22 พ.ย. 2019 เวลา 08:24 • การศึกษา
🧑😌อินซูลินกับเบาหวาน👱‍♀️🧑
อินซูลิน คือฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้น และมีหน้าที่ที่สำคัญคือ นำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้เต็มที่ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
แหล่งที่มาของอินซูลิน มี 2 แหล่ง คือ ได้มาจากการสกัดจากตับอ่อนของหมูและวัว ส่วนอีกแหล่งได้มาจากการสังเคราะห์โดยวิธีพันธุวิศวกรรม
อินซูลินแบ่งออกเป็นหลายชนิด ตามระยะเวลาที่ออกฤทธิ์
1. ชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก ลักษณะใส ไม่มีสี ออกฤทธิ์ในเวลา 10-15 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 1-3 ชม. และมีฤทธิ์นานประมาณ 3-5 ชม. ใช้ฉีดเมื่อต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารมื้อนั้น ๆ
2. ชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น ลักษณะใส ไม่มีสี ออกฤทธิ์ในเวลา 30-60 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 2-4 ชม. และมีฤทธิ์นานประมาณ 5-7 ชม. ส่วนใหญ่ใช้ฉีดก่อนอาหารครึ่งชม. เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหารหรือเพื่อลดน้ำตาลในเลือดให้ลงอย่างรวดเร็วกรณีที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมาก
3. ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ลักษณะเป็นสารละลายขุ่น ต้องเขย่าขวดเบาๆให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนใช้ทุกครั้ง ออกฤทธิ์ในเวลา 2-4 ชม. ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 6-12 ชม. และมีฤทธิ์นานประมาณ 18-24 ชม. ใช้เป็นอินซูลินหลักในการรักษาโรคเบาหวาน
4. ชนิดออกฤทธิ์ยาว ลักษณะใส ไม่มีสี ออกฤทธิ์ในเวลา 2 ชม. ไม่มีฤทธิ์สูงสุด และมีฤทธิ์นาน 24 ชม. ใช้สำหรับฉีดเพื่อให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้นในปริมาณหนึ่งตลอดทั้งวัน และป้องกันไม่ให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้
5.ชนิดผสม ซึ่งนำเอาอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมาผสมกับชนิดออกฤทธิ์ปานกลางในอัตราส่วนต่าง ๆ สะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้อินซูลินทั้งสองแบบ ลักษณะเป็นสารละลายขุ่น ต้องเขย่าเบา ๆ ก่อนใช้ทุกครั้ง
##เพจพยาบาลอยากเล่า
ขอบคุณภาพ จาก มหาลัย มหิดล
โฆษณา