11 พ.ย. 2019 เวลา 01:24 • ธุรกิจ
วันนี้ดอกเบี้ยหลายๆธนาคารลดลงแล้ว แล้วสัญญาเงินกู้แบบไหนบ้างที่ได้ผลประโยชน์ ??
สวัสดีเช้าวันจันทร์ที่ 11/11 นะครับ นอกจากวันนี้จะเป็นวันลดราคาสินค้าของ App ช้อปปิ้งออนไลน์ต่างๆและวันลอยกระทงแล้ว วันนี้ยังเป็นวันที่การประกาศลดดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารมีผลบังคับใช้กันอีกด้วย
จากโพสต์ที่เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยที่ผม”เล่า”ให้ฟังไป
ทั้งแผนภาพอธิบายผลกระทบของดอกเบี้ยนโยบาย (https://web.facebook.com/lao.unfold/photos/a.307843943485393/410995256503594/?type=3&permPage=1)
และข่าวของธนาคารหลักๆที่ออกมาประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อมาตรการของ กนง. (https://web.facebook.com/lao.unfold/photos/a.307843943485393/412533159683137/?type=3&permPage=1)
จากที่ผมลงสองเรื่องนี้ทั้งในเพจ”เล่า”ของ Facebook และ Blockdit ก็มีหลายคน Comment หรือ inbox มาถามว่า “แล้วยังงี้ที่เรากู้แบงก์อยู่จะได้ลดดอกเบี้ยมั้ย ?”
วันนี้ผมก็เลยจะมา”เล่า”ให้ฟังสั้นว่าสัญญาการกู้เงินนั้นมีวิธีการคิดดอกเบี้ยอยู่ 2 แบบ คือแบบคงที่และแบบลอยตัว แล้วแต่ละแบบเป็นอย่างไร แบบไหนได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย แบบไหนไม่ได้ครับ
🔒 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) 🔒
ตรงตามชื่อครับ การคิดดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ก็คือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ดอกเบี้ยของสัญญากู้เงินนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้นผลการบังคับใช้จากการลดดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารในวันนี้นั้นจะไม่มีผลกระทบอะไรเลยกับสัญญาประเภทนี้ครับ
ใครที่ทำสัญญาแบบนี้ไว้ก็ยังไม่ต้องเสียใจ เพราะนี่คือโอกาสดีที่คุณอาจจะตัดสินใจทำ Refinance ได้
(อธิบายคร่าวๆ Refinance ก็คือการไปขอสินเชื่อใหม่เพื่อนำเงินก้อนมาชำระหนี้เดิมที่คุณยังผ่อนชำระไม่หมด แล้วค่อยไปทำการผ่อนชำระกับผู้ให้สินเชื่อคนใหม่ครับ)
ดังนั้นการทำ Refinance ในครั้งนี้คุณก็จะเหมือนกู้เงินจากอีกที่มาโปะที่เก่า และผ่อนชำระกับเงินกู้ก้อนใหม่ (ที่ผ่อนชำระสินทรัพย์ตัวเดิม) ได้ใน”อัตราดอกเบี้ยใหม่ที่มีการปรับลดลง”นั่นเองครับ
ไว้ผมจะมาอธิบายขั้นตอนการทำ Refinance กันอีกรอบสำหรับคนที่สนใจ
✅ ข้อดีของการกู้แบบนี้ก็คือภาระการจ่ายเลดอกเบี้ยนั้นจะคงที่ตลอด แม้ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเราก็ยังจ่ายที่อัตราเดิมอยู่ครับ
❌ ส่วนข้อเสียก็อย่างที่เห็นก็คือจะเสียเปรียบกรณีที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอีกอย่างคือแบงก์จะไม่ชอบให้สัญญาแบบนี้กับผู้ขอสินเชื่อ เพราะมันจะทำให้แบงก์บริหาร Cash flow ได้ยากครับ
(ลองคิดดูว่าปรับดอกเบี้ยทีนึงกระทบรายจ่าย[รายจ่ายของธนาคารคือดอกเบี้ยเงินฝาก] แต่ไม่กระทบรายรับ [รายรับคือดอกเบี้ยเงินกู้ที่คงที่ตามสัญญา] ทำให้ธนาคารเองจะคำนวณและวางแผนยากขึ้น) วงเล็บนี้อาจจะงงๆหน่อยนะครับ 😂😂
🎈 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) 🎈
