23 ธ.ค. 2019 เวลา 06:35 • ความคิดเห็น
พูดอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อตัวผู้พูด และเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง ?
บุคคลต้นแบบ หรือเป็นแบบอย่างในการพูดของผม ผมยกให้พระพุทธเจ้าเลยครับ พระองค์มีหลักการพูดอย่างไร น่าสนใจมากที่เราจะเข้าไปเรียนรู้ และนำมาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้า มีอีกชื่อหนึ่งคือ “ตถาคต” เรามาดูกันครับว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างไร
1️⃣ ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ❌
2️⃣ ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ❌
3️⃣ ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น ✅
4️⃣ ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ❌
5️⃣ ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ❌
6️⃣ ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาละที่เหมาะเพื่อกล่าววาจานั้น ✅
หากเราสังเกตดี ๆ จะเห็นองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ
1️⃣ เรื่องที่จะพูดเป็นเรื่องจริง หรือ เรื่องเท็จ
2️⃣ เรื่องที่จะพูดเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ หรือ ไม่มีประโยชน์
3️⃣ เรื่องที่จะพูดเป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น หรือ ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น
แล้วเราจะนำหลักการนี้มาใช้อย่างไร ?
1️⃣ ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป เราต้องคิดก่อนว่า เรื่องที่จะพูดนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริง หรือไม่แน่ใจว่าเป็นความจริงหรือไม่ ให้ทิ้งเรื่องราวที่จะพูดนั้นไปเสีย อย่าพูดเลย
2️⃣ โอเค ไตร่ตรองดีแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแท้ 100% พูดได้เลยไหม ยังก่อน ... คิดอีกชั้นว่า หากพูดเรื่องนี้ออกไปแล้วจะมีประโยชน์หรือไม่ เอ ... ไม่น่ามีประโยชน์นะ แบบนี้ก็อย่าพูดเลย
3️⃣ ผ่านการคิดมา 2 ชั้นแล้วคือ 1) เป็นเรื่องจริง 2) มีประโยชน์ด้วย ยอดเยี่ยม พูดได้เลยไหม ยังก่อน ... คิดอีกชั้นว่า เวลานี้เหมาะสมไหมที่จะพูดเรื่องนี้ ถ้าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมก็ยังไม่ต้องพูด
ดังนั้น หลักการพูดคือ เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง + มีประโยชน์ เท่านั้น ‼️จะเป็นที่รักของผู้ฟังหรือไม่ เป็นสิ่งที่พิจารณาทีหลัง โดยอาศัยกาลที่เหมาะสมในการพูด
เขียนเรื่องนี้แล้วนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ น่าจะเป็นตัวอย่างของการพูดที่เห็นภาพได้พอสมควร เรื่องราวมีอยู่ว่า ...
ในสมัยพุทธกาลจะมีอาชีพหนึ่งคือ “นักเต้นรำ” จุดเด่นของอาชีพนี้คือสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คน ทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง (นักพูดสร้างเสียงหัวเราะ)
ลองเทียบกับปัจจุบันดูนะครับ ว่า “นักเต้นรำ” นี้ พอเทียบได้กับอาชีพใดบ้าง ผมนึกออกอาชีพหนึ่งคือ “นักตลก” เพราะทำให้คนหัวเราะได้ ด้วยเรื่องตลกที่เล่า เป็นเรื่องจริงบ้าง เรื่องโกหกบ้าง
อาจารย์ของนักเต้นรำจะสอนเสมอว่า การที่เราสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คน ทำให้ผู้คนมีความสุข เมื่อเราตายไปเราจะได้ไปเกิดในสวรรค์ นักเต้นรำก็เชื่อมาตลอด จนมาพบพระพุทธเจ้า
นักเต้นรำผู้นั้นได้ถามพระพุทธเจ้าว่าเขาจะได้ไปเกิดในสวรรค์จริงหรือ ถามครั้งแรก พระพุทธเจ้าไม่ตอบ เขาถามถึง 3 ครั้ง พระพุทธเจ้าจึงตอบ
คำตอบคือ ... เสียใจด้วยไม่ได้ไปเกิดในสวรรค์หรอกนะ แท้จริงนั้นเขาจะไปเกิดในนรกชื่อ “ปหาสะ”
เมื่อได้ยินดังนั้น นักเต้นรำผู้นั้นก็ร้องไห้ สะอื้นอยู่ เขาไม่ได้เสียใจที่ได้ยินพระพุทธเจ้าตอบดังนั้น แต่เขาเสียใจที่โง่ ถูกอาจารย์หลอกมานาน ให้เชื่อแบบนั้น
ท้ายที่สุดนักเต้นรำผู้นี้ ได้ขอบวชกับพระพุทธเจ้า และได้บรรลุธรรมในที่สุด 😊
ผมว่าเรื่องนี้สอนอะไรเราอย่างหนึ่งคือ ทุกคนทำไปเพราะความไม่รู้ แต่พอมีผู้รู้มาบอก เราพร้อมจะเปลี่ยนแล้วทำตามผู้รู้หรือไม่ ... ถ้าไม่ เราก็จะเป็นผู้ไม่รู้ต่อไป ...
ขอขอบคุณภาพจาก pixabay.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา