็กๆ คนอื่นทำได้ ถ้าหากว่าพวกเขาได้รับโอกาสที่ดีพอ”
อ้างอิงข้อมูล
โฆษณา