การกู้เงินภายใต้ดอกเบี้ยแบบลอยตัวนี้จะมีลักษณะสำคัญคือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนั้นจะสามารถขึ้นลงได้ตามดอกเบี้ยอ้างอิงของแต่ละธนาคาร
ดังนั้นถ้ามีการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงในวันนี้ ก็ดีใจด้วยครับ การจ่ายดอกเบี้ยของคุณในงวดถัดไปจะลดลงทันที ส่วนใหญ่ก็จะปรับลดลงที่ 0.25%
ขอยกตัวอย่างง่ายๆแบบนี้ว่า สมมุติคุณกู้บ้านราคา 2 ล้านบาท ทำสัญญาแบบดอกเบี้ยลอยตัวที่ MLR - 1.00%
แบบนี้หมายความว่า ทุกๆงวดคุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับ ดอกเบี้ยอ้างอิง MLR แล้วลบด้วย 1%
ถ้างวดที่แล้วตามข้อมูลที่ผมเคยให้ไปดอกเบี้ย MLR จะอยู่ที่ 6.25% คุณก็จะจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.25% ของเงินต้นที่เหลืออยู่ สมมุติว่าเหลือ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยก็จะอยู่ที่ 52,500 ต่อปี หรือถ้าคิดเป็นต่อเดือนก็จะเท่ากับ 4,375 บาท
ถ้ามาเดือนนี้อัตตราดอกเบี้ยอ้างอิง MLR ลดลงเหลือ 6% คุณก็จะจ่ายดอกเบี้ยเพียงปีละ 50,000 หรือคิดเป็นเดือนละ 4,167 บาท
อาจจะดูไม่เยอะแต่ในระยะยาวก็มีผลต่อค่าใช้จ่ายเหมือนกันนะครับ 🤓🤓
**** ตัวเลขที่ผมยกตัวอย่างมานั้นเป็นการคิดคร่าวๆนะครับ เพราะจริงๆแล้วการคิดดอกเบี้ยของการกู้บ้านจะเป็นแบบลดต้นลดดอก (Amortization) ซึ่งมีการคำนวณที่ค่อนข้างละเอียดกว่านี้
✅ ข้อดีของดอกเบี้ยแบบนี้ก็คือมีประโยชน์เวลาดอกเบี้ยลดครับ อีกอย่างคือดีกับธนาคารเพราะธนาคารสามารถบริหาร Cash Flow ได้ง่ายกว่า (เพราะเวลาปรับดอกเบี้ยทีรายรับรายจ่ายจะเปลี่ยนไปในทางเดียวกันหมดครับ ตัวเลขก็จะคำนวณได้ง่ายกว่า)
❌ ข้อเสียก็คือถ้ามีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เราก็จะต้องจ่ายมากขึ้นครับ
ประมาณนี้ครับสำหรับดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภท
สังเกตุตรงข้อดีข้อเสียนะครับว่ามันก็จะสลับกันแบบนึงดีในกรณีปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีกแบบดีสำหรับการปรับลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการคาดเดาสภาพเศรษฐกิจเองก็สำคัญ
อย่างในช่วงนี้เศรษฐกิจจะดูอยู่ในช่วงถดถอย รัฐน่าจะปรับดอกเบี้ยลดลงเรื่อยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ควรกู้เงินแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวครับ เพื่อจะได้ประโยชน์ตอนลดดอกเบี้ยลง
ถ้าในอนาคตเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเติบโตเร็วแอดมินก็แนะนำให้กู้เงินแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ครับ เพราะพอมีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อชะลอเงินเฟ้อเราก็จะได้ประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องจ่ายเพิ่มนั่นเอง
สำหรับใครที่มีคำถามสามารถ Comment ไว้ได้เลยนะครับ 🤓🤓
ในโพสต่อๆไปก็จะนำเรื่องน่าสนใจของหนังสือเล่มอื่นๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ สนใจก็กดติดตามเพจ “เล่า” ไว้เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาดีๆในอนาคตครับ
ส่วนถ้าใครไม่อยากพลาดทุกโพสต์ของเพจ “เล่า” แอดมินแนะนำให้กด See First เอาไว้ด้วยครับ :)
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #ดอกเบี้ยเงินกู้ #FixedRate #FloatRate #Refinance
โฆษณา