22 พ.ย. 2019 เวลา 11:09 • ธุรกิจ
เมื่อ”แอร์เอเชีย” จำต้องขายตั๋วเครื่องบินให้ “คู่แข่ง”
Credit: AirAsia.com
แปลกมั้ย เมื่อสายการบินหนึ่งยอมเปิดหลังบ้านเพื่อขายตั๋วเครื่องบินให้คู่แข่ง...?
1
บางคนอาจจะแย้งว่า
‘แปลกตรงไหนท่านสุลต่าน ดูอย่างกลุ่มสายการบินพันธมิตรต่างๆ เขาก็ขายตั๋วเครื่องบินในนามสายการบินตัวเอง แล้วก็ให้ไปบินกับสายการบินพันธมิตรของเขา เพื่อจะได้บินเต็มเครื่อง ประหยัดต้นทุน ดีกว่าบินเองแล้วไม่คุ้ม’
Credit: Dreamstime.com
แต่งานนี้ไม่ธรรมดา คิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ดี เดี๋ยวเราจัดให้
“แอร์เอเชีย” เจ้าของสโลแกน “ใครๆก็บินได้” แถมได้ชื่อว่ามีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Flight Attendant) “ดุดันและเที่ยงตรง” ที่สุดในจักรวาล ท่านเปาก็ท่านเปาเถอะ เผลอเล่นมือถือต่อหน้าพวกนางอาจจะ “โดน” สายตา “สวยประหาร” ก็เป็นได้
แม้กระทั่งพ่อแม่ของตัวเองก็มิอาจละเว้นได้...ต้องปฏิบัติตามกฎ...
เรื่องของเรื่องคือ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เราเห็นข่าวการเปิดตัวการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ AirAsia และ Kiwi.com เพื่อพัฒนาแพล็ตฟอร์มการท่องเที่ยวด้วยช่องทางออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ (Online Travel Agency - OTA)
โดยจากที่ AirAsia.com จะมีหน้าที่หลักคือ “ขายตั๋วเครื่องบินของ AirAsia” ให้กับลูกค้า โดยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมในการจองรถเช่า และโรงแรมที่พัก ติดปลายนวมบ้าง แต่หลักๆแล้วคือการ “จองตั๋วเครื่องบิน” นั่นเอง
แต่ หลังจากนี้ AirAsia จะ “สร้างธุรกิจใหม่” นั่นคือจะเป็น Online Travel Agency หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า OTA ธุรกิจซึ่งทำหน้าที่ “รับจองและจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางออนไลน์” โดยที่ผ่านมา OTA เจ้าใหญ่ๆของโลกก็พวก Agoda, Booking, OYO, Trivago, Expedia, Traveloka และอื่นๆ อีกมากมาย
OTA / Credit: Seekingalpha.com
OTA เป็นธุรกิจที่ใหญ่และมีอิทธิพลสูงมากๆ จนธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศการท่องเที่ยว (ecosystem) ไม่ว่าจะโรงแรมที่พัก บริษัททัวร์ รถเช่า รถแท็กซี่ สายการบินต่างๆ ต้องไปขอ “ซูฮก” เพื่อให้มีพื้นที่อยู่ใน Platform ดังกล่าวด้วย โดย OTA ใหญ่ๆ เริ่มต้นจากการเปิดให้จองโรงแรมแล้วค่อยๆ “แตกไลน์ธุรกิจ” เข้าไปสู่ ตั๋วเครื่องบิน รถเช่า และ รถแท็กซี่
ทั้งนี้ก็เพราะว่า Pain Point หรือ ปัญหาของผู้บริโภคนักเดินทางส่วนใหญ่ต้องเจอคือการต้อง “เสียเวลา” ในการเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูล เปรียบเทียบราคา และจองทุกสิ่งทุกอย่างจาก platform ต่างๆกันไป การที่ OTA สามารถ “บูรณาการข้อมูล” เข้ามารวมในที่เดียวกัน แถมยังมี “การันตีราคาต่ำสุด” ให้ บวกกับให้ ”คะแนนสะสม” เพื่อนำไปแลกเป็นส่วนลดในการจองครั้งต่อไป มันทำให้ผู้บริโภคประหยัด “ยกกำลังสอง” คือประหยัดทั้ง “เวลาและเงิน” (เคยได้ยินประโยคนี้มั้ย ‘time is money’) เป็นใครจะไม่ใช้ล่ะ สะดวกรวดเร็ว เมื่อข้อมูลอยู่ที่ปลายข้อมือ(นิ้ว)
และเมื่อมีอิทธิพลมากขึ้น แน่นอนผลตอบแทนที่ OTA เรียกรับจากธุรกิจที่เข้ามาใช้ Platform ของตัวเองก็ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยอาจจะถึงระดับ 30% ของรายได้ของธุรกิจที่มาปล่อยของใน platform เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่า “อยากขึ้นหน้า 1” ขนาดไหน...
