18 พ.ย. 2019 เวลา 03:47
“มาเก๊า VS ฮ่องกง” 1 ประเทศ 2 ระบบ กับจุดนัดพบที่ต่างกัน
การประท้วงบนเกาะฮ่องกงที่ยืดเยื้อมาร่วมครึ่งปี ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวัน จนเกาะสวรรค์แห่งการค้า การเงิน และการท่องเที่ยวแห่งนี้ต้องอยู่ในสภาพเหมือนคนเดินตกหลุมสะดุดแล้วสะดุดอีกหลายต่อหลายครั้ง บั่นทอนบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อฮ่องกงเอง ซึ่งตอนนี้การชุมนุมในฮ่องกงนั้น ได้ก้าวข้ามไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย และการปลดแอกตัวเองออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
การชุมนุมประท้วงจนเกิดจลาจลในฮ่องกง
ซึ่งผมเคยเขียนบทความถึงสิ่งที่มันฝังรากลึกอยู่ในชาวฮ่อง โพสต์​ไว้เมื่อเดือนสิงหาคม ถึงสาเหตุ​ว่าทำไมถึงต้องประท้วงเอาไว้ที่
.
สามารถไปลองย้อนอ่านได้ครับ
การชุมนุมประท้วงจนเกิดจลาจลในฮ่องกง
ทุกคนคงทราบว่าจีนปกครองรัฐบริวารของตัวเองในรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า "1 ประเทศ 2 ระบบ" โดยมีมาเก๊า และฮ่องกงที่ใช้ระบอบการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตย คือ สามารถประกอบกิจกรรมได้เกือบเทียบเท่าระบอบประชาธิปไตย 100% เลือกตั้งได้ ชุมนุมประท้วงได้ แสดงความเห็นทางการเมืองได้ มีกฎหมายเป็นของตัวเองที่ถูกบัญญัติด้วยรัฐสภาฮ่องกง แต่ทั้งหมดนั้นจะอยู่ภายใต้การครอบด้วยบาเรียอำนาจจากรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งมันก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ที่จีนให้ต่างชาติเข้ามาเช่าดินแดนของตัวเอง
ย่าน Central ย่านเศรษฐกิจใจกลางเกาะฮ่อกง
การที่มาเก๊า และฮ่องกง มีอิสระกึ่งหนึ่งจากจีน มันก็สร้างปัญหาให้กับจีนไม่น้อย เพราะประชาชนในดินแดนเหล่านี้จะมีอิสระทางความคิดที่มากกว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ถูกปลูกฝังโดยประเทศเจ้าอาณานิคมที่มาเช่าพื้นที่ แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างมาเก๊าและฮ่องกงนั้น กลับทำให้เกิดความสงสัยว่า ตอนที่มาเก๊าต้องคืนสู่จีน เกิดการประท้วงแบบฮ่องกงหรือไม่?
บรรยากาศตัวเมืองมาเก๊า
ผมไปหาข้อมูลเรื่องนี้เขียนให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในมาเก๊า พบว่ามันเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากว่า ชาวมาเก๊าไม่เคยประท้วงรัฐบาลจีนในยามที่โปรตุเกส ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมเดิมปกครองอยู่ แต่เป็นโปรตุเกสเองต่างหากที่ถูกชาวมาเก๊าประท้วงขับไล่
1
**ทำไมมาเก๊าถึงไม่ประท้วงจีนแบบฮ่องกง**
.
ในปี 1999 เขตบริหารพิเศษมาเก๊า ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส เจ้าอาณานิคมจากยุโรป ถูกส่งคืนกลับสู่อ้อมกอดของประเทศจีนอย่างเป็นทางการตามสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ แต่จริงๆ แล้วนั้นโปรตุเกสคืนมาเก๊าให้จีนก่อนกำหนดถึง 24 ปี ซึ่งก็คือในปี 1975 สาเหตุที่โปรตุเกสรีบคืนมาเก๊าให้จีนก่อนกำหนดนั้น เนื่องจากเกิดการจลาจลจากประชาชนที่มีแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายในปี 1966 เจ้าหน้าที่ของมาเก๊าในคราบของโปรตุเกสไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้สร้างโรงเรียนที่ปลูกฝังแนวคิดฝ่ายซ้ายบนเกาะไทปา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ติดกับเขตเมืองหลักของมาเก๊า ที่่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติมาเก๊า
เขตต่างๆ ในมาเก๊าบนเกาะไทปา
ความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างชาวมาเก๊าและเจ้าหน้าที่โปรตุเกสสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะการที่จะสร้างโรงรียนนั้นจะต้องจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ถึงจะได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้ เนื่องจากบนเกาะไทปาที่แยกตัวออกจากแผ่นดินมาเก๊าไม่มีโรงเรียนสำหรับสอนหนังสือให้กับลูกหลานคนบนเกาะ แถมชาวเกาะไทปาก็มีฐานะยากจนกว่าในมาเก๊า ดังนั้นการจะส่งลูกหลานข้ามน้ำข้ามทะลไปเรียนในโรงเรียนบนฝั่งมาเก๊าที่ก็มีโรงเรียนฝ่ายซ้ายเพียงแค่แห่งเดียวจึงเป็นเรื่องที่ลำบากมากในสมัยนั้น
เมืองมาเก๊าในอดีตสมัยยังถูกปกครองโดยโปรตุเกส
ความพยายามของชาวเกาะไทปาที่ต้องการให้บุตรหลานรู้หนังสือ พวกเขาจึงระดมทุนกันในชุมชน เพื่อหาเงินมาดัดแปลงอาคารโรงงานเก่าสามแห่งเป็นโรงเรียนตั้งแต่เดือนเมษายน - พฤศจิกายน ปี 1966 ในตอนนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนบนเกาะไทปาได้พยายามเข้าพบรัฐบาลโปรตุเกส - มาเก๊าถึง 24 ครั้งเพื่อขอใบอนุญาตก่อตั้งโรงเรียนแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง แถมยังสั่งให้ชะลอเรื่องบ้าง ดึงเช็งเรื่องไว้บ้าง แต่ในเวลานั้นอาคารเรียนก็ได้มีการก่อสร้างไปก่อนบางส่วนแล้ว แต่มันติดตรงที่ใบอนุญาตการก่อตั้งโรงเรียนที่ยังไม่ได้มา ซึ่งอาจทำให้โรงเรียนเสร็จไม่ทันสำหรับการเริ่มต้นรับสมัครเด็กนักเรียนและเปิดการเรียนการสอน
เมื่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลโปรตุเกส - มาเก๊า พบว่าชาวเกาะไทปาดื้อดึงที่จะสร้างโรงเรียนให้ได้ โดยไม่จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งชาวบ้าน คนงานก่อสร้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งโรงเรียนถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก และบางคนถูกลงโทษรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัสต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวกันมากมาย ซึ่งนี่คือสาเหตุของการชุมนุมประท้วงจนนำไปสู่การจลาจลและการเผชิญหน้ากันในปี 1966
บรรยากาศการชุมนุมประท้วงของชาวจีนมาเก๊า เพื่อต่อต้านโปรตุเกสในปี 1966
