Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
KruBen WarHistory
•
ติดตาม
18 พ.ย. 2019 เวลา 03:17 • ประวัติศาสตร์
ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
การจู่โจมที่กรานวีลแลร์ หรือ Granville raid อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู หรือ ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในบรรดาการจู่โจมทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะนี่คือหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่เป็นการจู่โจมของกองทัพเรือเยอรมัน และยังเป็นหนึ่งในการจู่โจมครั้งสำคัญที่ทำให้ฝ่ายพันธมิตรต้องสูญเสียมากกว่าฝ่าเยอรมัน โดยก่อนหน้าที่การจู่โจมที่กรานวีลแลร์จะเริ่มขึ้น กองทัพเรือเยอรมันเคยจู่โจมกองเรือยกพลขึ้นบกของอเมริกันที่กำลังซ้อมรบเตรียมยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ตามแผนยุทธการโอเวอร์ลอร์ดมาแล้ว มันเป็นการฝึกซ้อมรบที่สร้างความประหลาดใจและความสูญเสียอย่างมากแก่กำลังพลอเมริกันในวันนั้น ชัยชนะของเรือเร็วโจมตีของนาวีเยอรมันสร้างความสูญเสียให้แก่ทหารอเมริกันซึ่งยอดความสูญเสียนั้นมีมากกว่าการยกพลขึ้นบกที่หาดยูท่าห์ (Utha Beach) ในวันดีเดย์เสียอีก
1
ปฐมบทของการจู่โจมในครั้งนี้เริ่มจาก การหลบหนีของเชลยศึกเยอรมันจำนวนหนึ่ง ซึ่งแหกค่ายเชลยหนีออกมาจากค่ายเชลยศึก ณ เมืองกรานวีลแลร์ ซึ่งเมืองแห่งนี้เป็นเมืองชายทะเลที่อยู่ทางทิศตะวันตกของฝรั่งเศส มันคาบเกี่ยวระหว่างสองคาบสมุทรสำคัญคือคาบสมุทรโคทองแทงและคาบสมุทรบริทานี หลังจากที่กองทัพพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ในเดือนมิถุนายน 1944 กองทัพเยอรมันในฝรั่งเศสถูกผลักดันจนถอยออกไปจากฝรั่งเศสจนเกือบหมด เหลือไว้เพียงกำลังทหารบางส่วนที่ประจำอยู่ในฐานทัพบางแห่ง โดยฝ่ายพันธมิตรใช้การปิดล้อมฐานทัพเหล่านี้เอาไว้แทนการเคลื่อนกำลังเข้าตี โดยพวกเขาประเมินว่า จะเป็นการรักษาชีวิตกำลังพลของตนเองและประหยัดเวลาได้อย่างคุ้มค่า มากกว่าที่จะเข้าตีฐานทัพข้าศึกที่โดนลอยแพจากกองทัพของตนเองพวกนี้
เดือนตุลาคม 1944 เชลยศึกเยอรมันจำนวน 4 นาย ที่มีทั้งทหารพลร่มและนักเรียนนายเรือ พวกเขาร่วมกันแหกค่ายเชลยศึกที่เมืองกรานวีลแลร์และขโมยเรือลำเลียงพลขึ้นบกของอเมริกันแบบ แอลซีวีพี (LCVP Landing Craft, Vehicle, Personnel) แล่นเรือหนีไปยังหมู่เกาะแชนเนล (Channel Islands) ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะเจอร์ซีย์ (Jersey) และเกาะเกิร์นซีย์ (Guernsey) ซึ่งทั้งสองเกาะนี้คือดินแดนของอังกฤษที่ถูกกองทัพเยอรมันยึดครองเอาไว้ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเชลยศึกเยอรมันหนีมาที่นี่ พวกเขาได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษจากเพื่อนทหารหาญบนเกาะ พร้อมทั้งนำรายงานว่า ข้อมูลเมืองกรานวีลแลร์ที่พวกเขาหนีมา ให้แก่ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ โดยที่ท่าเรือของกรานวีลแลร์ เต็มไปด้วยเรือช่วยรบธรรมดาๆและเรือสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้ ที่ท่าเรือยังคร่าคร่ำไปด้วยยุทธปัจจัยสำคัญมากมาย ทั้งเสบียง อาวุธ เชื้อเพลิง ถูกนำมารวมไว้ที่ท่าเรืองของเมืองแห่งนี้ และอีกหนึ่งข้อมูลที่สำคัญก็คือ ฝ่ายพันธมิตรยังมีการป้องกันพื้นที่โดยรอบเบาบางอีกด้วย