Credit: Littlehotelier.com
กลับมาที่ AirAsia x Kiwi.com หน่อย คำถามที่น่าสนใจคือ
1. Kiwi.com เป็นใคร แล้วมาช่วยอะไรในดีลนี้...?
2. AirAsia ทำแบบนี้แล้วได้อะไร...?
1. Kiwi.com เป็นใคร แล้วมาช่วยอะไรในดีลนี้...?
Kiwi.com เป็น OTA จาก สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) มีความโดดเด่นในเรื่องการให้ผู้บริโภคเช็ก ราคาสายการบินและอื่นๆได้ และยังสามารถจองให้เสร็จภายใน platform ของตัวเอง มีการันตีของ Kiwi (Kiwi.com Guarantee) ในกรณี flight ยกเลิก หรือเปลี่ยนตารางการบิน หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ ซึ่ง Kiwi จะดูแลลูกค้าให้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปติดต่อเองให้ละเหี่ยใจ
Credit: Kiwi.com
Credit: Kiwi.com
ยกตัวอย่าง OTA เช่น Skyscanner เจ้าต้องออกไปจองบริการเช่น
- หาตั๋วเครื่องบินจาก Skyscanner โดย “แสดงผล” ว่า Eva Air ถูกสุด
- ต้องซื้อจาก website Hutchgo ซึ่งเป็น third-party platform และชำระเงินที่ Hutchgo
- รอ Eva Air ส่ง e-Ticket มาให้
- ได้ e-Ticket มาแล้วต้องไปจัดการ Booking ตัวเองที่ website ของ Eva Air
เห็นหรือไม่ ว่ามันมีการเดินทางของผู้บริโภคให้มี contact point หลายจุดเลย แบบนี้เวลาเกิดปัญหาขึ้นมาจะต้องคุยกับใครดี...?
แต่ Kiwi.com เข้าใจถึงความยุ่งยากดังกล่าว เลยสร้าง platform ของตัวเองให้เป็น 1-stop service จริงๆ เราจึงเข้าใจว่า AirAsia ดึง Kiwi เข้ามาเพื่อช่วยพัฒนา Platform OTA ของตัวเองให้ดีเหมือนของ Kiwi.com
Credit: hostelgeeks.com
2. AirAsia ทำแบบนี้แล้วได้อะไร...?
CEO ของ AirAsia บอกว่าต้องการ “ปฏิรูป” ธุรกิจของ AirAsia จาก “สายการบินต้นทุนต่ำ” หรือ Low-cost Airline ไปเป็น “อี-คอมเมิร์ซ” หรือภาษาชาวบ้านคือ “ขายของออนไลน์” แต่มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ “การท่องเที่ยวและการเงิน”
(ใช่แล้ว...พวกเจ้าไม่ได้ตาฝาดไป มีคำว่า “การเงิน” โผล่มาด้วย นายและนางธนาคารทั้งหลายได้ยินกันแล้วใช่มั้ย...?)
แต่การไปขายตั๋วเครื่องบินให้คู่แข่ง มันไม่กระทบธุรกิจหลักของบริษัทเหรอ...?
แม้แต่ตัว CEO ของ AirAsia ก็บอกว่า ‘ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะต้องมาขายตั๋วให้คู่แข่ง’
Credit: Skift.com
กระทบสิ แต่นั่นแปลว่า AirAsia อาจจะเห็นแล้วว่าการเป็นเพียงแค่สายการบินต้นทุนต่ำ ท่ามกลางสภาพการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต มันไม่ยั่งยืนอีกต่อไป
การจะคาดหวังให้ลูกค้าต้องเข้ามาที่ AirAsia โดยตรงเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินของตัวเอง คงไม่สามารถคาดหวังได้อีกต่อไป ในเมื่อ AirAsia ก็ไม่ได้มีเส้นทางครบทั้งหมด เพราะฉะนั้นในที่สุด ไม่ว่าลูกค้าของ AirAsia จะมีความภักดีต่อแบรนด์ยังไงก็ตาม ก็หนีไม่พ้นต้องขอ “ปันใจ” ไปบินกับสายการบินอื่นบ้าง
และย่อมหนีไม่พ้นต้องไปเข้า platform OTA เจ้าอื่นอยู่ดี...
ครั้นจะให้เปิดให้ครบทุกเส้นทาง ก็ไม่ได้แปลว่าจะ “คุ้มค่า” ทุกเที่ยวบินซะหน่อย เห็นมีปิดเส้นทางไปพอสมควร ถ้าไม่กำไร
แต่ถ้า AirAsia ยอมเปิดหลังบ้านให้สายการบินอื่นมาขายตั๋วเครื่องบิน รวมทั้งขายอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางแบบครบวงจร AirAsia เองก็จะสามารถเพิ่มโอกาส ในการให้ลูกค้าใหม่และเก่าเข้ามาที่ AirAsia มากขึ้น
และสิ่งที่ AirAsia จะได้ แทนการขายตั๋วเครื่องบินเพียงอย่างเดียวไปนั่นคือ “ข้อมูล” การเดินทางและการใช้จ่ายเงินของลูกค้า
เมื่อมีข้อมูลในมือแล้ว ทีนี้ AirAsia ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้แม่นยำมากขึ้น ว่าคนเดินทางไปไหนบ้าง ไปทำอะไร พักที่ไหน เดินทางในประเทศยังไง และอื่นๆอีกหลายมิติ เพื่อสร้างแคมเปญการตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่งได้ในภายหลัง
Credit: eDreams.com
นั่นอาจจะรวมถึงการปล่อยสินเชื่อด้วย...
ถ้ามีรายได้อื่นๆเข้ามามากขึ้น ทั้งค่าคอมมิชชั่นจากการขายของให้คนอื่น อะไรที่เราทำเองไม่คุ้มก็เลิกซะ ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังมีข้อมูลในมือให้นำมาหาทางเพิ่มธุรกิจได้อีก
ช่างเป็นการขยับตัวที่น่าสนใจสำหรับเรามาก รอดูกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
และก็ภาวนาให้ การบินไทยของพวกเจ้าเอาตัวรอดไปได้จากสมรภูมิที่ดุเดือดเลือดพล่านเช่นนี้
ใครอยากศึกษาเพิ่มเติมเรื่องภาวะขาดทุนของธุรกิจสายการบินลองไปอ่านจาก Link ด้านล่างได้เลย
สวัสดีวันศุกร์
#สุลต่านตกอับ
Source:
โฆษณา