15 พ.ย. 2019 เวลา 04:41 • การศึกษา
หลักการคิดและออกแบบกิจกรรมใหม่
หลังจากที่เราได้รู้แล้วว่ากิจกรรมมีอะไรบ้าง ?
ลำดับขั้นตอนการนำเป็นอย่างไร ?
รวมถึงได้ให้ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อให้นำไปลองฝึกดูแล้ว
ในตอนนี้เราจะมาเรียนรู้หลักการในการออกแบบกิจกรรมใหม่กัน
บ่อยครั้งที่เราพบว่ากิจกรรมที่มีอยู่ไม่ตอบโจทย์ หรือ เราต้องการกิจกรรมใหม่
แต่คิดไม่ออก
วันนี้ผมมีหลักการในการคิดและออกแบบกิจกรรมมาแบ่งปันครับ
หลักการนี้มีชื่อว่า " CAM = NEW " ครับ
เป็นสิ่งที่ผมใช้ในการหาไอเดียเพื่อออกแบบกิจกรรม
โดยความหมายของ CAM = NEW คือ ถ้าทำตาม CAM แล้วจะเกิด NEW คือ มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น
C = Copy
Copy คือ การเลียนแบบ หากต้องคิดกิจกรรมใหม่ ข้อแนะนำแรกหาดูกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆจาก google เลยครับ เช่น ผมต้องการหากิจกรรม team building ผมก็จะค้นดูว่าเวบไหนมีกิจกรรมน่าสนใจบ้าง
อาจใช้คำค้นว่า Team building activity U.S.A. หรืออะไรก็แล้วแต่ อยากเห็นกิจกรรมของประเทศไหนก็หาดูครับ
ทีนี้เวลาค้นหาผลลัพธ์ที่ได้มักจะเป็นภาพนิ่ง
เราก็ต้องจินตนาการวิธีเล่นจากภาพให้ออก เอาแค่เห็นภาพแล้วรู้ว่าเล่นยังไงก็ได้...กติกาปลีกย่อยเรามาเพิ่มกันอีกที
ข้อนี้ผมแนะนำให้หาไอเดียจากต่างประเทศนะครับ
เพราะถ้าหาในไทย กิจกรรมก็จะซ้ำกับที่คนอื่นเขานำมาใช้กัน เราหาและเน้นรับไอเดียมาลองทำดู เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่แปลกใหม่
คำถามคือ เราจะ Copy ไปทำไม ?
การลอกแบบกิจกรรมจากการแหล่งอื่น จะทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ และเมื่อลอง Copy เราจะเห็นว่ากิจกรรมแบบนี้ควรนำยังไง ? เพื่อนำไปต่อยอดเป็นเกมใหม่
ตัวอย่างการ Copy เพื่อสร้างเกมใหม่ เช่น การนำรูปแบบเกมเศรษฐีมาเล่นเป็นกลุ่มในกิจกรรมที่เราใช้เรียนรู้เรื่องการจัดการและบริหาร แต่เราต้องทำอุปกรณ์ให้ดูน่าเล่น มีตารางเดิน มีตัวเดิน เงินปลอม บ้าน โรงแรม เล่นแบบเกมเศรษฐีเลย แต่ใช้เป็นเกมที่เล่นไปด้วยกันแบบกระบวนการกลุ่ม ให้มีการแบ่งหน้าที่กันในทีม ผลัดการมาทอยเต๋า ส่งตัวแทนมาเดิน เล่นกี่รอบใครมีเงินและสินทรัพย์มากสุดคือทีมชนะ อันนี้คือการ Copy เกมที่เล่นแบบเดี่ยวเอามาใช้เป็นเกมกลุ่ม เห็นไหมครับว่าการ Copy ก็สร้างเกมใหม่ได้
A = Apply
Apply คือ การปรับรูปแบบเกม ตรงนี้จะปรับจากเกมที่เรารู้จัก จากเกมการละเล่นไทย จากเกมที่เราหาดูใน google ซึ่งวิธีการปรับรูปแบบจากเกมเดิมทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับกติกา สร้างเงื่อนไขเพิ่ม
ยกตัวอย่างเช่นเกมผึ้งแตกรัง
เกมนี้เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จัก จับกลุ่มกัน 3 คน โดยใน 3 คน. ประกอบด้วยคนเป็นผึ้ง 1 คน คนเป็นรัง 2 คน ผึ้งจะเข้าไปอยู่ในวงล้อมของรัง และเคลื้อนย้ายตามคำสั่ง " ผึ้งเปลี่ยนรัง " " รังเปลี่ยนผึ้ง " หรือ " รังระเบิด "
สมมติผมอยากได้เกมใหม่โดยตั้งต้นจากกิจกรรมนี้ ผมอาจปรับกติกา เปลี่ยนเป็นเกมกะทะ ปาท่องโก๋ โดยให้จับกลุ่ม 5 คน คนด้านในเป็นปาท่องโก๋ จับคู่ 2 คน ส่วนคนข้างนอกเป็นกะทะ 3 คน แล้วกติกาก็เล่นตามเกมรังเปลี่ยนผึ้งได้เลย เราก็จะได้มิติของกิจกรรมเพิ่มเข้ามา
หรือถ้าจะเพิ่มอีกระดับผมอาจจะเพิ่มคำสั่งเข้าไปอีก ขอใช้เกมกะทะ ปาท่องโก๋ ที่ปรับจากเกมผึ้งแตกรังมาปรับอีกรอบ ผมจะมีคำสั่งคือ ปาท่องโก๋เปลี่ยน กะทะเปลี่ยน กะทะระเบิด (จับกลุ่มใหม่ 5 คน ) และผมอาจเพิ่มคำสั่งเช่น ขยายร้าย ให้จับกลุ่มกันใหม่แบบคำสั่งว่า กะทะระเบิด แต่เพิ่มกติกาเป็นให้เพิ่มจำนวนคนในกลุ่มเป็น กะทะ 6 คน ปาท่องโก๋ 2 คู่ (4คน)
ที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างนะครับ
จะเห็นว่าแค่เราเพิ่มกติกาเข้าไปจากเกมเดิมๆที่เราเคยเล่นก็กลายเป็นเกมใหม่ขึ้นมาทันที
M = Manual
Manual คือ การนำเกมคอมพิวเตอร์หรือเกมในมือถือมาปรับเป็นเกมที่เล่นด้วยอุปกรณ์แทนการเล่นผ่านหน้าจอ
เช่น เกม Tertis (เตอร์ติส) ถ้าผมจะนำเกมนี้มาเล่นแบบ Manual ผมจะใช้วิธีคือ ทำอุปกรณ์ในเกมขึ้นมา แล้วให้เล่นโดยวิ่งผลัดกันมาใส่ชิ้นงานเตอร์ติสให้สำเร็จ ทีมไหนต่อเสร็จเป็นทีมแรกก็ชนะไป (ให้ทีมคุยและวางแผนการทำงานร่วมกันก่อน )
รูปแบบเกม Tertis ที่ถูกนำมาปรับเป็น Manual
ด้วยหลักการ CAM นี้ เราจะได้ไอเดียใหม่ๆในการสร้างกิจกรรม สรุปหลักการคร่าวๆคือ เริ่มจากการลอกแบบแล้วนำกิจกรรมที่ลอกแบบนั้นมาประยุกต์ปรับปรุงกติกา อุปกรณ์ และรูปแบบเพื่อให้เกิดวิธีการเล่นใหม่ๆ
หวังว่าเนื้อหาในตอนนี้คงมีประโยชน์กับทุกท่านนะครับ
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
โฆษณา