23 พ.ย. 2019 เวลา 03:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรื่องใหญ่!…เมื่อนักวิทย์พบว่า
แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารสั่งการสมองได้!
#ChevronEnjoyScience #KenanAsia
(เรียบเรียงโดย ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์)
การได้รับสารอาหารครบถ้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ทว่าสิ่งที่ส่งผลต่อร่างกายไม่ใช่แค่อาหารที่เราได้รับจากภายนอก เพราะกลุ่มสังคมจุลินทรีย์ หรือไมโครไบโอม (microbiome) ในทางเดินอาหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อร่างกายของคนเราไม่น้อย
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคติดเชื้อต่างๆ และสภาวะทางอารมณ์ ฯลฯ เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่เรากินเข้าไปรวมทั้งลักษณะของไมโครไบโอมประจำตัวของแต่ละคน
ไมโครไบโอมเป็นอาณาจักรของสิ่งเล็กๆที่อยู่ตามร่างกายของคนเราที่นักวิทยาศาสตร์มองข้ามมานาน
ในสมัยก่อน เชื้อแบคทีเรีย เห็ดรา หรือไวรัส หลายชนิดไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในห้องทดลองทำให้ยากต่อการจัดจำแนก แต่ด้วยเทคโนโลยีทางชีววิทยาระดับโมเลกุลและระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุชนิดหรือกลุ่มของจุลินทรีย์ได้คราวละมากๆรวมทั้งสามารถศึกษารหัสพันธุกรรมทั้งหมด(genome)ของจุลินทรีย์โดยใช้เวลาไม่นาน ส่งผลให้งานวิจัยด้านไมโครไบโอมรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ความมหัศจรรย์ที่ซุกซ่อนมานานจึงได้เผยตัวแก่มนุษย์ในที่สุด
จุลินทรีย์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง นัยน์ตา อวัยวะเพศ และระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เรา ล้วนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างซับซ้อน บางกลุ่มให้ประโยชน์ บางกลุ่มอยู่อย่างเป็นกลาง บางกลุ่มทำให้เราไม่สบายหรือฉวยโอกาสรอให้เราอ่อนแอแล้วค่อยก่อโรค
สมดุลของจุลินทรีย์จึงส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพของเรา ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารนอกจากจะสร้างวิตามินให้กับร่างกายแล้ว ยังมีส่วนช่วยปกป้องผนังลำไส้ และสร้างสารเคมีส่งสัญญาณไปกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
แต่ดูเหมือนจุลินทรีย์เหล่านี้จะมีบทบาทมากกว่าที่คิด เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ค้นพบหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารสามารถส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกกินอาหารได้
โฆษณา