การประท้วงเริ่มต้นที่นอกคฤหาสน์ผู้ว่าราชการมาเก๊า ต่อมาก็ขยายวงกว้างไปยังอาคาร Leal Senado หรือรัฐสภามาเก๊า ทำให้รัฐบาลปักกิ่งออกมาประนามเจ้าหน้าที่โปรตุเกส พอเริ่มรุนแรงขึ้นรัฐบาลโปรตุเกส – มาเก๊าจึงสั่งให้ใช้กำลังทหารชาวโปรตุเกสจัดการกับฝูงชน มีการระดมยิงกระสุนจริงใส่ชาวจีน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บอีก 212 คน (บางสื่อก็อ้างว่าเสียชีวิต 11 ราย) ซึ่งเรื่องราวในวันนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ "12.3" เพราะการยิงเกิดขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม 1966 จนทำให้จีนต้องส่งกองทัพเข้ามาช่วยจัดการและปลดแอกชาวมาเก๊าจากโปรตุเกส
บรรยากาศการชุมนุมประท้วงของชาวจีนมาเก๊า เพื่อต่อต้านโปรตุเกสในปี 1966
หลังจากบังคับใช้กฎอัยการศึกแล้วมาเก๊ากลับสู่ความสงบ แต่ความต้องการของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในเมืองจูไห่สนับสนุนชาวจีนในมาเก๊า กดดันให้รัฐบาลโปรตุเกส - มาเก๊า ต้องขอโทษและการชดเชยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเป็นทางการเท่านั้น นอกจากนั้นรัฐบาลโปรตุเกส – มาเก๊า ยังปกปิดการเคลื่อนย้ายศพ กอกำลัง KMT (National Party) ในมาเก๊า รวมถึงการส่งกลับสายลับ 7 KMT ไปยังแผ่นดินใหญ่ ซึ่งสายลับ ROC 7 คนที่ถูกจับในจูไห่ฐานพยายามวางระเบิด และหลบหนีเข้าไปที่มาเก๊าโดยทั้งหมดถูกกักตัวในมาเก๊า
บรรยากาศการชุมนุมประท้วงของชาวจีนมาเก๊า เพื่อต่อต้านโปรตุเกสในปี 1966
ด้วยแรงกดดันทั้งจากประชาชน และจากจีนแผ่นดินใหญ่ สุดท้ายผู้ว่าการมาเก๊าเห็นว่าไม่มีทางออก จึงตกลงที่จะสนองความต้องการทั้งหมดของชาวจีน แต่รัฐบาลลิสบอนในประเทศแม่กลับยังไม่ยอมถอยและรู้สึกว่าผู้ว่าการมาเก๊าอ่อนแอยอมจีนง่ายไป ทำให้ลิสบอนต้องการที่จะเจราต่อรองกับปักกิ่ง มิเช่นนั้นโปรตุเกสจะสูญเสียอำนาจในมาเก๊าอย่างแน่นอน
และแล้วเวลาแห่งการเอาคืนของชาวมาเก๊าก็มาถึงเพื่อตอบโต้รัฐบาลโปรตุเกส – มาเก๊า โดยชาวจีนในมาเก๊าใช้วิธี " 3 ไม่มี หรือ Three No's" คือ
.
1. ไม่มีภาษี : การไม่จ่ายภาษีเข้าคลังรัฐบาลมาเก๊า ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกส่งกลับไปยังลิสบอนให้กับรัฐบาลโปรตุเกส และบางส่วนก็นำมาใช้ในกิจการของรัฐบาลมาเก๊า และจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
2. ไม่มีบริการ : ชาวจีนมาเก๊า ปฏิเสธการให้บริการทุกอย่างๆ กับชาวโปรตุเกส ตั้งแต่บริการในโรงแรม ห้างร้าน ไปจนถึงการไม่บริการขนสินค้าใดๆ แก่เรือเดินสมุทรของโปรตุเกส เรียกได้ว่าอะไรที่เป็นโปรตุเกสชาวจีนมาเก๊าจะไม่ทำให้และแบนทันที
3. ไม่ขาย : เลิกการติดต่อค้าขายให้กับชาวโปรตุเกสทั้งหมด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ร้านค้าที่เป็นของชาวโปรตุเกสก็ไม่มีลูกค้าชาวจีน ส่วนร้านค้าจีนก็ไม่ต้อนรับชาวโปรตุเกส ไม่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากมาเก๊าไปโปรตุเกส เรียกได้ว่าเศรษฐกิจการค้าขายและสภาพคล่องทางการเงินของรัฐบาลโปรตุเกสได้หยุดชะงักลงกันที
รัฐบาลโปรตุเกส – มาเก๊าโดนชาวจีนตลบหลังแบบนี้ก็เกือบจะนำไปสู่การล่มสลายของการรัฐบาลเลยทีเดียว จนนักลงทุน พ่อค้าหลายคนต้องเลือกที่หนีไปฮ่องกงแทน สกุลเงินมาเก๊าลดคุณค่า ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ไม่มีการกำจัดของเสีย ไม่มีการขนส่ง ทำให้นักการทูตอาวุโสจากลิสบอนขอพยายามเจรจากับจีน ในเวลานั้นกองทัพจีนเริ่มเตรียมการรอทางตอนเหนือของชายแดนจีน – มาเก๊าแล้ว ส่วนเรือบรรทุกปืนใหญ่ของจีน 4 ลำบินก็จอรอท่าอยู่รอบๆ มาเก๊า
ในชุมชนชาวโปรตุเกสเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการละทิ้งมาเก๊า โดยหารู้ไม่ว่า “เหมา เจ๋อตุง” ผู้นำสูงสุดของจีนในยุคนั้นได้มีการหารือกับ “โจว เอินไหล” นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีแผนที่จะยึดมาเก๊าคืน หลังจากนั้น 1 - 2 วัน ชุดรัฐบาลโปรตุเกส – มาเก๊า ก็บินกลับไปยังลิสบอนพร้อมคำแนะนำเพื่อยอมรับความต้องการทั้งหมดของชาวจีนและจ่ายค่าชดเชยให้กับทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บและฝังศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นเงินมูลค่า 2 ล้านปาตากามาเก๊า ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นเงินที่มหาศาล เพราะในปี 1966 ประชาชนสามารถซื้อแฟลตห้องพักได้ในราคาเพียง 10,000 ปาตากามาเก๊า และมาเก๊ายังเรียกร้องว่าในวันงานศพธงโปรตุเกสทั้งหมดจะต้องชักขึ้นบนเสาอย่างเป็นทางการ เพื่อทำการกราบไหว้ขอคะมาผู้เสียชีวิต และรัฐบาลมาเก๊าต้องรับรองว่าต้องไม่มีองค์กรชาตินิยมจีน (KMT) ในมาเก๊า และธง ROC หรือสัญลักษณ์จะแสดงในมาเก๊าจะต้องเปลี่ยนเป็นภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม ปี 1967 ผู้ว่าราชการโปรตุเกสก็ได้ลงนามในแถลงการณ์ขอโทษต่อชาวมาเก๊าอย่างเป็นทางการ
“เหมา เจ๋อตุง” ผู้นำสูงสุดของจีนในยุคนั้นได้มีการหารือกับ “โจว เอินไหล” นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
จนในที่สุดโปรตุเกสได้ลงนามในข้อตกลงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1967 ต่อหน้าภาพเหมือนของประธานเหมา ผู้ว่าการมาเก๊าตอนนั้นคือ José Manuel de Sousa e Faro Nobre de Carvalho ลงนามที่จะคืนมาเก๊าให้จีน ซึ่งส่งผลให้จีนสามารถมีอิทธิพลเหนือมาเก๊าได้ ถึงแม้ว่าโปรตุเกสยังคงมีอำนาจอธิปไตยเหนือมาเก๊าก็ตาม แต่จีนเองก็ยังไม่รับมาเก๊าคืนในทันที จนกระทั่งถึงเวลาที่เหมาะสม นั่นก็คือวันที่โปรตุเกสประกาศยกเลิกการมีประเทศอาณานิคมทั่วโลก
ผู้ว่าการมาเก๊า José Manuel de Sousa e Faro Nobre de Carvalho
ในปี 1975 มาเก๊ามีความเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงกับโปรตุเกสอีกต่อไป เนื่องจากโปรตุเกสประกาศอย่างชัดเจนว่าจะยกเลิกชาติอาณานิคมทั้งหมด โดยมาเก๊าถือเป็นดินแดนแรกๆ ที่หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมโปรตุเกส ซึ่งมาเก๊ามีสิทธิที่จะบริหารดินแดนของตัวเอง และรัฐบาลท้องถิ่นของมาเก๊าก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งมาเก๊ากลับสู่จีนอย่างถาวรในปี 1999 เวลาผ่านมาหลายสิบปีมาเก๊าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงด้านสังคมด้วย ชาวมาเก๊าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลสามารถเก็บเงินจากรายได้คาร์สิโนได้อย่างมหาศาล
คาสิโนในมาเก๊า รายได้หลักของเมือง
ชาวมาเก๊ามีการจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำเพียง 2% มีเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนในแต่ละปี ของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายอยู่ที่ประมาณ 10,000 ปาตากา (ราว 38,100 บาท) และเงินช่วยเหลือสำหรับซื้อหนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ นักเรียนสามารถสมัครกองทุนรัฐบาลสำหรับสโมสร โรงเรียน งานอาสาสมัคร บริการชุมชนและอื่น ๆ และนักเรียนยังได้ส่วนลดสำหรับการโดยสารบัสในมาเก๊าสูงสุดถึง 10% รวมทั้งส่วนลดร้านอาหารที่ลงทะเบียนไว้ด้วย
คาสิโนในมาเก๊า รายได้หลักของเมือง
