19 พ.ย. 2019 เวลา 18:29 • สุขภาพ
โภชนาการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ตอนที่ 9
นักวิจัยเกาหลีใต้ทีมหนึ่งนำงานวิจัยเรื่องน้ำมันปลาจำนวน 1007 ชิ้นที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารต่างๆทั่วโลกนับตั้งแต่อดีตมาทำการวิเคราะห์ผลที่เรียกกันว่างานวิจัยแบบ meta-analysis จากนั้นเลือกงานวิจัยมา 14 ชิ้น เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการเสริมผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาในอาสาสมัครกว่าสองหมื่นคน งานวิจัยทั้ง 14 ชิ้นเป็นงานวิจัยที่มีการวางแผนไว้ มีการจัดกลุ่มควบคุมเพื่อเปรียบเทียบ โดยทั้งผู้วิจัยและอาสาสมัครไม่มีใครรู้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้ไปนั้นเป็นน้ำมันปลาหรือว่ายาหลอก หลังจากนั้นจึงนำผลการวิเคราะห์มาสรุป
จากงานวิจัยแบบ meta-analysis นักวิจัยเกาหลีใต้กลุ่มนี้ไม่พบว่ากลุ่มที่ได้รับการเสริมน้ำมันปลามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง การเสริมน้ำมันปลาไม่แสดงผลอะไรแตกต่างจากกลุ่มควบคุมเลย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการลดไขมันในเลือด หรือกลไกอื่นๆที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ เสริมหรือไม่เสริมน้ำมันปลาให้ผลไม่ต่างกัน การเสริมน้ำมันปลาไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดแม้แต่น้อย
อ่านงานวิจัยชิ้นนี้แล้วยังไม่ควรตื่นตระหนกให้มากนัก การอ่านงานวิจัยต้องอ่านให้หมดและอ่านหลายๆชิ้นจากนั้นจึงลองพินิจพิเคราะห์ดู บรรณาธิการของวารสาร Journal Watch General Medicine เองให้ข้อสังเกตว่าเดิมทีงานวิจัย meta-analysis ชิ้นดังกล่าวของ Kwak แสดงผลดีของการเสริมน้ำมันปลาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทางกลุ่มกลับตัดงานวิจัยชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งออกไป แล้ววิเคราะห์ใหม่ ปรากฏว่างานวิจัยที่เหลือ 14 ชิ้นให้ผลสรุปตามที่บอกไว้ข้างต้นนั่นคือการเสริมน้ำมันปลาไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทีมนี้ยังสนับสนุนการเสริมโอเมก้าสามด้วยการรับประทานปลาทะเลแทนที่จะรับประทานในรูปน้ำมันปลา ในขณะเดียวกันมีงานวิจัยเชิง meta-analysis ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มที่ให้ผลแตกต่างออกไป อย่างเช่นงานของ Bernstein AM และคณะจากสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrtion ค.ศ. 2012 งานของ Musa-Veloso K และคณะจากประเทศแคนาดา ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Nutrition ค.ศ. 2011 งานของ Marik และ Veron ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Cardiology ค.ศ. 2009 งานของ Zhao YT และคณะแห่งประเทศจีน ตีพิมพ์ในวารสาร Annual Medicine ค.ศ. 2009 ให้ข้อสรุปตรงกันว่าการเสริมน้ำมันปลาช่วยลดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แถมในงานวิจัยบางชิ้นยังอธิบายกลไกไว้อีกต่างหาก
สรุปคือการบริโภคน้ำมันปลารวมทั้งปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้าสามสูง หลายทีมวิจัยยังยืนยันว่าเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้มีบางงานวิจัยไม่สนับสนุนการเสริมน้ำมันปลาทว่ายัง
เห็นประโยชน์ของการบริโภคปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้าสามสูง ว่ากันอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โรคหัวใจและหลอดเลือด, #น้ำมันปลา
โฆษณา