ผู้บัญชาการกองกำลังเยอรมันที่ยึดครองหมู่เกาะแชนเนล พลเรือโทฟรีดริค เฮิฟไมเออร์ รับทราบข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้ด้วยความดีใจ กองทัพพันธมิตรคิดมาตลอดว่า ภายหลังจากที่พวกเขาบุกยุโรปและปลดปล่อยปารีสรวมทั้งเคลื่อนพลประชิดพรมแดนเยอรมันได้แล้ว กำลังทหารเยอรมันที่เหลือในพื้นที่ต่างๆซึ่งโดนตัดขาดจากกองทัพของตน พวกมันก็เพียงแค่รอเวลาพ่ายแพ้เท่านั้น ไม่มีพิษสงใดๆที่จะส่งผลเสียหรือสร้างผลกระทบต่อการทำสงครามของพวกเขาได้
แต่ทว่า... อดีตผู้บัญชาการเรือประจัญบานชาร์นฮอร์สท์ คนนี้ ต้องการจะใช้ความประมาทของพวกพันธมิตรที่คิดว่า “ทหารเยอรมันบนหมู่เกาะแชเนล คือพวกติดเกาะรอวันตาย” ยกกำลังบุกจู่โจมข้าศึกและชิงยุทธปัจจัยสำคัญกลับมา กำหนดการโจมตีเริ่มขึ้นในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 1945 โดยฝ่ายเยอรมันหวังจะใช้เรือเร็วโจมตี Schnellboot (ชเนลบู๊ท) หรือเรียกสั้นๆ ว่า S-Boot (ฝ่ายพันธมิตรเรียกมันว่า เรือ E-Boat ซึ่ง E หมายถึง Enemy) ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 20, 30 และ 37 มิลลิเมตร และมีทีเด็ดสำคัญที่ตอร์ปิโด 2 ท่อยิงจำนวน 4 ลูก มันเป็นเรือที่มีความยาว 32.76 เมตร และกว้าง 5.1 เมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดช่วงสงคราม S-Boot จมเรือสินค้าไปถึง 101 ลำ จัดการเรือพิฆาต 12 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิด 11 ลำ และเรือดำน้ำอีก 1 ลำ มันจึงไม่ต่างจากฉลามเพชฌฆาตที่ปราดเปรียวในท้องทะเล เรือชเนลบู๊ทจะบุกจู่โจมและคุ้มกันเรือลำเลียงพลที่จะแล่นนำกำลังพลขึ้นบก จากนั้นกำลังทหารจะบุกเข้าไปยึดยุทธปัจจัยต่างๆและลำเลียงกลับมาให้ได้มากที่สุด แต่แผนการนี้กลับต้องยกเลิกกลางทางอันเนื่องมาจาก เรือดำน้ำอเมริกันตรวจพบกองเรือเยอรมันเสียก่อน
การจู่โจมต้องเลื่อนเวลามาเป็นหนึ่งเดือนหลังจากนั้น และแล้วราตรีของวันที่ 8 มีนาคม 1945 กองเรือเฉพาะกิจของเยอรมันภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาตรี คาร์ล ฟรีดริค โมฮร์ ซึ่งประกอบไปด้วย เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้นเอ็มคลาส (M class minesweepers) จำนวน 4 ลำ เรือลำเลียงติดตั้งปืนใหญ่จำนวน 3 ลำ โดยแต่ละลำติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตรอันเลื่องชื่อ เรือเร็วโจมตี 3 ลำ เรือวางทุ่นระเบิด 2 ลำ และเรือลากจูงอีก 1 ลำ เข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ กองเรือทั้งหมดแล่นเข้ามาจนถึงท่าเรือเมืองกรานวีลแลร์ โดยมีความมืดเป็นฉากกำบัง