หากเด็กคนไหนเรียนเก่งในระดับมัธยม ก็จะได้รับทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาฟรี นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นค่าที่พักหากมีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ในระดับสูง
ประชาชนส่วนใหญ่ในมาเก๊าค่อนข้างพอใจกับเศรษฐกิจของดินแดนตัวเอง โดย GDP ของมาเก๊าต่อหัวอยู่ที่ 50,000 ดอลล่าสหรัฐ (ราว 1,513,500 บาท) สูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 34,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 1,029,200 บาท) ซึ่งเป็นข้อมูลในช่วงปี 1982 - 2016
บรรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียนของมาเก๊า
ในทางตรงกันข้ามอังกฤษยังคงปกครองฮ่องกงจนถึงการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน ดังนั้นสื่อและนักเคลื่อนไหวต่อต้านจีนยังคงปลุกระดมชาวฮ่องกงไม่ให้ตกอยู่ใต้อธิปไตยของจีน อังกฤษเรียกร้องให้จีนไม่เปลี่ยนเอกราชของฮ่องกงจนถึงปี 2047 ดังนั้นสื่อต่อต้านจีนจำนวนมากและกลุ่ม KMT ยังคงปั่นกระแสในฮ่องกงต่อเนื่อง และเนื่องจากชาวฮ่องกงโดยทั่วไปไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากภาพลักษณ์ที่ไม่ดีที่จีนถูกมองจากสายตาคนฮ่องกง และชาวโลก โดยเฉพาะชาวฮ่องกงที่อายุน้อยที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นเลือดฮ่องกงและต่อต้านประท้วงสิ่งใดก็ตามที่จีนแผ่นดินใหญ่ทำ เพราะพวกเขาคิดว่าจีนแผ่นดินใหญ่นั้น“ ป่าเถื่อน” มากกว่าและขาดสิทธิพลเมืองอย่างที่โลกประชาธิปไตยต้องการ
ชาวฮ่องกงเรียกร้องให้จีนหยุดแทรกแซงฮ่องกง
อีกหนึ่งเชื้อไฟที่สุมให้ความรุนแรงเกิดขึ้นในฮ่องกงก็คือ การเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าครองชีพและอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นสวนทางกับรายได้ จากการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาเก็งกำไร ทั้งภาคธุรกิจ การเงิน ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ต่างตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนจีนมากกว่าครึ่ง แม้แต่ตลาดหุ้นฮั่งเส็งเอง ซึ่งถือเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ก็อยู่ภายใต้การบริหารจากคนจีนแผ่นดินใหญ่ กลุ่มคนที่ชาวฮ่องกงเคยดูแคลน ที่ในวันหนึ่งกลับมาร่ำรวยกว่าและมีอิทธิพลเหนือตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ชาวฮ่องกงรับไม่ได้จากการโดน “พวกป่าเถื่อน” ที่ตัวเองเคยเรียกไว้ มาอยู่เหนือหัวนั่นเอง
ชาวฮ่องกงเรียกร้องให้จีนหยุดแทรกแซงฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม คุณภาพชีวิตและสวัสดิการรัฐบาลเหล่านี้ที่มาเก๊ามี แต่ฮ่องกงไม่มี จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในกลุ่มชนชั้นกลางและล่างในฮ่องกง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในฮ่องกงนั้นมีพื้นฐานมาจากเรื่องของเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว หากประชาชนในกลุ่มชนชั้นแรงงานในฮ่องกงได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลฮ่องกง ก็จะไม่มีเหตุการณ์ความไม่พอใจต่อจีน ซึ่งตรงกันข้ามกับชาวมาเก๊าที่ชีวิตแทบไม่ต้องดิ้นรนมาก และมีเงินใช้ คุณภาพชีวิตสบายๆ
.
**เพราะในเมื่อเศรษฐกิจก็ดี การศึกษาก็ดี รายได้ก็สูง คุณภาพชีวิตก็ดี ประชาชนก็ไม่รู้จะประท้วงไปทำไมนั่นเอง**
.
ที่มา : https://1th.me/7DrAd
โฆษณา