23 พ.ย. 2019 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA 103 - ทำความรู้จักกับคำศัพท์ในวงการ NBA (ตอนที่ 4) - Load Management
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
สำหรับบทความนี้่ จะเป็นตอนที่ 4 ใน Series NBA 103 นะครับ
โดยจะเป็นคำศัพท์ที่เรียกว่า Load Management ครับ
คำศัพท์ในวงการ NBA ตอนที่ 4
Load Management คำนี้เริ่มเป็นที่กล่าวขานมากขึ้นใน NBA ยุคปัจจุบัน หลังจากก่อนหน้านี้มักจะเกิดกับบางทีมอย่าง San Antonio Spurs หรือบางคนอย่าง LeBron James
แต่ที่เด่นชัดที่สุด คงไม่พ้น Kawhi Leonard สมัยอยู่กับ Raptors (และพอย้ายมาอยู่กับ Clippers ก็ยังทำอยู่)
Q. Load Management คืออะไร
A. ศัพท์คำนี้เพิ่งจะได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นคำจำกัดความของทีมที่ให้ผู้เล่นได้พัก ไม่ต้องลงเล่น โดยที่ผู้เล่นคนนั้นไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ โดยมีความต้องการที่จะให้ผู้เล่นคนนั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเวลาลงเล่น
สมัยยุคก่อนปัจจุบัน ทีม Spurs นิยมทำแบบนี้มาก ให้เหตุผลที่ไม่ส่งบรรดา Star ในทีมลงเล่นพร้อมกันในบางเกม แต่ในช่วงนั้นให้เหตุผลแค่ว่า Rest หรือให้พักผ่อนเฉยๆ
แต่ไม่ใช่กับกรณีของ Kawhi Leonard ที่เด่นชัดมากเพราะว่าถ้าทีมมีโปรแกรมต้องเล่นแบบ Back-to-Back เจ้าตัวจะไม่ลงเล่นสองนัดติดกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ฤดูกาลที่ผ่านมา เจ้าตัวได้ลงสนามแค่ 60 เกมเท่านั้น (จากทั้งหมด 82 เกมในช่วงฤดูกาลปกติ)
Kawhi Leonard Cr. Bleacherreport
และฤดูกาลปัจจุบันกับ Clippers เจ้าตัวก็ยังไม่ได้ลงเล่นเกมสองนัดติดแบบ Back-to-Back เลยแม้แต่เกมเดียวเช่นเดิม ถึงแม้ว่าทีมจะประสบกับความพ่ายแพ้ก็ตาม
Q. ทำไม Load Management ถึงเริ่มเป็นที่กล่าวขานในปัจจุบัน
A. เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ Raptors ทำกับ Kawhi Leonard แล้วส่งผลให้ทีมคว้าแชมป์ฺ NBA แบบพลิกความคาดหมายได้ในที่สุดนั่นเอง
โดยทีมให้เหตุผลว่า ต้องการให้เจ้าตัวรักษาสภาพร่างกายให้ดีที่สุดในทุกเกมที่เจ้าตัวลงเล่น จึงทำให้มีบางเกมจำเป็นต้องให้เจ้าตัวออกไปพัก เพราะไม่อยากให้เกิดอาการล้าจนเกินไปจนส่งผลให้บาดเจ็บได้
เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เปรียบเสมือนดาบสองคมเช่นกัน
มองในมุมมองของทีม การได้พักตัวผู้เล่นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้รักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ที่สุดในทุกนัดที่ส่งผู้เล่นคนดังกล่าวลงสนาม และผลจากการทดลองใช้แผนนี้ก็ส่งผลเป็นอย่างดีด้วย
แต่ถ้ามองในมุมของแฟนกีฬา และในมุมมองของลีก อาจไปในทิศทางตรงกันข้าม
ในมุมมองของแฟนกีฬา ในเมื่อเขาอุตส่าห์เสียเงินเข้ามาดูถึงขอบสนามแล้ว เขาก็ต้องการที่จะได้ดูนักกีฬาที่เขาชื่นชอบ หรือทีมที่อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดในการลงเล่นแต่ละนัดอย่างสม่ำเสมอ
เพราะแฟนกีฬาที่อยากมาดูนั้นมีอยู่ทั่วโลก บางคนอาจจะต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน หรือเป็นปีเพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางมาดูแค่ไม่กี่นัดเท่านั้น
สำหรับบางคน การมาในครั้งนี้อาจเป็นการเดินทางเพื่อมาติดตามถึงขอบสนามเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตก็เป็นได้
และถ้าสิ่งที่เขาได้เห็น คือการที่ไม่ใช้ผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดของทีม หรือไม่ได้เห็นนักกีฬาที่ชื่นชอบลงสนาม แต่สาเหตุไม่ได้มาจากอาการบาดเจ็บหรือความจำเป็นอื่นๆ แต่มาจากการที่ทีมต้องการให้พัก ไม่ต้องลงเล่นถึงแม้จะจบเกมด้วยความพ่ายแพ้ก็ตาม
ถึงแม้ว่าในช่วงท้ายฤดูกาลมักจะถือเป็นเรื่องปกติที่บางทีมจะมีการพักผู้เล่นบ้าง เพราะไม่มีผลกับอันดับแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจำกัดเวลาในการลงเล่นมากกว่าที่จะไม่ให้ลงเล่นเลย
การทำแบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อแฟนกีฬาเช่นกัน
และสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกับมุมมองของทางลีกไปด้วย
ถ้าการทำ Load Management เป็นที่แพร่หลายจริงๆ ทำให้แต่ละทีมเริ่มตัดสินใจพักผู้เล่นคนสำคัญตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลแบบนี้
อาจส่งผลถึงมูลค่าลีกได้ ในเมื่อให้ความสำคัญกับนักกีฬาจนเกินพอดี ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของแฟนกีฬาเท่าที่ควร
และถ้ามูลค่าลีกลดลง ผลเสียสุดท้ายก็จะตกไปอยู่กับ Salary Cap ของนักกีฬาเองที่จะลดลงเช่นกัน
ทำให้ในปัจจุบัน ทางลีกจึงเริ่มหามาตรการที่จะป้องกันถึงสิ่งนี้ ทั้งการที่ทีมต้องแจ้งสภาพอาการบาดเจ็บของผู้เล่นตามความเป็นจริง และจะปรับเงินจำนวนหนึ่งหากพักผู้เล่นบ่อยอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการแจ้งเท็จและตรวจสอบพบในภายหลัง
รวมไปถึงการขอความร่วมมือให้อย่างน้อยก็ขอให้จำกัดเวลาในการลงเล่นแทน
แต่ก็ยังมีทีมที่ยอมโดนลงโทษอยู่ อย่าง Clippers ที่แจ้งว่า Leonard บาดเจ็บเล็กน้อยในตอนแรก ก่อนจะออกมายอมรับว่าเป็น Load Management ของทีมในภายหลัง
สำหรับเรื่องนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะออกมาในทิศทางไหนครับ
จบไปแล้วนะครับสำหรับคำศัพท์ Load Management ที่ถือว่าเริ่มเป็นที่กล่าวขานกันมากขึ้นในปัจจุบัน
สำหรับบทความต่อไปจะเป็นคำศัพท์อะไร ขอเชิญติดตามได้ในตอนต่อไปครับ
ถ้าชอบบทความ รบกวนกด Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz
โฆษณา