และข้อมูลที่เชลยทั้ง 4 นายนำมาให้นั้นยังมี “สัญญาณรหัสผ่านเข้าสู่ท่าเรือ” ซึ่งเชลยทั้ง 4 เก็บข้อมูลมาเป็นอย่างดี นั่นจึงทำให้ กองเรือเยอรมันทั้งกองสามารถแล่นเข้าสู่ท่าเรือได้ ทหารฝ่ายพันธมิตรที่ประจำท่าเรือมิได้สงสัยหรือหวาดระแวงกองเรือที่เข้ามาแต่อย่างใด เพราะไม่มีใครแม้แต่คนเดียวในตอนนั้นจะเชื่อว่า กองเรือที่พวกเขาเห็นนี้คือเรือรบข้าศึก เพราะทหารพันธมิตรเชื่ออย่างสนิทใจว่าข้าศึกที่เหลืออยู่นั้น “พวกมันไม่มีพิษสงอะไรอีกแล้ว” แต่คืนนี้ผู้การโมฮร์และทหารเรือเยอรมันทุกนายภายใต้การบังคับบัญชาของเขา จะให้บทเรียนราคาแพงแก่พวกพันธมิตรได้รู้ซึ้งก่อนสงครามจะยุติลง
เรือรบเยอรมันแปรขบวนและเปิดฉากระดมยิงใส่ป้อมปืน และหอสังเกตการณ์รอบๆท่าเรือ ข้อมูลและแผนผังท่าเรือต่างๆ ที่มั่นและจุดสำคัญถูกร่างบันทึกไว้ตั้งแต่เชลยศึกทั้ง 4 ยังอยู่ที่นี่ และมันเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจู่โจมในครั้งนี้ ความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นไปทั่วท่าเรือทันที ทหารพันธมิตรตกตะลึงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ที่ทหารเยอรมันจะเคลื่อนพลเข้ามาโจมตี พวกมันสิ้นฤทธิ์ไปแล้วและกำลังจะแพ้สงคราม แต่วันนี้จู่ๆพวกมันกลับเคลื่อนพลมาโจมตีได้อย่างไรกัน
ความสงสัยและสับสนถูกกลบด้วยเสียงปืน 88 มิลลิเมตร และปืนใหญ่ประจำเรือ ที่ระดมยิงเข้าใส่เรือและอาคารต่างๆในท่าเรือ ทหารเรือเยอรมันพร้อมอาวุธครบมือบางส่วนจู่โจมเข้าไปยังอาคารต่างๆในท่าเรือ ทหารอเมริกันและอังกฤษถูกสังหาร ไปกว่า 30 นาย ขณะที่บางส่วนเคลื่อนกำลังเข้าไปยึดยุทธปัจจัยและรีบเร่งลำเลียงขึ้นเรือเป็นการด่วน นอกจากนี้พวกเขายังสามารถช่วยเชลยเยอรมันที่ทำงานในท่าเรือได้ 67 นายอีกด้วย การจู่โจมดำเนินต่อไป จนกระทั่งเข้าสู่เช้ามืดของวันที่ 9 มีนาคม 1945 กองเรือเฉพาะกิจของเยอรมันจึงเคลื่อนพลกลับไป
การจู่โจมท่าเรือในครั้งนี้ ฝ่ายเยอรมันเสียเรือวางทุ่นระเบิดไป 1 ลำ และมีทหารเสียชีวิตเพียง 6 นาย พร้อมทั้งสามารถชิงยุทธปัจจัยสำคัญทั้งอาหาร เชื้อเพลิง และยึดยุทโธปกรณ์ข้าศึกบางส่วนกลับมาได้ ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรทั้งอเมริกันและอังกฤษเสียทหารไปกว่า 30 นาย ถูกจับเป็นเชลย 22 นาย และมีทหารบาดเจ็บเกือบ 200 นาย นอกจากนี้พวกเขายังเสียเรือวางทุ่นระเบิด 1 ลำ และเรือสินค้า 4 ลำเสียได้รับความเสียหายอย่างหนัก ภายหลังการจู่โจมในครั้งนี้ นาวาตรีคาร์ล ฟรีดริค โมฮร์ ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight's Cross of the Iron Cross)
นี่เป็นการจู่โจมครั้งสำคัญของกองทัพเรือเยอรมันในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝากชื่อลือนามให้ข้าศึกได้ครั่นคร้าม และเป็นตำนานแห่งปัจฉิมบทของกองทัพเรือเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปตลอดกาล
References
1.
https://www.jerseybunkertours.com/granville-raid
2.
https://www.defensemedianetwork.com/stories/the-granville-raid/
3.
https://en.wikipedia.org/wiki/Granville_raid
3 บันทึก
4
2
3
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย