Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ปกิณกะของข้าพเจ้า
•
ติดตาม
18 พ.ย. 2019 เวลา 09:15 • ประวัติศาสตร์
ผมเติบโตมากับครอบครัวชาวจีนอพยพ รุ่นพ่อผมเป็นกลุ่มแรกของตระกูลที่ย้ายมาพำนักอาศัยที่ประเทศไทย ฉะนั้นจะกล่าวว่าผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของตระกูลในเมืองไทยก็ว่าได้ โดยที่พ่อของผมเป็นชาวแต้จิ๋วหรือ เฉาโจว (ตามภาษาจีนกลาง) เป็นเมืองซึ่งตั้งอยู่ติดกับซัวเท้าทางทิศใต้ (หรือที่คนไทยรู้จักในนามซัวเถานั่นเอง) โดยนั่งเรือสำเภาโดยสารมาจากประเทศจีน มณฑลกวางตุ้ง
พ่อผมเล่าให้ฟังตั้งแต่สมัยผมยังเล็กๆ ว่าท่านเดินทางมาพร้อมกันกับอาแปะ(พี่ชายคนรอง) กับอาม่า รวมทั้งหมดสามคน ใช้เวลาเดินทางบนเรือสำเภาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน ซึ่งเท้าความไปยังสมัยก่อนหน้านี้ ในยุคนั้นประเทศจีนมีการสู้รบและสงครามภายในประเทศ คนจีนจำนวนมากต่างหนีตายอพยพถิ่นฐานหนีจากบ้านเกิดตัวเองไปยังประเทศต่างๆ ในแถบคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่
ประเทศปลายทางสำหรับคนแต้จิ๋วนั้นส่วนมากมักเลือกอพยพไปยังประเทศสิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย, ฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งสำหรับประเทศไทยเรานั้น คนจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพถิ่นฐานมาเมืองไทยกลุ่มแรกๆ เป็นกลุ่มคนฮกเอี้ยน ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว
อันคำว่าแต้จิ๋วนั้น นอกจากจะเป็นชื่อของกลุ่มคนชาวจีนที่พูดภาษาถิ่นเดียวกันแล้วนั้น ซึ่งก็คือภาษาแต้จิ๋ว อีกทั้งแต้จิ๋วนั้นเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ ซึ่งออกเสียงว่า เฉาโจวในภาษาจีนกลางอันแยกเป็นคำสนธิมาจาก เตีย(แต้) แปลว่าทะเล คำว่าโจว(จิ๋ว)นั้น แปลว่าเมือง รวมกันจึงแปลว่าเมืองชายทะเล ซึ่งก็คล้าย ๆ กับจังหวัด ชลบุรี หรือ ระยองในบ้านเรานั่นเอง
พ่อเคยเล่าว่าเมืองแต้จิ๋วนั้นมี 6 อำเภอ อันได้แก่ เฉาอัน, เฉาหยาง, เฉิงห่าย, ผู่หนิง, เจ้หยาง และ เหลาผิง ซึ่งต้นตระกูลผมมาจากเมืองเฉาอัน อาชีพดั้งเดิมของตระกูลคือทำเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ต่างๆทั่วไป
พ่อเล่าอีกว่า สมัยก่อนที่บ้านจะทำนากันเป็นหลัก ส่วนอากงมีอาชีพเป็นคนฆ่าหมูและขายเนื้อหมูในตลาด ซึ่งฐานะโดยรวมก็ถือว่าไม่ได้ร่ำรวยอะไร ค่อนไปทางปานกลาง มีที่นาทำกินอยู่ประมาณ 10 กว่าไร่
จวบจนยุคข้าวยากหมากแพง อีกทั้งสงครามรุมเร้าจึงทำให้อาม่าและอากงหรือปู่ย่าผม ตัดสินใจขายที่ดินที่มีทั้งหมดและรวมกับเงินเก็บที่พอมีเพื่อใช้ซื้อตั๋วเรือส่งทั้งสามคนมาประเทศไทยก่อนเป็นชุดแรก
โดยทั้งสองท่านใช้เวลาตัดสินใจว่าใครจะมาก่อนกันเป็นชุดแรกอยู่นานนับเดือนกว่าจะตกลงกันได้ โดยอาม่าตัดสินใจไปก่อนเพื่อทำงานหาเงินเพื่อซื้อตั๋วเรือให้กับอากงและลูกคนโตในภายหลัง โดยอากงผมกับอาตั่วแปะ(ลุงคนโต)ทั้งสองคนจะหาเงินสมทบเพื่อนั่งเรือตามมาด้วยเช่นกัน
1
ซึ่งอาม่าผมนี่เป็นหญิงแกร่งมากๆ เธอมีความสามารถรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนักแบบกรรมกรแบกหาม เย็บปักถักร้อย กับข้าวกับปลา การเรือนการบ้าน งานช่างต่างๆ ซึ่งการเดินทางด้วยเรือในสมัยก่อนนั้นนับได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่ว่าจะมีเงินแล้วได้ไปทุกคนหรือก็เปล่า
การอยู่อาศัยบนเรือก็นับเป็นเรื่องที่ทรหดอดทนเอาการ
คนสมัยก่อนที่เดินทางมาเมืองไทย จะเดินทางโดยเรือสำเภา ซึ่งจุคนได้เที่ยวละนับร้อยๆ คน ซึ่งในช่วงแรกก่อนสงครามนั้นการเดินทางมาเมืองไทยเป็นเรื่องคนรวยมีฐานะที่อยากไปแสวงโชคจากคำบอกเล่าของคนรุ่นแรกๆ ว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์มาก ผู้คนเป็นมิตร การเมืองสงบ มีอิสระในการใช้ชีวิต
1
ในช่วงนั้นประเทศจีนเริ่มเป็นคอมมิวนิสต์แล้วในสมัยเหมาเจ๋อตุง ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเอง ผลผลิตทุกอย่างจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และแจกจ่ายโดยทางการ ใครที่ยักยอกหรือเก็บเอาสิ่งของต่างๆ ไว้ ต่างก็กลัวจะถูกริบทรัพย์เข้าหลวง จึงเริ่มมีการอพยพมาเมืองไทยกันอย่างหนัก ทำให้ในช่วงนี้ เรือแต่ละเที่ยวนั้นคราคร่ำไปด้วยคนจีนที่ต่างก็หนีความแร้นแค้นไปสู่ประเทศใหม่ที่ดีกว่า
จึงทำให้สภาพการดำรงชีวิตบนเรือกว่า 3 เดือนนั้นถือว่าแร้นแค้นเป็นอย่างมาก ในครั้งนั้นอาม่าเล่าว่า อากงได้ซื้อตั๋วเรือไว้สองใบให้อาม่าและลูกชายคนรอง ซึ่งคืออาแปะคนที่สองของผมเอง โดยพ่อผมนั้นจะต้องไปแอบในเข่งไม้ไผ่ที่เป็นภาชนะใช้บรรจุสินค้า ที่ลำเลียงมาบนเรือรอบนั้นด้วย โดยได้รับการช่วยเหลือจากนายท่าเรือ ซึ่งเป็นคนรู้จักที่สนิทกันกับอากงผมนั่นเอง
โดยสุดท้ายพ่อผมถูกจับใส่เข่งที่เขาใช้บรรจุเกี้ยมฉ่ายหรือผักดองนั่นเอง ลองนึกภาพตามนะครับ เด็กอายุ 5 ชวบ กินนอนอยู่ในเข่งนั้นเป็นเวลาสามวัน ไม่ฉี่ไม่อึ อดทนรอจนออกน่านน้ำสากล จึงค่อยลอบแอบออกมานอกเข่งเพื่อสมทบกับอาม่าและอาแปะผม
อาหารบนเรือมีชนิดเดียว นั่นคือข้าวต้ม ซึ่งประทานโทษขอรับ ไม่ใช่ข้าวต้มแบบเรากินกันเป็นเม็ด ๆ นะครับ เขาใช้ปลายข้าวหัก หรือเศษๆเม็ดข้าวรวบรวมต้มกันโดยเน้นน้ำแทบไม่มีข้าวจริงจังเท่าไหร่นัก กับข้าวก็ถือว่าสุดยอดมาก ๆ นั่นคือเกี้ยมฉ่ายเข่งที่พ่อผมอาศัยมานั่นเอง!!!
แต่ด้วยความที่คนนับร้อยบนเรือ เกี้ยมฉ่ายนั้นอยู่ได้เพียงสองเดือนก็หมดลง ทุกคนจึงได้กินเพียงแค่น้ำต้มเศษข้าวกับเกลือเค็มๆ โรยบนข้าวต้มนั่นเอง ดังนั้นผู้คนที่อพยพมาส่วนมากจึงมีสภาพผอมแห้งแรงน้อย อิดโรย ร่างกายซูบผอม มีหลายคนที่ทนไม่ได้จนถึงกับล้มป่วยและเสียชีวิตบนเรือเสียก็มาก
อาม่าเล่าว่าเมื่อมีคนล้มป่วยอาการหนักร่อแร่ คนเหล่านั้นจะถูกย้ายขึ้นไปอาศัยบนดาดฟ้าเรือ ในพื้นที่ที่กั้นเขตเอาไว้ ซึ่งคนเหล่านั้นต้องทนทุกข์กับสภาพอาการป่วยของตนยังไม่พอ ยังต้องอยู่แบบตากแดดตากลมทะเลไปเรื่อยๆ ใครดวงแข็งหายก็ได้ย้ายลงใต้ท้องเรือ ใครดวงกุด ก็โยนศพลงทะเลเป็นอาหารปลาไป
ทุกครั้งที่มีการทิ้งศพลงทะเล พ่อเล่าว่าเป็นภาพที่จำติดตาไม่เคยลืม ผู้คนร้องห่มร้องไห้ปานจะขาดใจทั้งครอบครัวหรือญาติพี่น้องผู้ที่ตายต่างก็อาลัยอาวรณ์กันระงม ไม่มีแม้กระทั่งพิธีใดๆ ให้แก่ผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งพ่อเล่าว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนอพยพมักไม่อยากพุดถึง ด้วยกลัวอิทธิพลของเจ้าของเรือและกัปตันเรือเป็นอันมาก จึงได้แต่ยอมเก็บเงียบและไม่พยายามรื้อฟื้นเรื่องเหล่านี้เมื่อได้เหยียบแผ่นดินไทยแล้ว
เอาละครับ ตอนหน้ามาว่ากันเรื่องของการผจญภัยของพ่อผมบนแผ่นดินไทยกันต่อ ดูว่าจะสนุกแค่ไหนกันครับ
4 บันทึก
41
19
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ร้อยแปดอาชีพ
4
41
19
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย